ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เปิดภาพถ่ายล่าสุด “ดวงจันทร์ไอโอ” จากยานจูโน


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

12 ม.ค. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

เปิดภาพถ่ายล่าสุด “ดวงจันทร์ไอโอ” จากยานจูโน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/670

เปิดภาพถ่ายล่าสุด “ดวงจันทร์ไอโอ” จากยานจูโน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ยานจูโนได้เฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอ (Io) เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมา ที่ระยะห่างราว 1,500 กิโลเมตร เป็นการเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอที่ใกล้ที่สุดของยานสำรวจในรอบ 2 ทศวรรษ (ถัดจากยานกาลิเลโอที่เข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอที่ระยะห่าง 181 กิโลเมตร เมื่อปี ค.ศ. 2001) ซึ่งดวงจันทร์ไอโอเป็นหนึ่งในดวงจันทร์ที่มีภูเขาไฟปะทุมากที่สุดในระบบสุริยะ

ยานจูโน (Juno) ขึ้นสู่อวกาศในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2011 เดินทางในอวกาศเป็นระยะทางราว 2,800 ล้านกิโลเมตร ก่อนถึงดาวพฤหัสบดีในต้นเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 2016 หลังจากนั้น ยานจูโนได้ถ่ายรูปดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารหลายดวง รวมถึงดวงจันทร์ไอโอ ทั้งภาพขาวดำและภาพสี ซึ่งการเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอของยานจูโนในแต่ละครั้ง ไม่ได้มีเพื่อการถ่ายภาพอย่างเดียว แต่ยังเก็บข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับดวงจันทร์ไอโอ และปรากฏการณ์ทางภูเขาไฟบนดวงจันทร์ดวงนี้

“ข้อมูลที่ได้จากการบินเฉียดครั้งนี้จะนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลก่อนหน้านี้ของเรา ซึ่งทีมวิทยาศาสตร์ของยานจูโนกำลังศึกษาความแปรปรวนของภูเขาไฟบนไอโอ” Scott Bolton นักวิจัยหลักและนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) ได้กล่าวไว้ก่อนที่ยานจูโนจะเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอครั้งนี้ “พวกเรากำลังดูว่าภูเขาไฟเหล่านี้ปะทุบ่อยแค่ไหน ? จะลุกสว่างและร้อนได้ถึงแค่ไหน ? รูปร่างของลาวาเปลี่ยนแปลงอย่างไร ? และกิจกรรมทางธรรมชาติบนไอโอมีความสัมพันธ์กับกระแสอนุภาคมีประจุในสนามแม่เหล็กของดาวพฤหัสบดีอย่างไร ?”

“นาซา” ได้เปิดเผยภาพถ่ายของดวงจันทร์ไอโอจากยานจูโนบน X (ทวิตเตอร์เดิม) โดยระบุว่า “อุปกรณ์กล้อง JunoCam บนยานจูโนได้ถ่ายภาพดวงจันทร์ไอโอจำนวน 6 ภาพระหว่างการเฉียดเข้าใกล้ในวันนี้ ที่ระดับความสูงประมาณ 2,500 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาว”

ก่อนการเฉียดใกล้ดวงจันทร์ไอโอครั้งนี้ ยานจูโนได้เฉียดใกล้ดวงจันทร์ดวงนี้มาแล้วในระยะราว 1,500 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาว เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 2023 แต่การเฉียดใกล้ดวงจันทร์ไอโอของยานจูโนในอนาคตจะมีระยะที่ไกลขึ้น ราว 11,000 จนถึง 100,000 กิโลเมตร

ยานจูโนจะเฉียดเข้าใกล้ดวงจันทร์ไอโอครั้งสุดท้ายในเดือนกันยายน ค.ศ. 2025 และจะเป็นการสิ้นสุดภารกิจสำรวจดาวพฤหัสบดี หลังจากที่ขยายเวลาภารกิจมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 โดยจูโนจะพุ่งลงสู่ดาวพฤหัสบดีจนยานเผาไหม้ไปในชั้นบรรยากาศ ถือเป็นจุดสิ้นสุดการสำรวจดาวพฤหัสบดีและดวงจันทร์บริวารของยานจูโนอันยาวนานกว่า 9 ปี

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ยานจูโนJunoดวงจันทร์ไอโอIoสำรวจอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เซบา บาสตี้ : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover (ติดต่อ jiraphob.thawisoonsong@gmail.com หรือ 0854129703)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด