เป็นอีกหนึ่งข่าวที่คนไทยติดตามและให้ความสนใจ สำหรับเหตุการณ์ “ลูกช้างป่าพลัดหลง” ในรอบปี 2566 มีข่าวการช่วยเหลือเหล่าลูกช้างที่พลัดหลง แม้หลาย ๆ ตัวได้กลายเป็นขวัญใจผู้คนในโลกออนไลน์ ทว่าบางตัวก็มีอันต้องจบชีวิตลงอย่างน่าเศร้า
Thai PBS นำเรื่องราวการพลัดหลงของช้างป่า พร้อมที่มาที่ไปว่า เหตุใดพวกช้างเหล่านี้ ถึงได้พลัดหลงจากฝูง มาบอกกัน
ช้างป่าพลัดหลง เกิดจากอะไร ?
โดยธรรมชาติของลูกช้างที่เพิ่งเกิด แม่ช้างจะดูแลเป็นอย่างดี แถมในฝูงช้างป่าเอง มีช้างเพศเมียตัวอื่น ๆ เป็นพี่เลี้ยงคอยช่วยดูแลให้อีกทาง แต่กรณีที่นำมาซึ่งการพลัดหลงจากฝูงของลูกช้างป่า เกิดขึ้นได้หลายปัจจัย
- เกิดจากการที่ฝูงถูกไล่ล่า หรือตกใจจากกลิ่น หรือเสียงที่ผิดปกติ เช่น เสียงระเบิด เสียงอาวุธปืน จนทำให้ฝูงช้างเตลิด ส่งผลให้ลูกช้างที่ยังเด็ก ตามฝูงไม่ทัน
- เกิดจากการบาดเจ็บ เช่น ติดบ่วงแร้ว (เครื่องมือสำหรับดักสัตวฺ์) ตกท่อ ตกหลุม จนร่างกายได้รับบาดเจ็บ ทำให้ตามฝูงไม่ทันจึงถูกทิ้ง
- เกิดจากการเจ็บป่วยของลูกช้าง เช่น เป็นโรคติดเชื้อ ส่งผลให้ไม่มีแรง เดินตามช้างตัวอื่น ๆ ในฝูงไม่ทัน แม่ช้างและฝูงจำเป็นต้องทิ้งลูกช้าง นอกจากนี้ กรณีที่ลูกช้างป่วยเป็นโรคติดเชื้อ โดยเฉพาะเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (Herpes Virus) ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คร่าชีวิตช้าง และเป็นพาหะให้เกิดโรคติดต่อในโขลงช้างได้ เป็นสาเหตุให้ลูกช้างถูกทิ้งได้เช่นกัน
- เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ของช้าง เช่น การขยายตัวของพื้นที่การเกษตรของคน ทำให้มีสิ่งก่อสร้างรุกล้ำพื้นที่ป่า ส่งผลให้ช้างปรับตัวไม่ทัน ขาดประสบการณ์ต่อภูมิทัศน์ใหม่ โดยเฉพาะลูกช้างป่าที่ไม่ชินกับพื้นที่ เป็นที่มาของการพลัดหลงจากฝูงได้ กรณีนี้เคยเกิดขึ้นกับ “ชบาแก้ว” ลูกช้างป่าพลัดหลงที่ตกลงไปในบ่อเกรอะของชาวบ้าน เมื่อ 4 ปีก่อน และได้รับการดูแลกว่า 1 ปี 7 เดือน ก่อนจะเสียชีวิตลงด้วยอาการคล้ายติดเชื้อโรคเฮอร์ปีส์ไวรัส (Elephant Endotheliotropic Herpes Virus หรือ EEHV)
อ่านข่าว "ชบาแก้ว" ลูกช้างป่าขวัญใจชาวโซเชียลตายแล้ว
ในรอบปี 2566 พบ “ลูกช้างป่า” พลัดหลงตัวใดบ้าง ?
1. “มีนา” ลูกช้างป่าพลัดหลงขวัญใจชาวโซเชียล
มีนาคม 2566 พบลูกช้างป่าเพศเมียพลัดหลง ตกบ่อน้ำของชาวบ้าน ริมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ สาเหตุคาดว่า ถูกทิ้งเพราะร่างกายอ่อนแอ ต่อมาตั้งชื่อให้ว่า “มีนา” โดยพบว่า มีขนาดตัวต่ำกว่ามาตรฐาน แต่สุขภาพโดยรวมเป็นปกติดี
ต่อมามีความพยายามนำตัว “มีนา” กลับคืนสู่ฝูง แต่โชคร้ายที่ฝูงช้างป่าไม่มารับลูกช้างกลับไป เจ้าหน้าที่จึงเคลื่อนย้ายตัวมายังศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) จ.ฉะเชิงเทรา
ช้างมีนาเป็นที่สนใจของผู้คน โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ เฝ้าติดตามและให้กำลังใจ เพื่อให้ มีนา ได้กลับคืนสู่ป่าอีกครั้ง แต่ทางออกสุดท้ายคือการหา “แม่รับ” หรือช้างพังเพศเมีย ให้มาเป็นแม่เลี้ยงดูแล และสอนการใช้ชีวิตแบบช้าง ซึ่งปัจจุบัน ช้างมีนาได้ย้ายมาอยู่ในการดูแลของสถาบันคชบาลแห่งชาติ จ.ลำปาง โดยได้มาพบกับช้างแม่รับที่ชื่อ “พังแสนดี” เพื่อให้ช่วยดูแล และเรียนรู้ร่วมกันต่อไป
อ่านข่าวเกี่ยวกับ “ช้างมีนา”
-กางแผนดูแลลูกช้างป่า “มีนา” เล็งหา "แม่รับ" ก.ย.นี้
-ถึงลำปางแล้ว ลูกช้างป่า "มีนา" รอเจอแม่รับ "พังแสนดี"
-นาทีประทับใจ ครั้งแรก "มีนา" ดูดนมจากเต้าแม่รับ "พังแสนดี"
ดูคลิปวิดีโอ “ช้างมีนา”
เตรียมส่ง "มีนา" ลูกช้างป่าพลัดฝูงกลับเข้าป่า
2. “กันยา” ลูกช้างพลัดหลงกลางทุ่งนา
กันยายน 2566 มีรายงานชาวบ้าน อ.บุ่งคล้า จ.บึงกาฬ พบลูกช้างป่าเพศเมีย พลัดหลงอยู่กลางทุ่งนา เบื้องต้นเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูวัว ทำคอกเพื่อรอดูว่าโขลงช้างจะกลับมารับลูกหรือไม่ แต่สุดท้ายไม่ปรากฏฝูงช้างแต่อย่างใด ต่อมาจึงตั้งชื่อตามเดือนที่พบลูกช้างว่า “กันยา”
ในระยะแรก ช้างกันยา มีสภาพร่างกายที่อ่อนแอ มีภาวะถ่ายเหลว พบบาดแผลที่สะดือ มีแผลถลอกบริเวณหลังใบหู บริเวณตาซ้ายและขวามีอาการเนื้อเยื่อตาอักเสบ รวมทั้งยังเป็นแผลร้อนในที่ริมฝีปากล่าง
เจ้าหน้าที่พยายามดูแล และสังเกตอาการของ กันยา อย่างใกล้ชิด จนต่อมาอาการโดยรวมดีขึ้น ในช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีความพยายามส่ง ช้างกันยา ไปยังฟาร์มช้าง Patara Elephant Conservation ที่เชียงใหม่ เนื่องจากมีแม่ช้าง “พังวันดี” ที่เพิ่งตกลูก รวมทั้ง “บัวตอง” ช้างที่พร้อมจะเป็น “แม่รับ” ให้กับ ลูกช้างกันยา ได้
และหลังจากที่เดินทางไปและใช้เวลาปรับตัวไม่นานนัก ลูกช้างกันยาก็เข้ากับช้างแม่รับ สามารถดูดนมของพังวันดี โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตั้งความหวังว่า เมื่อลูกช้างกันยาแข็งแรง และมีความพร้อมมากขึ้น จะทำการผลักดัน นำช้างกลับคืนสู่ป่าต่อไปในอนาคต
อ่านเรื่องราวของ “ช้างกันยา”
-พบ "ลูกช้างป่าภูวัว" พลัดหลง โขลงแม่ยังไม่มารับ
-ปลอดภัย ถึงเชียงใหม่แล้ว ลูกช้างป่า "กันยา" รอเจอ "แม่รับ"
-เคลื่อนย้ายลูกช้าง "กันยา" ไปหาแม่รับที่เชียงใหม่ ดีเดย์ 9 พ.ย.นี้
-วินาทีลูกช้างป่า "กันยา" เจอแม่รับ "บัวตอง" ที่บ้านใหม่
-นาทีประทับใจ ลูกช้าง "กันยา" ดูดนมจากเต้า "แม่รับวันดี”
3. “พลายเดือน” ลูกช้างใจสู้ที่ต้องจากไป
พฤศจิกายน 2566 ชาวบ้านพบลูกช้างป่าพลัดหลงโขลง บริเวณเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา เป็นลูกช้างเพศผู้ อายุราว 1 เดือน โดยมีอาการบาดเจ็บที่ขาหลังด้านขวา จากการตรวจสอบพบว่า หัวกระดูกต้นขาส่วนปลายหักผิดรูป จนเดินแทบไม่ได้ เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สร้างคอกชั่วคราวเพื่อรอให้แม่ช้างกลับมารับ แต่ผ่านไปถึง 3 คืน ไม่มีโขลงช้างปรากฏตัวแต่อย่างใด
ต่อมาเจ้าหน้าที่ตั้งชื่อให้ว่า “พลายเดือน” และทำการรักษาขาขวาด้วยการใส่เฝือก ข่าว พลายเดือน แพร่ออกไป มีผู้คนสนใจติดตามและให้กำลังใจลูกช้างตัวน้อย โดยทีมพี่เลี้ยงและสัตวแพทย์มักจะพา พลายเดือน เดินเล่นช้า ๆ บนอุปกรณ์ช่วยพยุง จนกลายเป็นภาพลูกช้างใจสู้
แต่แล้วเมื่อวันที่ 6 ธันวาคมที่ผ่านมา พลายเดือนมีอาการทรุดลง และจากไปอย่างสงบ โดยทีมแพทย์ยังไม่สรุปสาเหตุการตายของพลายเดือน ได้อย่างแน่ชัด ต้องรอผลการตรวจสอบโดยละเอียดต่อไป
อ่านเรื่องราวของ “พลายเดือน”
-รอแม่มารับ! ลูกช้างป่าทับลาน 1 เดือนพลัดหลงสภาพอิดโรย
-เอ็นดู! "พลายเดือน" อยากเดินได้-ปรับแผนเข้าเฝือกแข็ง 17 พ.ย.นี้
-ส่งใจช่วย "พลายเดือน" หมองดนมเพราะถ่ายเหลว-พาเดินเล่นช้าๆ
-สุดยื้อ "เดือน" ลูกช้างป่าใจสู้ ทับลาน
บทสรุป “ลูกช้างป่าพลัดหลง” เพราะธรรมชาติเปลี่ยนแปลง วิถีช้างป่าเปลี่ยนไป
หลายปีที่ผ่านมา เรื่องราวการพลัดหลงของเหล่า “ลูกช้างป่า” เกิดขึ้นอยู่เสมอ ๆ บางตัวโชคดี สามารถดำรงชีวิตใหม่ต่อไป แต่อีกหลายต่อหลายตัว ต้องจบชีวิตลง
อาทิ “ตุลา” ลูกช้างป่าพลัดหลง ที่ถูกพบบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2565 โดยมีอาการป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฮอร์ปีส์ไวรัส (EEHV) แม้จะมีความพยายามดูแลอย่างใกล้ชิด ได้รับการสนับสนุนน้ำนมช้างจากแม่ช้างถึง 4 เชือก และรักษาตัวอยู่นานถึง 10 เดือนจนอาการดีขึ้น แต่สุดท้าย ตุลา ขวัญใจคนรักสัตว์ ต้องประสบปัญหาด้านร่างกายอื่น ๆ และเสียชีวิตลงในที่สุด
อ่านเรื่องราว “ช้างตุลา”
-ช้างป่า "ตุลา" ใช้สัญชาตญาณตอบสนองสิ่งเร้ามากกว่าปกติ เหตุระแวง
-ตายแล้ว! ลูกช้างป่าตุลาพลัดหลงแม่หลังยื้อนาน 10 เดือน
แม้เหตุการณ์พลัดหลงของลูกช้างจะมีหลายปัจจัย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพผืนป่า ทำให้วิถีชีวิตของช้างในป่าเปลี่ยนไป นำมาซึ่งอาการเจ็บป่วย รวมถึงการเกิดอุบัติเหตุจนได้รับบาดเจ็บ และเกิดการพลัดหลงฝูงในเวลาต่อมา
ถึงตรงนี้ มนุษย์จำเป็นต้องหันมาใส่ใจดูแลธรรมชาติ เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันแบบ “แบ่งปัน” ไม่รุกล้ำ และช่วยทำให้ “บ้านของช้าง” ที่เป็นผืนป่า กลับมาอุดมสมบูรณ์
เพราะเมื่อ “บ้าน” น่าอยู่ ปลอดภัย โอกาสในการพลัดพรากจาก “ครอบครัว” จะเกิดขึ้นน้อยลง...
ข้อมูล
-มองปัญหาคนกับช้างป่า ผ่าน "ชบาแก้ว" ลูกช้างหลงโขลงขวัญใจชาวเน็ต
-กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช