ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส่องความท้าทายใหม่ ! “ทุเรียนไทย” กับการแข่งขัน “ทุเรียนสด” ในตลาดจีน


บทความพิเศษ

10 ก.พ. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

ส่องความท้าทายใหม่ ! “ทุเรียนไทย” กับการแข่งขัน “ทุเรียนสด” ในตลาดจีน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/797

ส่องความท้าทายใหม่ ! “ทุเรียนไทย” กับการแข่งขัน “ทุเรียนสด” ในตลาดจีน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ตามต่อและตามติดกับกระแส “ทุเรียนไทย” ในจีน ครั้งนี้ขอพาไปเจาะ Insight ส่องความท้าทายใหม่ ! สถานการณ์ตลาด “ทุเรียนสด” ในจีน ปีที่ผ่านมา (ปี 66) ของ “ทุเรียนไทย” ซึ่งไม่ใช่ชาติเดียวที่ “ส่งออกทุเรียน” ไปยังแดน “พญามังกร”

ปัจจุบัน “จีน” เป็นตลาดส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับหนึ่งของไทย ในบรรดาสินค้าเกษตร ถือได้ว่าราชาผลไม้อย่าง “ทุเรียน” เป็นสินค้าเกษตรส่งออกดาวเด่นที่สร้างรายได้ให้กับการส่งออกไทยเสมอมา แต่เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญขึ้นใน “ตลาดทุเรียนจีน” ช่วง 2 ปีมานี้ นั่นก็คือ “ตลาดทุเรียนสด” ของจีนกับสถานภาพของทุเรียนไทยที่ต้องเปลี่ยนผ่านจาก “ตลาดทุเรียนผูกขาด” (monopoly) ไปเป็น “ตลาดทุเรียนที่มีผู้ขายน้อยราย” (oligopoly) โดยมีชาติเพื่อนบ้านอย่าง “เวียดนาม” ที่กระโดดเข้ามาเป็นตัวรุกตัวสำคัญ และฟิลิปปินส์ที่เป็นตัวสอดแทรกในเกมสัประยุทธ์ช่วงชิงตลาดทุเรียนสดในจีน

📌อ่านต่อ : ทำไม ? “คนจีน” หลงใหล “ทุเรียนไทย” ไม่เสื่อมคลาย 

ทุเรียนไทยพูสวย

“จีน” นำเข้า “ทุเรียน” ทะลุล้านตันเป็นครั้งแรก !

ตัวเลขทางสถิตินี้เป็นสิ่งยืนยันได้ว่า “ทุเรียนสด” เป็นที่ต้องการของตลาดจีนมากน้อยแค่ไหน ปี 66 จีนนำเข้า “ทุเรียนสด” (พิกัด 0810.6000) มากถึง 1,425,923 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 65 ถึง 601,051 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72.87 (Year over year: YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 47,195 ล้านหยวน หรือเกือบ 236,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 74.69 (YoY)

📌อ่าน คนจีนแชมป์สั่งซื้อ "ทุเรียนไทย" ปี 66 พุ่งกว่า 9 หมื่นล้าน 

โดยปี 2566 “ทุเรียนไทย” ครองส่วนแบ่งตลาดทุเรียนสดในจีนร้อยละ 65.15 ด้วยปริมาณการนำเข้า 928,976 ตัน การวิเคราะห์เชิงปริมาณ พบว่า แม้ว่าทุเรียนไทยจะมีคู่แข่งเพิ่มขึ้น แต่การส่งออกทุเรียนของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณ และมูลค่า กล่าวคือ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จีนนำเข้าทุเรียนไทยเพิ่มขึ้น 144,966 ตัน คิดเป็นอัตราการขยายตัวที่ร้อยละ 18.49 (YoY) คิดเป็นมูลค่าการนำเข้า 31,973 ล้านหยวน หรือเกือบ 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.48 (YoY)

Market Share ทุเรียนไทยในจีน

รู้จักผู้เล่นหน้าใหม่ธุรกิจ “ส่งออกทุเรียน”

ผู้เล่นหน้าใหม่ที่น่าจับตาก็คือ “เวียดนาม” ที่ส่งทุเรียนพันธุ์หมอนทอง “รีเสา” (Ri6) ลงสนามสังเวียน โดย “ทุเรียนญวน” ใช้เวลาสั้น ๆ เพียงปีกว่า (ทุเรียนสดเวียดนามเข้าจีนครั้งแรกในเดือน ก.ย. 65) ก็สามารถ “แบ่งเค้ก” ตลาดทุเรียนในจีนไปได้ร้อยละ 34.59 ด้วยปริมาณการนำเข้า 493,183 ตัน คิดเป็นมูลค่านำเข้า 15,126 ล้านหยวน

ขณะที่ “ทุเรียนฟิลิปปินส์” มาแบบเลียบ ๆ เคียง ๆ ด้วยปริมาณการนำเข้า 3,763 ตัน คิดเป็นมูลค่า 94.7 ล้านหยวน มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 0.26 ของปริมาณนำเข้าทุเรียนสดของจีน โดยสาเหตุสำคัญเป็นเพราะทุเรียนฟิลิปปินส์ยังไม่เป็นที่รู้จักในสายตาผู้บริโภคชาวจีน อีกทั้งปัจจัยด้านต้นทุนและระยะทางการขนส่ง (ทางเรือกับทางเครื่องบิน) รวมถึงสวนทุเรียนและโรงคัดบรรจุ หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ล้ง” ในฟิลิปปินส์ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากศุลกากรแห่งชาติจีนยังมีจำนวนไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศไทยและเวียดนาม

จากข้อมูลล่าสุดบนเว็บไซต์ศุลกากรแห่งชาติจีน พบว่า สวนทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีจำนวน 183 แห่ง และโรงคัดบรรจุทุเรียนฟิลิปปินส์ที่ได้รับขึ้นทะเบียนมีจำนวน 10 แห่ง ขณะที่ประเทศไทยมีสวนทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนแล้วเกือบ 80,000 แห่ง โรงคัดบรรจุผลไม้เกือบ 2,000 แห่ง และเวียดนามมีสวนทุเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียน 708 แห่ง และโรงคัดบรรจุทุเรียน 168 แห่ง

ณ จุดนี้ ผู้อ่านอาจเกิดคำถามขึ้นว่า แล้วทำไมตัวเลขการนำเข้าไม่ปรากฏชื่อของ “ทุเรียนมาเลย์” สาเหตุเพราะว่า ปัจจุบัน “จีน” อนุญาตให้มาเลเซียส่งออกเฉพาะ “ทุเรียนแช่แข็ง” ทั้งแบบแกะเปลือกและแช่แข็งทั้งลูก ในบริบทที่ “ทุเรียนมาเลย์” มีชื่อเสียงไม่แพ้ทุเรียนไทยบ้านเรา สิ่งที่น่าจับตามอง ! เป็นความเคลื่อนไหวของรัฐบาลมาเลเซียที่กำลังพยายามเจรจาทางการเมืองกับจีน เพื่อขอให้จีนเปิดตลาด “ทุเรียนสด” ให้กับมาเลเซียอยู่ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ (ปี 67)

ในส่วนของกระแสข่าวที่จีนประกาศว่าสามารถปลูกทุเรียนได้แล้ว ในระยะสั้นอาจจะยังไม่สร้างผลกระทบต่อทุเรียนไทยแต่อย่างใด เนื่องจากผลผลิตที่ได้ยังไม่สมบูรณ์ แต่อย่าชะล่าใจ เนื่องจาก “ทีมวิจัยจีน” ยังคงเดินหน้าในการทดลองและวิจัยเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง ทั้งการปรับพื้นที่เพาะปลูกและการวิจัยผลการกลายพันธุ์และการปรับตัวของพันธุ์ทุเรียน หาก “จีน” ทำสำเร็จ สามารถผลิตทุเรียนคุณภาพเพื่อป้อนตลาดในประเทศได้แล้ว คงเป็นเวลาที่ทุเรียนไทยต้องเตรียมรับ “แรงกระแทก” อีกด้าน เพราะหากพิจารณาจากต้นทุนและราคาขายแล้ว คาดว่าจะถูกกว่าทุเรียนนำเข้าจากไทย

กองทุเรียน

ตลาด “ทุเรียน” นำเข้าหลักในจีน

ตลาดนำเข้าหลักในจีนขณะนี้ ยังเป็นตลาดดั้งเดิมบริเวณพื้นที่จีนตอนใต้ ตัวเลขสถิติของศุลกากรจีน พบว่า การนำเข้าทุเรียนสดของ 3 มณฑลตอนใต้ คือ “มณฑลกวางตุ้ง เขตปกครองตนเองกว่างซี และมณฑลยูนนาน” รวมกันมีสัดส่วนเกือบ 2 ใน 3 ของปริมาณการนำเข้าทั้งประเทศ หรือราว ๆ ร้อยละ 61.29 หากรวมกับ “มณฑลเจ้อเจียง” ที่ยืนหนึ่งในฐานะผู้นำเข้ารายใหญ่ทางภาคตะวันออกของจีนแล้ว จะมีสัดส่วนการนำเข้ามากถึงร้อยละ 71.73 ของปริมาณนำเข้าทั้งประเทศเลยทีเดียว

📌อ่าน : ครบ 2 ปี “RCEP” ช่วยส่งเสริม “สินค้าไทย” สู่ “ครัวจีน”

ด้วยเหตุผลด้านทำเลที่ตั้งของพื้นที่จีนตอนใต้อยู่ใกล้แหล่งผลิตทุเรียนอย่างไทยและเวียดนาม การขนส่งมีระยะทางสั้นและใช้เวลาน้อย กอปรกับเจ้าหน้าที่ศุลกากรมีความคุ้นเคยและชำนาญในงานที่ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ ทำให้การปฏิบัติพิธีการศุลกากรนำเข้าเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เป็นข้อได้เปรียบที่ช่วยให้ทุเรียนคงความสดใหม่และขายได้ราคาดีกว่าการขนส่งทางเรือไปขึ้นที่ท่าเรือทางภาคเหนือของจีน ซึ่งมีระยะทางไกลและต้องใช้เวลานาน

เมื่อลมเปลี่ยนทิศ หลัง “รัฐบาลจีน” เริ่มเปิดตลาด “ทุเรียนสด” ให้ผู้เล่นรายใหม่เข้ามาลงเล่นในเกมธุรกิจ ส่งผลให้สถานการณ์การนำเข้า “ทุเรียนสด” ในจีนมีทิศทางเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ “เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง” ในฐานะเบอร์ 2 ของการนำเข้าทุเรียนสด ด้วยสัดส่วนร้อยละ 18.50 ของปริมาณการนำเข้าทั้งประเทศ (น้ำหนัก 263,737 ตัน มูลค่า 8,792 ล้านหยวน)

การที่เวียดนามเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับกว่างซี (จีน) การขนส่งมีระยะทางสั้น มีต้นทุนต่ำ และเวียดนามมีฤดูเก็บเกี่ยวทุเรียนค่อนข้างยาว ซึ่งสามารถชดเชยตลาดทุเรียนไทยได้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การนำเข้า “ทุเรียนญวน” ของกว่างซีเบียดแซงทุเรียนไทยในปีที่ผ่านมา ด้วยสัดส่วนร้อยละ 52.47 ของปริมาณการนำเข้าทั้งมณฑล และเป็นแชมป์การนำเข้าทุเรียนญวนในจีนด้วยสัดส่วนร้อยละ 28.06 ขณะที่ทุเรียนไทยหล่นเป็นอันดับ 2 ด้วยสัดส่วนร้อยละ 47.53 ของปริมาณนำเข้าทั้งมณฑล

ตลาด “ทุเรียนญวน” อยู่แถวไหนในจีน นอกจากเขตฯ กว่างซีจ้วงแล้ว มณฑลที่นิยมทุเรียนญวนอันดับรองลงมา ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง สัดส่วนร้อยละ 17.36 ของปริมาณนำเข้าทุเรียนเวียดนามของจีน / มณฑลเจ้อเจียง สัดส่วนร้อยละ 11.83 / มณฑลยูนนาน สัดส่วนร้อยละ 10.90 และมณฑลเหอเป่ย สัดส่วนร้อยละ 10.03 โดย 5 มณฑลข้างต้น มีสัดส่วนการนำเข้ารวมกันกว่าร้อยละ 78.18 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนญวนของทั้งประเทศ

ขณะที่ “ทุเรียนฟิลิปปินส์” ตลาดหลักอยู่ที่นครเซี่ยงไฮ้ มีสถิติการนำเข้า 1,167 ตัน สัดส่วนร้อยละ 31.04 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์ของทั้งประเทศ มณฑลกวางตุ้ง 1,158 ตัน สัดส่วนร้อยละ 30.79 และมณฑลเจ้อเจียง 893 ตัน สัดส่วนร้อยละ 23.75 โดยการนำเข้าของ 3 มณฑลข้างต้น มีสัดส่วนรวมกันมากถึงร้อยละ 85.58 ของปริมาณการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์ของทั้งประเทศ

ทุเรียนไทย

ความท้าทาย (ไม่) ใหม่ของ “ทุเรียนไทย” ในตลาดจีน

หากพิจารณาจากปัจจัยแวดล้อมภายนอก ท่าทีรัฐบาลจีนที่มีต่อการเปิดตลาด “ทุเรียนสด” ให้กับประเทศอื่นเพิ่มเติมถือเป็นความท้าทายใหม่ของทุเรียนไทย ซึ่งจะส่งผลให้สมรภูมิการแข่งขันของตลาดทุเรียนสดในจีนทวีความดุเดือดมากยิ่งขึ้น ทั้งทุเรียนสดมาเลย์ และที่จะตามมาอย่างทุเรียนกัมพูชา ทุเรียนอินโดฯ และทุเรียนสปป.ลาว

นอกจากนี้ ยังมีความเคลื่อนไหวของประเทศเพื่อนบ้านเราในการพัฒนาอุตสาหกรรมทุเรียนเพื่อการส่งออกในอนาคต โดยเฉพาะการเช่าที่ดินปลูกทุเรียนของนายทุนจีน (เข้าไปเช่าที่ดินในเวียดนาม สปป.ลาว และกัมพูชา) เวียดนามยังนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองภายใต้การส่งเสริมของภาครัฐในการจัดสรรกิ่งพันธุ์คุณภาพ หากเวียดนามสามารถปลูกทุเรียนได้มากขึ้น ต้นทุนทุเรียนที่ส่งขายจีนจะถูกลงกว่าไทยตามหลักการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) คาดว่าในอนาคต เวียดนามจะเป็นอีกตัวแปรสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกทุเรียนของไทยไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะโครงสร้างราคาทุเรียนในตลาดจีน

ส่วนปัจจัยภายในประเทศ ภารกิจหลัก (First Priority) ต้องยกให้เรื่องการควบคุมและรักษาคุณภาพทุเรียนส่งออกอย่างเข้มงวดและสม่ำเสมอ ให้ได้คุณภาพความปลอดภัย และปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชในพิธีสารฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันความเสียหายต่อภาพลักษณ์ของ “ทุเรียนไทย” ในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักของทุเรียนไทย

เกษตรกรดูแลทุเรียน

สิ่งที่ “เกษตรกรไทย” ต้องให้ความสำคัญ

ประเด็นสำคัญ “เกษตรกรไทย” จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณภาพให้มากขึ้น ตั้งแต่เกษตรต้นน้ำในด้านการปฏิบัติทางการเกษตรดี หรือ GAP (Good Agricultural Practice) เพื่อยกระดับกระบวนการผลิตทุเรียนที่ปลอดสารเคมีตกค้าง ปลอดแมลงศัตรูพืชให้ได้ตรงตามมาตรฐานด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และการดำเนินงานของโรงคัดบรรจุให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิต หรือ GMP (Good Manufacturing Practice) รวมถึงการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) เพื่อสร้างความมั่นใจด้านอาหารปลอดภัย (Food Safety) และมาตรฐานสินค้าที่ตรงใจผู้บริโภค

ส่วนที่ต้องรีบแก้ไขคือ ปัญหาการลักลอบส่งออก “ทุเรียนอ่อน” ไปขายที่จีน ซึ่งพบการหลุดรอดออกนอกประเทศ แม้จะมีการตรวจสอบอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม รวมถึงการจัดการแมลงศัตรูพืชที่ติดไปกับทุเรียน โดยเฉพาะหนอนเจาะเมล็ดทุเรียนปนไปกับทุเรียนส่งออก ซึ่งมักพบในทุเรียนภาคใต้

ขณะที่ “การบริหารจัดการต้นทุน” ทางการเกษตรที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งราคาปุ๋ย และยาฆ่าแมลง เพื่อเสริมสร้างแรงแข่งขันด้านต้นทุนให้กับเกษตรกร อาจต้องพิจารณาใช้กลไกการแทรกแซงหรือพยุงราคาในยามจำเป็น และการทำหน้าที่เป็น “ครูแนะแนว-พี่เลี้ยง” ของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความรู้ด้านการเกษตร หรือสำรวจความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่

สวนผลไม้

นอกจากนี้การแก้ไขปัญหาเรื้อรังเชิงโครงสร้างของผู้เล่นรายใหญ่ในไทยที่ตกอยู่ในกำมือของธุรกิจ “ล้ง” รับซื้อทุเรียน ซึ่งมักเอาเปรียบชาวสวนทุเรียนไทยด้วยการเสนอราคาที่ไม่เป็นธรรม กดราคาให้ต่ำกว่าราคาตลาด หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายผู้ส่งออก-ผู้กระจายสินค้า เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและชิงอำนาจการกำหนดราคาไว้ในมือ

และนอกเหนือจาก “สติกเกอร์ติดขั้วทุเรียน” ซึ่งหลุดออกง่ายและทำปลอมได้ง่ายที่ตลาดปลายทาง ประเทศไทยควรแสวงหาแนวทางในการสร้างอัตลักษณ์ของ “ทุเรียนไทย” ให้ผู้บริโภคสามารถแยกแยะได้ชัดเจนและควรประชาสัมพันธ์ให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง เพื่อป้องกันการ “สวมชฎาไทย” ของทุเรียนประเทศคู่แข่ง อีกทั้งยังเป็นการปกป้อง “ภาพลักษณ์ทุเรียนไทย” ในตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย

การส่งเสริมการวิจัยเพื่อพัฒนาการผลิตทุเรียนนอกฤดูให้มีผลผลิตตรงกับช่วงเทศกาลสำคัญของจีน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการจับจ่ายสูง และมีการส่งมอบของขวัญเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเทศกาลตรุษจีน ไหว้พระจันทร์ อย่างทุเรียนเวียดนามสามารถชดเชยความต้องการในตลาดจีนได้ เพราะมีฤดูกาลที่ให้ผลผลิตทุเรียนยาวกว่าไทย จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมทุเรียนเวียดนามถึงขยายส่วนแบ่งตลาดในจีนได้อย่างรวดเร็ว

ทุเรียนแกะเรียบร้อยพร้อมรับประทาน

การพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบรรจุภัณฑ์เพื่อการส่งออกไปตลาดจีน ที่ช่วยเก็บรักษาความสดใหม่ของผลไม้ให้ได้มากที่สุด มีดีไซน์สวยงาม ทันสมัย พกพาง่าย และสะดวกในการแกะ/ปอกรับประทาน ซึ่งนอกจากจะเป็นการเพิ่มมูลค่า (Value added) ให้กับตัวสินค้าแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ของผลไม้ไทยในฐานะ ผลไม้คุณภาพ ในหมู่ผู้บริโภคชาวจีน

การฉีกกฎให้แตกต่าง สร้างเครื่องมือเจาะตลาดใหม่ นอกจากการพัฒนาสายพันธุ์ทุเรียนให้ได้ “ทุเรียนลูกผสม” ที่ถูกจริตตลาดจีนแล้ว ประเทศไทยยังสามารถใช้โอกาสจากนโยบาย “วีซาฟรี” ไทย-จีน ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนแห่เที่ยวไทยเป็นจำนวนมาก และเป็นจังหวะที่กำลังเข้าสู่ฤดูกาลทุเรียนของไทย โดยการผนวกการท่องเที่ยวเข้ากับการส่งเสริมการยกระดับ “ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองเฉพาะถิ่น” ให้เป็นทุเรียน GI (Geographical Indicator หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ชูจุดขาย Rare item (มีน้อย หายาก) ให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งนอกจากจะช่วยยกระดับรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่แล้ว ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและเบิกทางสร้างโอกาสในการทำตลาดทุเรียนไทยในจีนต่อไป

ทุเรียนไทย

การทำคอนเทนต์และสร้างไวรัลในโลก “โซเชียลมีเดียจีน” อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับรสชาติและเนื้อสัมผัสของ “ทุเรียนไทย” ที่แตกต่างจากทุเรียนชาติอื่น และการส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับทุเรียนไทยสายพันธุ์อื่นที่มีศักยภาพในการแข่งขันในตลาดจีน โดยอาจพิจารณาใช้วิธีการสร้างเรื่องเล่า (storytelling) ให้กับทุเรียน เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุเรียนไทยเหมือนอย่างที่ทุเรียนมูซังคิงของมาเลเซียประสบความสำเร็จมาแล้วในการทำตลาดไฮเอนด์ในจีน โดยสามารถทำงานร่วมกับอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) หรือดารานักร้องที่ชาวจีนนิยมชื่นชอบ และใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือ ในการประชาสัมพันธ์ทุเรียนไทยในมุมมองที่แตกต่าง

การศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวจีนอย่างใกล้ชิด นอกจากทุเรียนผลสด ตลาดจีนยังนิยมนำเนื้อทุเรียนไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารคาวหวานที่หลากหลาย อาทิ เค้ก พิซซ่า ไอศกรีม ดังนั้น การส่งออก “เนื้อทุเรียน” เป็นอีกทางเลือกในการจัดการทุเรียนตกเกรดและช่วยขยายห่วงโซ่อุตสาหกรรม กลุ่มวัยรุ่นจีนนิยมการบริโภคผลไม้ตามกระแสความนิยมในสังคม ชอบ “แชะ & แชร์” ผ่านโซเชียลฯ ต่าง ๆ จึงมีความจำเป็นที่ผู้ค้าต้องวางแผนกลยุทธ์ และกิจกรรมการตลาดที่เหมาะสม เพื่อสามารถกำหนดทิศทางในการพัฒนาผลไม้ไทยให้เข้าถึงตลาดผู้บริโภคชาวจีนแต่ละกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่าในปัจจุบันชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของ “ผลไม้ไทย” จักยังครองใจผู้บริโภค “ชาวจีน” แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การพัฒนาคุณภาพผลไม้และราคาของคู่แข่งเป็นตัวพลิกผันที่อาจทำให้ที่นั่งของ “ทุเรียนไทย” ในใจผู้บริโภคจีนเปลี่ยนไปไม่มากก็น้อย...

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : กฤษณะ สุกันตพงศ์ ศูนย์ข้อมูลเพื่อธุรกิจไทยในจีน

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ทุเรียนทุเรียนไทยทุเรียนสดตลาดทุเรียนสดจีนThai PBS
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด