เบาหวานอาจฟังเหมือนเรื่องไกลตัวสำหรับคนที่ยังไม่ป่วยเป็นโรคนี้ ทว่าแท้จริงแล้วเบาหวานถือเป็นภัยสุขภาพยุคใหม่ที่นับวันจะยิ่งเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกที
ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยเมื่อปี 2562 เผยว่า ประเทศไทยมีคนเป็นเบาหวานอยู่ราว 5.2 ล้านคน หรือมากถึง 1 ใน 11 คน (เฉพาะที่อายุ 15 ปีขึ้นไป) นอกจากนี้ยังมีอัตราการเสียชีวิตมากถึง 200 รายต่อวัน
วันที่ 14 พฤศจิกายนของทุกปี ถูกตั้งให้เป็นวันเบาหวานโลก (World diabetes day) ตั้งแต่ปี 1991 โดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ (IDF) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงภัยด้านสุขภาพนี้มากขึ้น ต่อไปนี้คือ 4 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับโรคเบาหวาน สถานการณ์ของโรคเบาหวานเป็นอย่างไร ? คุณมีความเสี่ยงเบาหวานหรือไม่ ? แล้วจะป้องกันเบาหวานได้อย่างไร ?
1.เบาหวานเกิดในคนอายุน้อยลงเรื่อย ๆ
เบาหวานถือเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) อย่างหนึ่งซึ่งเกิดได้จากกรรมพันธุ์ และพฤติกรรมการใช้ชีวิต ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาข้อมูลจาก IDF Atlas รายงานโดยสมาพันธ์เบาหวานนานาชาติ เผยว่า เกิดเบาหวานในกลุ่มเด็กวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ตอนต้นที่อายุน้อยกว่า 30 ปี เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยการศึกษาในหลายประเทศพบว่า มีคนที่ป่วยเป็นเบาหวานจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ เบาหวานในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาวและผู้ใหญ่ตอนต้นนั้นยังมีความรุนแรงมากกว่าเบาหวานในวัยกลางคนและผู้สูงอายุอีก เนื่องจากมีการตอบสนองต่อการรักษาน้อยกว่า ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนรวดเร็วและรุนแรงกว่า
2.คุณกำลังเสี่ยงเบาหวานอยู่หรือไม่ ?
เพราะโรคเบาหวานเกิดจากพฤติกรรม ดังนั้นหากคุณรู้ตัวว่าเสี่ยงก่อนเป็นโรค คุณก็สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงได้ ข้อมูลจากแนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566 ระบุถึงปัจจัยเสี่ยงไว้ดังนี้
- อายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป
- อ้วน โดยมีค่าดัชนีมวยกาย (BMI) มากกว่า 25 (สูตรคำนวณคือน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เซนติเมตร) ยกกำลังสอง) หรือเส้นรอบเอวมากกว่าส่วนสูงหาร 2
- ชอบรับประทานของหวานจัด มีกิจกรรมทางกายน้อย ออกกำลังกายไม่เพียงพอ
หากเข้าเกณฑ์เบื้อนต้นเหล่านี้คุณสามารถลองเข้าทำ “แบบประเมินความเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดที่ 2” ได้ โดยแบบประเมินจะคำนวณความเสี่ยงพร้อมให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวต่อไป
3. สัญญาณเตือนโรคเบาหวานต้องระวัง
หลายคนเสี่ยงหรือเป็นเบาหวานไปแล้วโดยไม่รู้ตัว เพื่อสังเกตอาการและเข้ารับการตรวจได้ทันท่วงที ต่อไปนี้คือกลุ่มอาการที่เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจเป็นโรคเบาหวาน ได้แก่
- คอแห้ง หิวน้ำบ่อย ดื่มน้ำมาก
- ปัสสาวะบ่อย และมีปัสสาวะปริมาณมาก
- กินอาหารปริมาณปกติแต่น้ำหนักกลับลดลง
- เริ่มกินอาหารมากจนสังเกตได้
- อ่อนเพลียผิดสังเกต
- ตามัว รู้สึกชาตามปลายมือปลายเท้า
- คันตามเนื้อตัว
4. เบาหวานป้องกันอย่างไร ?
พฤติกรรมการใช้ชีวิตถือเป็นปัจจัยสำคัญของเบาหวาน การปรับพฤติกรรมจึงมีส่วนสำคัญสำหรับการป้องกันโรคร้ายนี้ได้ คุณสามารถทำได้ ดังนี้
- อย่าปล่อยให้ตัวเองอ้วน เพื่อลดความเสี่ยงโรคอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
- ควบคุมอาหาร ลดการรับประทานอาหารรสหวานจัด ลดแป้ง เลือกรับประทานข้าวกล้องแทนข้าวขาว
- งดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเป็นประจำ
เกร็ดน่ารู้อื่น ๆ เกี่ยวกับโรคเบาหวาน
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- รู้สู้โรค : ภาวะแทรกซ้อนที่มากับเบาหวาน
- วันเบาหวานโลก รู้จัก "เบาหวานขณะตั้งครรภ์" 1 โรคอันตรายของ 2 ชีวิต
- CHECK-UP สุขภาพ : อาหารว่างน้ำตาลต่ำที่ผู้ป่วยเบาหวานกินได้
ข้อมูล
- เสาวนาหัวข้อ Diabetes Know Your Signs, Know Your Response: รู้ภัยเบาหวาน รู้ทันสัญญาณเตือน โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย
- แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2566