จากกรณี “Power Bank” ระเบิดบนเครื่องบิน Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำความรู้จาก รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาให้ได้ทราบว่า ทำไม ? Power Bank ถึงสามารถระเบิดได้
สาเหตุที่ Power Bank หรือ พวกแบตเตอรีสำรอง เกิดระเบิดลุกไหม้ไฟได้ ไม่เหมือนกับพวกถ่านไฟฉาย ถ่านอัลคาไลน์ที่คุ้นเคยกันมานานนั้น ก็เพราะมักจะเป็นแบตเตอรีพวกลิเทียมไอออน (Lithium-Ion) ที่มีน้ำหนักเบา และมีความหนาแน่นของความจุไฟฟ้าสูง แต่ก็ต้องระวังอันตรายอันอาจเกิดขึ้นได้ ถ้าลิเทียมสัมผัสกับอากาศที่มีก๊าซออกซิเจน และทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชัน เกิดความร้อนสูง และเกิดการระเบิดรุนแรงได้
โดยปกติแบตเตอรีแบบลิเทียมไอออน จึงต้องมีเปลือกแบตเตอรีและวัสดุห่อหุ้มเซลล์ไฟฟ้าด้านใน ไม่ให้โมเลกุลของก๊าซออกซิเจนสัมผัสกับอะตอมของลิเทียม
แต่ถ้าแบตเตอรีลิเทียมไอออนนั้น มีการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ทั้งในส่วนของวัสดุที่ใช้ห่อหุ้ม และในส่วนของวงจรไฟฟ้าสำหรับการจ่ายไฟและการชาร์จไฟ รวมไปถึงการเสื่อมประสิทธิภาพตามการเวลา หรือถูกกระแทกจนเกิดความเสียหาย หรือจัดเก็บในที่ ๆ ไม่เหมาะสม เช่น มีความร้อนสูง ก็อาจจะนำมาสู่อุบัติเหตุ มีไฟฟ้าลัดวงจรในแบตเตอรี เกิดอุณหภูมิที่สูงขึ้น เกิดความเสียหายกับเปลือกหุ้มเซลล์แบตเตอรีจนอากาศเข้าไปข้างในและเจอกับโลหะลิเทียม สุดท้ายก็อาจระเบิดขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ Power Bank ระเบิด โดยที่ไม่ได้มีการเสียบชาร์จอยู่ ถึงจะมีความเป็นไปได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก แค่ประมาณ 1 ในล้านเท่านั้น และ Power Bank ก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่มีการบังคับ ให้ทุกชิ้น ทุกยี่ห้อ ที่จะวางจำหน่ายในประเทศไทย ต้องผ่านมาตรฐาน ด้านความปลอดภัย มอก. 2879-2560 และต้องได้รับอนุญาตในการผลิต-นำเข้า โดยจะต้องมีตรา มอก. แปะอยู่กับ Power Bank ทุกลูก
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย