หากมีคนเอ่ยถามว่า “ความรักคืออะไร?” หลายคนคงตอบว่า การรักครอบครัว รักสัตว์เลี้ยง รักเพื่อน รักในรูปแบบของคู่ครอง ใช่ไหม? สิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาล้วนหมายถึง “รักที่มีให้คนอื่น” แต่หารู้ไม่ว่า “รักตนเอง” ก็เป็นการรักในอีกรูปแบบหนึ่งเช่นกัน การได้พาตัวเองไปกินข้าว (Solo Dining) หรือไปเที่ยวคนเดียว (Solo Travel) เป็นกิจกรรมที่ทำได้แม้ในช่วงวาเลนไทน์ ต่อให้เราไม่มีคู่ เราก็ยังสามารถมอบความสุขให้ตัวเองได้เสมอ
มีผลสำรวจว่า ผู้คนในปัจจุบันเปลี่ยนไป หันมาสนใจชีวิตตนเองและเลือกที่จะอยู่กับตัวเองมากขึ้น ดังการรายงานโดยบริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ระบุว่า 30% ของแขกร้านอาหารยุโรปทั้งหมด มากินอาหารคนเดียว (AFP, 2017) บริษัทวิจัยตลาดในออสเตรเลีย ที่เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมร้านอาหาร รายงานว่า 40% ของการจองร้านอาหารออนไลน์ สะท้อนถึงผู้ที่มากินข้าวคนเดียว (Cloros, 2018) แถมยังมีการเกิดของกระแส “Solo Diners Eat Out Week” ขึ้น โดย อแมนดา โคเฮน เชฟชาวนิวยอร์กแห่งร้านอาหาร “Dirt Candy” เป็นแคมเปญที่สร้างขึ้นเพื่อให้คนโสดไม่รู้สึกแย่ที่เลือกชีวิตแบบฉายเดี่ยว จัดขึ้นช่วงวันที่ 1-7 กุมภาพันธ์ จนกลายเป็นกระแสที่หลาย ๆ ร้านหันมาทำตาม นอกจากนี้ยังมีกระแส “เที่ยวคนเดียว” เมื่อปี 2019 ได้ขึ้นเทรนด์อันดับ 1 บน Klook ขณะที่ในปี 2021 ข้อมูลจาก Google ระบุถึงการเที่ยวคนเดียวเพิ่มขึ้น 761.15%
พลังแห่งความรัก ทำให้เราอยากทำอะไรหลาย ๆ อย่าง เช่น การมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจน กล้าที่จะทำและเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ และทำให้เราอยากเป็นคนที่ดีขึ้น นั่นเป็นอีกเหตุผลที่ว่า “ทำไมเราต้องมีความรัก” โดยเฉพาะ “รักตนเอง” (Self Love) หรือการเห็นอกเห็นใจตนเอง (Self Compassion)
การเห็นอกเห็นใจตนเอง เป็นสิ่งที่ดีกว่า การวิจารณ์และกดดันตนเอง
ดร.เอ็มมา เซปปาลา ผู้อำนวยการด้านวิทยาศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เขียนไว้บนเว็บไซต์สแตนฟอร์ด ว่า ความเห็นอกเห็นใจตนเอง จะมีความเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติต่อตนเองเหมือนเป็นเพื่อน เมื่อเราเข้าใจและอ่อนโยนต่อตนเองได้มากขึ้น จะทำให้เรามีสติ เข้าใจสถานการณ์ของตัวเอง สามารถควบคุมอารมณ์ได้ เข้าใจว่าการล้มเหลวบ้างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งจะทำให้เราแข็งแกร่งและยืดหยุ่นขึ้น และดังคำกล่าวของ ศรีศรี ราวี ชังการ์ ที่กล่าวไว้ว่า “สภาวะชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับสภาพจิตใจของคุณ ดังนั้นจงใจดีกับตัวเอง”
แนะ 5 วิธีฝึกใจดีกับตัวเอง ซึ่งเป็นการบอกรักตัวเองอย่างหนึ่ง
- หลีกเลี่ยงพูดเชิงลบกับตนเอง เพราะการใส่ใจวิธีการพูดหรือมีอคติกับตนเอง ในเวลาที่ทำผิด เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการเรียนรู้ “วิธีปลูกฝังให้รักตนเอง” แม้ผิดพลาดก็ไม่ควรดูถูกตนเอง
- เรียนรู้ที่จะปฏิเสธ เพื่อให้คุณค่ากับเวลาของตนเองมากกว่า
- ฝึกสมาธิ สร้างเป้าหมายที่ชัดเจน หาเวลาจากชีวิตที่วุ่นวายมาดูแลตนเอง หรือสร้างความแข็งแกร่งให้จิตใจด้วยการนั่งสมาธิ
- เห็นอกเห็นใจตนเอง คล้ายกับการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น คือ การสังเกตว่าตัวเรากำลังทุกข์ไหม และเสนอความเข้าใจ ความเมตตาให้กับตนเอง
- คิดและไตร่ตรอง บางครั้งเมื่อมีอะไรที่ไม่เป็นไปตามแผน ให้หันมาไตร่ตรองถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแทนการโทษตนเอง อาจใช้วิธี เขียนบันทึก ทบทวนตัวเองรายสัปดาห์ หรือการพูดคุยกับเพื่อนสนิทสักคน ที่เราสามารถเล่าถึงเรื่องที่เกิดขึ้นให้เพื่อนฟังได้
เพราะการเห็นอกเห็นใจประกอบไปด้วย 3 สิ่งหลัก ๆ คือ การใจดีต่อตนเอง (Self-Kindness) การรับรู้ว่าสิ่งที่เราเจอ คนอื่นก็เจอเหมือนกัน (Common Humanity) และการมีสติ (Mindfulness) ตระหนักรู้ในสิ่งที่เกิดขึ้น โดยไม่หมกหมุ่นคิดถึงแต่สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างไม่จบไม่สิ้น เมื่อเรา “รักตนเอง” หรือ “เห็นอกเห็นใจตนเอง” แน่นอนว่าสิ่งที่เราจะได้รับ นอกจากสุขภาพจิตดีขึ้น เรายังมีความเชื่อมั่น แรงจูงใจมากขึ้นตามไปด้วย เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า ‘Self Love is not Selfish’ นั่นเอง
ชวนอ่านต่อ บอกรักตัวเองให้เก่งกว่าเดิม
ที่มา : nesslabs.com , ccare.stanford.edu