จะให้ของขวัญอะไรดี ? คงเป็นคำถามที่หลายคนกำลังมองหาคำตอบในช่วงเวลาแห่งการให้นี้
ของขวัญอะไรที่จะเหมาะสมกับการจับฉลากปีใหม่ ? ของขวัญอะไรเหมาะกับการให้ญาติผู้ใหญ่ ? จะมอบอะไรดีเป็นของขวัญให้กำลังใจลูกน้องที่ทำงาน ? แล้วของขวัญแบบไหนที่อยากจะมอบให้กับคนที่รัก ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทที่รู้จักกันและกันมาช้านาน หรือคนรัก
Thai PBS ขอนำเสนอ 3 วิธีคิดที่สรุปรวมมาจากหนังสือ What Money Can’t Buy: The Moral Limits of Markets ที่ได้มีการเขียนถึงการให้ของขวัญไว้อย่างน่าสนใจในหลายแง่มุม สรุปรวมแล้วมีอะไรบ้าง ? มาดูกัน คุณอาจค้นพบคำตอบสำคัญในช่วงเวลาแห่งการให้นี้
ของขวัญที่ผู้รับชื่นชอบ ให้ด้วยใจ เรียบง่ายแต่ลึกซึ้ง
การให้ของขวัญโดยทั่วไปแล้วมีขึ้นเพื่อให้ผู้รับรู้สึกดีกับผู้ให้มากขึ้น การให้ของขวัญจากใจโดยเลือกซื้อของขวัญที่คาดว่าผู้รับที่ชอบที่สุดถือเป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่ก็จริงจัง แม้คุณค่าเป็นตัวเงินอาจจะไม่มาก และบางคนอาจกังวลใจว่าของขวัญที่ซื้อให้นั้นจะไม่ตรงใจ ตรงความต้องการของผู้รับ แต่มูลค่าแบบเป็นตัวเงินนั้นไม่ใช่คุณค่าทั้งหมดของสิ่งที่เรียกว่า ของขวัญ แต่การให้ของขวัญยังเป็นเรื่องของการสื่อสารความรู้สึกหรือส่งสัญญะ (Signaling) ที่แสดงถึงความรู้สึกดี ๆ ที่มีต่อกัน
ดังนั้น แม้ของขวัญที่ซื้อให้จะไม่ตรงใจผู้รับอย่างสมบูรณ์ แต่ก็ยังคงเป็นของขวัญที่แทนใจ แทนความรู้สึกดีที่มอบให้กันซึ่งเป็นสิ่งที่เงินซื้อไม่ได้ และไม่มากก็น้อยย่อมทำให้ผู้รับรู้สึกมีความสุข
ของขวัญที่ผู้รับชื่นชอบเหมาะที่จะมอบให้กับทุกคน ในทุก ๆ ระดับความสัมพันธ์
เงินสด หรือบัตรของขวัญ ให้อิสระ ให้ผู้รับเลือกของขวัญให้ตัวเอง
การให้ของขวัญให้ตรงใจกับผู้รับ เป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปได้ไม่ได้ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง Joel Waldfogel เสนอทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ว่า ของขวัญจะลดมูลค่าลงเมื่อมอบให้กันเสมอประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ โดยมีสาเหตุมาจากช่องว่างความต้องการที่ไม่ตรงกัน เช่น หลานอยากได้ของเล่น แต่ยายเลือกซื้อเสื้อกันหนาวให้ เพราะมองว่าเป็นประโยชน์
เงินสดจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในทางเศรษฐศาสตร์ ที่รับประกันได้ว่าผู้รับจะนำไปซื้อของที่ตรงใจกับตัวเองแน่นอน อีกทางเลือกที่น่าสนใจคือ บัตรของขวัญหรือ Gift Voucher ที่เป็นตัวช่วยเปลี่ยนจากตัวเงินเป็นของขวัญโดยยังคงสัญญะของการเป็นของขวัญที่ตรงกับความต้องการของผู้รับแน่นอน
เงินสด หรือบัตรของขวัญ เหมาะจะมอบให้กับลูกน้อง เพื่อนร่วมกัน ญาติผู้ใหญ่หรือลูกหลาน รวมถึงบุคคลที่ผู้ให้ไม่ทราบความต้องการของผู้รับอย่างชัดเจน
ของขวัญแปลกใหม่ ด้วยรัก ความสนิท และท้าทายผู้รับ
หลายคนอาจกังวลกับการให้ของขวัญจะไม่ตรงใจผู้รับ การให้เงินรวมถึงบัตรของขวัญก็อาจทำให้รู้สึกห่างเหิน การให้ของขวัญสุดแหวกอาจเป็นแนวทางที่เหมาะสม เพราะการให้ของขวัญเป็นมากกว่าการให้สิ่งของ และมีความหมายมากกว่ามูลค่าที่เป็นตัวเงิน หากแต่คือสิ่งที่สะท้อนความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างผู้ให้และผู้รับ รวมถึงยังเป็นการสื่อสารสัญญะบางอย่างด้วย
ของขวัญแปลกใหม่อาจเป็นของสนุก ๆ ที่สร้างความประทับใจต่อกัน หรืออาจเป็นของที่ไม่ตรงใจกับผู้รับเลย แต่ช่วยเปิดประสบการณ์แปลกใหม่ได้ เช่น คอร์สกิจกรรมทำอาหาร(สำหรับคนไม่เคยทำอาหาร) แว่นตาว่ายน้ำ (สำหรับคนว่ายน้ำไม่เป็น) เป็นต้น ของขวัญจึงไม่ใช่เพียงสิ่งที่ไว้เอาใจ แต่ยังสามารถเป็นสิ่งที่ผู้ให้มอบความท้าทายบางอย่างกลับสู่ผู้รับได้อีกด้วย เหล่านี้สะท้อนความสัมพันธ์ที่มีต่อกัน และยังสร้างเซอร์ไพรส์ที่ถือเป็นความสนุกหนึ่งของช่วงคริสต์มาสต่อเนื่องกับปีใหม่ได้เป็นอย่างดี
ของขวัญแปลกใหม่ เหมาะที่จะมอบให้กับคนที่มีความสนิทสนม มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกันจะยิ่งช่วยเสริมความสัมพันธ์ให้ดียิ่งขึ้น
อ้างอิง
- What Money Can’t Buy: The Moral Limits of Markets, Michael J. Sandel