นี่คือภาพของ กระจุกดาวต้นคริสต์มาส (Christmas Tree Cluster) หรือ NGC 2264 หลายคนอาจจะเคยเห็นและคุ้นเคยกับภาพที่เป็นสีแดง แต่ปีนี้ต้นคริสต์มาสแห่งห้วงอวกาศนี้มาในแบบ “สีเขียว” ที่สมจริงกับการเป็นต้นคริสต์มาสสุด ๆ
NGC 2264 อยู่ห่างจากโลกประมาณ 2,500 ปีแสง ในกลุ่มดาวยูนิคอร์น (Monoceros) ประกอบด้วยเนบิวลาแบบเรืองแสง (Emission Nebula) ขนาดใหญ่ และกระจุกดาวเปิด (Open Cluster) ที่มีดาวฤกษ์อายุน้อยที่มีมวลน้อย ไปจนถึงดาวฤกษ์มวลมากกว่า 7 เท่าของดวงอาทิตย์ ด้วยลักษณะการเรียงตัวของกระจุกดาวนั้นดูเป็นรูปสามเหลี่ยมคล้ายกับ #ต้นคริสต์มาส จึงเรียกว่า Christmas Tree Cluster มีดาวแปรแสงชื่อ S Monocerotis (15 Monocerotis) อยู่บริเวณตำแหน่งลำต้นของต้นคริสต์มาส และอีกดวง ชื่อ V429 Monocerotis อยู่บริเวณตำแหน่งยอดต้นไม้ เหนือขึ้นไปจะเห็นเนบิวลามืดสีคล้ำรูปแท่งกรวย เรียกว่า เนบิวลารูปโคน (Cone Nebula)
ภาพกระจุกดาวต้นคริสต์มาสสีเขียวนี้ ประกอบและตกแต่งขึ้นใหม่ด้วยข้อมูลจากหลายแหล่ง ข้อมูลในช่วงคลื่นแสงที่ตามองเห็นได้มาจากกล้องโทรทรรศน์ WIYN ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.9 เมตร ณ หอสังเกตการณ์แห่งชาติคิตต์พีค สหรัฐอเมริกา เผยให้เห็นรูปทรงต้นคริสต์มาสสีเขียวจากแก๊สที่อยู่ภายในเนบิวลา ข้อมูลอินฟราเรดจากโครงการ Two Micron All Sky Survey (2MASS) เผยให้เห็นดาวสีขาวบริเวณฉากหน้าและฉากหลัง และข้อมูลรังสีเอกซ์จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศจันทราของ NASA เผยให้เห็นไฟประดับสีขาวฟ้าจากบรรดาดาวอายุน้อย
ขอให้ทุกคนมีความสุขในเทศกาลคริสต์มาส
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NASA, NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech