ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบแล้ว : ภาพปลอมอ้างหมึกยักษ์เกยหาดที่อินโดฯ


Verify

24 ธ.ค. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบแล้ว : ภาพปลอมอ้างหมึกยักษ์เกยหาดที่อินโดฯ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2065

ตรวจสอบแล้ว : ภาพปลอมอ้างหมึกยักษ์เกยหาดที่อินโดฯ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ภาพปลาหมึกยักษ์ขนาดใหญ่บนชายหาดถูกแชร์บนโลกออนไลน์ พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จว่าเป็นภาพถ่ายจากชายหาดในเกาะบาหลี ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมในอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ภาพดังกล่าวถูกสร้างขึ้นด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) และถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกบนบัญชีอินสตาแกรมของผู้ใช้งานที่เรียกตนเองว่าเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์จาก AI

"อัศจรรย์สัตว์ทะเล #ปลาหมึกยักษ์แปซิฟิก สัตว์ยักษ์ ไม่น่าเชื่อว่าจะได้เห็น ไม่มีสินามิ หลังเหตุการณ์น้ำทะเลขึ้นสูง เพราะสิ่งนี้หรือไม่ พบปลาหมึกยักษ์ ขึ้นเกยตื้น น้ำทะเลในบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ June 4, 2024" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กบัญชีหนึ่งโพสต์รูปภาพและเขียนคำบรรยายในวันที่ 5 มิถุนายน 2567

ภาพในโพสต์ดังกล่าวแสดงให้เห็นสิ่งมีชีวิตมีหนวดขนาดยักษ์นอนเกยตื้นอยู่บนชายหาด

 

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เท็จ บันทึกวันที่ 14 มิถุนายน 2567


ภาพและคำกล่าวอ้างในลักษณะเดียวกันนี้ถูกแชร์หลายร้อยครั้งบนเฟซบุ๊ก ที่นี่  นี่ และ นี่

ผู้ใช้งานบางส่วนเชื่อว่าภาพดังกล่าวเป็นภาพปลาหมึกยักษ์จากเหตุการณ์จริง

"ดีนะเกยตื้นที่บาหลี ถ้ามาเมืองไทยป่านนี้คงไม่เหลือซาก" ความคิดเห็นหนึ่งระบุ

"น้ำจิ้มซีฟู้ดพร้อม" อีกความคิดเห็นระบุ

การค้นหาภาพย้อนหลังในกูเกิล พบว่าภาพดังกล่าวถูกโพสต์ครั้งแรกบนบัญชีอินสตาแกรมของผู้ใช้งานชื่อ "best_of_ai_" ในวันที่ 2 มิถุนายน 2567 ก่อนที่ภาพดังกล่าวจะถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จอย่างแพร่หลายบนสื่อสังคมออนไลน์ (ลิงก์บันทึก)

ผู้ใช้งานดังกล่าวระบุว่าตัวเองเป็น "นักสร้างสรรค์งานดิจิทัล" ที่เน้นการ "เล่าเรื่องผ่าน AI" ด้วยการใช้เทคนิคทาง AI ในรูปแบบต่าง ๆ

ภาพปลาหมึกขนาดยักษ์มีชื่อผลงานว่า "การไว้อาลัยยักษ์ใต้มหาสมุทร" โดยเจ้าของภาพเขียนในคำบรรยายว่าเป็นนิยายภาพจากจินตนาการ

วิดีโอในโพสต์ดังกล่าวแสดงภาพชุดจำนวน 10 รูป ซึ่งเผยให้เห็นปลาหมึกยักษ์เกยตื้นและรายล้อมไปด้วยผู้คน โดยรูปทั้งหมดถูกสร้างด้วย AI

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์อินสตาแกรม (ขวา):

การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์อินสตาแกรม (ขวา)

การเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เท็จ (ซ้าย) และภาพต้นฉบับในโพสต์อินสตาแกรม (ขวา)
บัญชีดังกล่าวมักโพสต์ภาพของสิ่งมีชีวิตใต้น้ำขนาดยักษ์ที่สร้างจาก AI อย่างสม่ำเสมอ เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่ (ลิงก์บันทึก ที่นี่ นี่ และ นี่)

ภาพชุด "ปลาหมึกยักษ์" เผยให้เห็นองค์ประกอบที่มีลักษณะผิดปกติหลายจุด เช่น คนที่มีแขนขาเกินและไม่มีศีรษะ ซึ่งเป็นข้อผิดพลาดที่มักเกิดขึ้นในภาพที่สร้างด้วย AI

ภาพถ่ายหน้าจอของภาพต้นฉบับที่ AFP ได้ทำเครื่องหมายเน้นให้เห็นองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะผิดปกติ

ข้อมูลจาก : AFP

เราพบปลาหมึกยักษ์ได้ง่ายแบบนี้จริงหรือ ?

ด้าน ผศ.ดุสิต เอื้ออำนวย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ข้อมูลของการพบหมึกยักษ์ว่า จากรายงานที่พบและได้มีการบันทึกที่ผ่านมาพบว่า หมึกที่มีตัวใหญ่ที่สุดมีความยาวเพียง 12-13 เมตรเพียงเท่านั้น แต่ขนาดที่พบบ่อยที่สุดคือขนาด 7-8 เมตร ซึ่งหมึกในภาพที่พบเป็นหมึกน้ำลึก โดยปกติแล้วหมึกชนิดนี้จะอยู่ตามไหล่ทวีป ที่มีระดับน้ำลึกมากตั้งแต่ 200 - 300 เมตร และการที่จะพบหมึกเหล่านี้ได้ ส่วนใหญ่มักจะเป็นการพบหลังจากการตายตามธรรมชาติและลอยขึ้นมา ซึ่งโอกาสที่จะลอยมาเกยตื้นตามชายฝั่งก็ถือเป็นเรื่องที่ยาก เพราะระยะทางที่ไกล โดยที่ผ่านมาพบบริเวณประเทศญี่ปุ่น , นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งถูกพัดมาจากพายุหรือติดเครื่องมือประมงที่ทำการประมงในพื้นที่น้ำลึก และสภาพก็จะไม่สมบูรณ์อย่างในภาพ โดยส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะที่ไม่สมบูรณ์

ผศ.ดุสิต เอื้ออำนวย หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีการผลิตสัตว์และประมง คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

สำหรับหมึกที่นิยมบริโภคสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ หมึกกล้วย และ หมึกกระดอง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม Cephalopoda ที่พบได้ทั่วไปในน่านน้ำตื้นจนถึงระดับน้ำลึกปานกลาง และ หมึกยักษ์หรือหมึกสาย (Octopus) ซึ่งอยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่มีลักษณะเฉพาะ เช่น มีหนวดเพียง 8 เส้น และไม่มีแกนแข็งภายในลำตัว โดยขึ้นชื่อในด้านความฉลาดและการพรางตัว

ปลาหมึกสาย (Octopus)

ส่วนหมึกขนาดใหญ่ในภาพ ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเป็นหมึก 2 ชนิด คือ Giant Squid (ชื่อวิทยาศาสตร์: Architeuthis dux)  และ Colossal Squid (ชื่อวิทยาศาสตร์: Mesonychoteuthis hamiltoni) ที่ถือว่าเป็นกลุ่มหมึกที่ความยาวมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับหมึกชนิดอื่น โดยทั้งสองชนิดนี้อาศัยอยู่ในน้ำลึกตั้งแต่ 200-300 เมตรขึ้นไป และเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่พบได้ยากในมหาสมุทร

Giant Squid (ชื่อวิทยาศาสตร์: Architeuthis dux)

ส่วนการที่ภาพดังกล่าวถือเป็นภาพปลอมนั้น  เนื่องจากหมึกที่เกยตื้นในปกติแล้ว มักจะมีสภาพไม่สมบูรณ์ และเมื่อหมึกตายลงก็จะถือเป็นอาหารอันโอชะของสัตว์ทะเลอื่น ๆ จึงเป็นเรื่องยากที่จะลอยมาเกยตื้นในลักษณะนี้

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าภาพใดคือ AI

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อสังเกตว่าเหตุใดภาพนี้จึงถูกสร้างจาก AI โดยระบุว่า แม้ภาพรวมที่ AI สร้างจะดูโดยรวมแล้วไม่สะดุดตาทันที หรือเหมือนกับภาพจริง แต่หากสังเกตจะเห็นว่า คนในภาพมีองค์ประกอบที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง มีขาที่เกิน หรือมีเงาขาที่เพิ่มขึ้นมา หรือคนที่มุงในภาพที่ต่างมองออกไปนอกทะเล ไม่ได้สนใจในหมึกหรือสิ่งที่ผิดปกติที่อยู่ตรงหน้า

คนที่เดินในภาพ ที่แม้จะอยู่ใกล้กับหมึกยักษ์ แต่กลับเดินเหมือนไม่สนใจ ซึ่งลักษณะเหล่านี้คือสิ่งผิดปกติของพฤติกรรมมนุษย์

จุดสังเกตลักษณะของภาพที่ดูผิดปกติ

สำหรับการสังเกตภาพที่ถูกสร้างจาก AI หรือไม่นั้น ควรสังเกตจากองค์ประกอบรอบ ๆ และหลักความเป็นจริง เช่น พฤติกรรมของมนุษย์ นอกจากนี้หากเป็นภาพที่ถูกสร้างจาก AI ส่วนใหญ่จะยังคงหลงเหลือสิ่งที่ผิดปกติอยู่ภายในภาพ และหากเป็นการสร้างภาพที่มีภาษา AI ส่วนใหญ่มักจะยังคงมีข้อผิดพลาดในการสร้างภาพเหล่านี้อยู่ เช่น ภาษาไม่ตรงกับความเป็นจริงเป็นต้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมภาพปลอมAIAI Generatedปลาหมึกยักษ์หลอกลวงด้วย AIหลอกลวงหลอกคลิกหมึกยักษ์
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด