ตอกย้ำกระแสละคร นางฟ้าไร้นาม ที่พูดถึงกันอย่างมากในโลกโซเชียลตั้งแต่ละครยังไม่ได้ออนแอร์ ถึงคุณความดีของ “หมอเพียร” หญิงไทยผู้อุทิศตนและต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคมที่นอกจากจะเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องแล้ว ยังเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง ด้วยเหตุนี้ไทยพีบีเอสจึงชวนทุกคนมาสัมผัสกับเรื่องจริงของตัวละครที่ปรากฏในนามฟ้าไร้นาม ที่คุณอาจไม่เคยรู้จักพวกเขามาก่อน
“หมอเพียร” เรื่องจริงของดร.คุณเพียร เวชบุล แม่พระของโสเภณี
เริ่มด้วย “หมอเพียร” ตัวละครเอกที่แรงบันดาลใจมาจากชีวประวัติของ “แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล” แพทย์หญิงบุกเบิกการรักษากามโรคและโรคซิฟิลิซให้แก่ประชาชน และแอบปลอมตัวเข้าไปช่วยเหลือโสเภณีและผู้ป่วยกามโรคนับหมื่นชีวิต รวมถึงการรับอุปการะเด็กกำพร้า กว่า 4,000 ชีวิต ให้เติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และเป็นผู้จุดประกายสมาคมแพทย์สตรีแห่งแรกของประเทศไทย
หมอเพียร เวชบุล เกิดในปีพ.ศ. 2441 เติบโตจากการเลี้ยงดูของคุณยาย เมื่อจบการศึกษาชั้นปีที่ 6 ก็มีความมุ่งมั่นที่จะเรียนด้านการแพทย์ แต่เส้นทางการเป็นแพทย์หญิงในสมัยนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หมอเพียร เวชบุล เริ่มต้นจากการเข้าสมัครเรียนที่โรงเรียนแพทยาลัย ณ ศิริราชพยาบาล ซึ่งในสมัยนั้น “ผู้หญิงที่เรียนหมอ” ยังไม่ได้รับการยอมรับเท่าไหร่นัก ทางการจึงไม่ยินยอมให้เข้าศึกษา
ต่อมา หมอเพียร ได้มีโอกาสเดินทางไปยุโรป เพื่อศึกษาต่อจนจบชั้นมัธยม 8 ที่โรงเรียนลีเชบูมาเฟมองต์ในฝรั่งเศส การเดินทางครั้งนั้นอาศัยตามเสด็จ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล พระชายาเสด็จในกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ชีวิตการศึกษาในต่างประเทศของหมอเพียร ต้องใช้ความพากเพียรสมชื่อ ขณะที่เรียนก็ทำงานเพื่อหาทุนการศึกษาไปด้วย และพยายามเข้าชิงทุนจนได้รับทุนต่าง ๆ เช่น ทุนในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และสุดท้ายได้ทุนมหิดลจนสำเร็จการศึกษา
เครดิตภาพ : ความจริงไม่ตาย ตอน หมอเพียร แม่พระของเด็กและสตรี
หมอเพียร ใช้เวลาศึกษาในฝรั่งเศสนาน 15 ปี สำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส มีส่วนร่วมในงานวิทยานิพจน์ด้านระบบการสืบพันธุ์ของสตรี หรือ นรีเวชวิทยา ได้รับการยกย่องในหมู่นักศึกษาและคณาจารย์ การันตีด้วยเหรียญเงิน นับว่าเป็น “แพทย์สตรีคนแรกของไทยที่สำเร็จการศึกษาด้านกามโรค”
การเป็นแม่พระของโสเภณี สตรี และเด็ก ที่มีแต่ขวากหนาม
หลังจากเดินทางกลับมายังประเทศไทยเมื่อต้นปี พ.ศ. 2480 ในสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี หมอเพียรได้รับราชการบรรจุเป็นแพทย์โท กรมสาธารณสุข ต่อมา พ.ศ. 2481 ได้ก่อตั้ง “มูลนิธิพีระยานุเคราะห์” ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สมเด็จย่า) เพื่อช่วยเหลือสตรี เด็ก และสตรีนอกสมรส จากนั้นเป็นประธานผู้ก่อตั้ง “บ้านเกร็ดตระการ” ดูแลให้การสงเคราะห์โสเภณี จนได้ชื่อว่าเป็น ‘แม่พระของโสเภณี’
หมอเพียรได้มีโอกาสสัมผัสกับปัญหาโสเภณีโดยตรง พบว่า “โสเภณีล้นเมือง” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะถูกหลอกลวง เด็กชนบทจำนวนมากถูกบังคับให้มาค้าประเวณี บางส่วนก็ถูกสังคมผลักดันเข้ามาเป็นโสเภณี เช่น เคยถูกข่มขืน ถูกสามีทอดทิ้ง เด็กกำพร้าบางคนถูกผู้ปกครองละเลย หนำซ้ำพอมาอยู่ในซ่องก็ยังถูกแมงดาข่มขู่สารพัด
จากปัญหาดังกล่าว หมอเพียรพยามยามช่วยเหลือทุกวิถีทางเพื่อให้พวกเขาได้หลุดพ้นจากวงจรอุบาทนี้ ด้วยการใช้เงินส่วนตัวรักษา “กามโรค” ซึ่งเป็นโรคยอดฮิตในหมู่หญิงค้าบริการ ท่านลงทุน “ปลอมตัว” เข้าซ่องเพื่อไปฉีดยาให้โสเภณีที่เจ็บป่วยและชักชวนให้เลิกทำอาชีพนี้
การช่วยเหลือคนก็ว่ายากแล้ว ท่านยังพบเจออุปสรรคอีกมากมาย จากการต่อสู้กับ “อำนาจมืด” ของผู้มีอิทธิพลในสังคม ทั้งถูกข่มขู่ ถูกขับไล่จากแมงดาหรือมาเฟียในซ่อง รวมถึงการทำงานของตำรวจที่รู้เห็นเป็นใจ อีกทั้งยังถูกกดดันจากเครือญาติให้เปลี่ยนนามสกุล เพราะมองว่าการช่วยเหลือหญิงค้ากาม “เป็นเรื่องน่าอับอาย” ต่อมาสมเด็จย่าจึงพระราชทานนามสกุลให้ใหม่ว่า “เวชบุล”
ในยุคของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ การแก้ปัญหาโสเภณีเริ่มมีความหวังมากขึ้น เนื่องจากมีการปราบปรามอย่างจริงจัง หมอเพียรได้เข้ามาช่วยบุกเบิกสถานสงเคราะห์ของรัฐที่เรียกว่า ‘บ้านตระการตา’ ทำหน้าที่ บำบัด ฟื้นฟู และพัฒนาอาชีพ โดยกว่า 80% ของผู้ได้รับการช่วยเหลือจากบ้านนี้ราวกับ “ได้เกิดใหม่” หลายคนเลิกอาชีพโสเภณีเด็ดขาด และแต่งงานมีครอบครัวที่อบอุ่น
ปัญหาวัยรุ่นท้องก่อนแต่งและเด็กกำพร้า เป็นความจริงของสังคมอีกปัญหาหนึ่งที่สืบเนื่องมาจากปัญหาโสเภณี รวมถึงการตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม ท่านก็ได้ยื่นมือเข้าช่วยเพราะมองว่า “การทำแท้งเป็นบาป” จึงเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสถานสงเคราะห์เล็ก ๆ ภายหลังชื่อว่า ‘พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ’ เพื่ออุปการะเด็กกำพร้าและเด็กที่เกิดนอกสมรส รวมถึงเป็นที่พักพิงชั่วคราวของแม่วัยรุ่นที่ตั้งท้องโดยไม่ตั้งใจ หากคลอดแล้วไม่มีกำลังจะเลี้ยงดูท่านก็จะรับเลี้ยงไว้
“อย่าประมาทเด็กไทยว่ามีปัญญาเลว
เด็กจากพีระยานุเคราะห์ที่ถูกทิ้งขว้างแต่เล็กๆ นี้
เรียนอะไรได้สำเร็จยิ่งกว่าเด็กๆ ที่มีพ่อแม่พร้อมหน้า
เด็กจากที่นี่ไปเรียนต่อเมืองนอกและสอบได้ที่ดีๆ เสียด้วย”
-ดร.คุณเพียร เวชบุล-
แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุล มีลูก ๆ ที่อยู่ในอุปการะและใช้นามสกุล เวชบุล ประมาณ 4,000 คน ท่านเลี้ยงดูเอาใจใส่บุตรบุญธรรมเป็นอย่างดี ทั้งมอบความรักและให้การศึกษา หลายคนประสบความสำเร็จในชีวิต มีอาชีพครู พยาบาล ช่างภาพ หนังสือพิมพ์ พ่อครัว นักบัญชี ส่วนหนึ่งก็ใช้ชีวิตอยู่ในต่างประเทศ และอีกไม่น้อยที่ย้อนกลับมาสืบสานปณิธานของผู้เป็นแม่
การเสียสละที่ถึงคราวได้รับการยอมรับ
การเสียสละเพื่อสังคมของหมอเพียร เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาคนไทยและทั่วโลก ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติและถูกถ่ายทอดเรื่องราวของท่านผ่านสื่อมวลชน
- พ.ศ. 2501 ท่านได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Commandeur Legion d’ Honour จากรัฐบาลฝรั่งเศส ในฐานะที่ได้ช่วยเหลือสงเคราะห์สตรีและเด็กกำพร้ามาเป็นเวลานาน
- สตรีเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัล Spirit of Achievement ประจำปี 2506 จากมหาวิทยาลัยแพทย์อัลเบิร์ตไอน์สไตน์ แห่งเยชิวาในนครนิวยอร์ก ในฐานะที่ได้รับการเลือกให้เป็นสตรีนานาชาติที่ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อมนุษยชาติ
- ปี พ.ศ.2497 ได้รับพระราชทานเหรียญตติยจุลจอมเกล้า และต่อมาเข้ารับพระราชทานทุติยจุลจอมเกล้า มีสิทธิใช้คำนำหน้าว่า “คุณหญิง” หากแต่ท่านมิได้สมรสใช้คำว่า “คุณ”
- ฮอลลีวู้ดได้ขอประวัติของท่านสร้างเป็นภาพยนตร์ ชื่อว่า “ผู้หญิงมหัศจรรย์” และนิตยสารรีดเดอร์ ไดเจส (Reader Digest) นำเรื่องราวของท่านไปตีพิมพ์
วันที่ 20 เมษายน 2527 แพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุลได้ถึงแก่กรรมอย่างสงบ
ตลอดเวลากว่า 70 ปี “แม่พระ” ท่านนี้ได้ทำคุณประโยชน์แก่สตรีและเด็กอย่างจริงจัง นับว่าเป็นปูชนียบุคคลที่สมควรได้รับการยกย่องและระลึกถึงตลอดไป
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน พ่อพระนักฏหมาย ผู้ยึดมั่นในความยุติธรรมและคุณธรรม
อีกหนึ่งตัวละครที่ต้องกล่าวถึง คือ ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน นักกฎหมายจากมหาวิทยาลัยปารีส มีจิตใจซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมาและมีคุณธรรม ผู้อาสาดูแลพีระยานุเคราะห์มูลนิธิจากหมอเพียร ท่านเป็นบุคคลที่มีอยู่จริง ปัจจุบันทำงานด้านกฏหมายและสังคมสงเคราะห์ไว้มากมาย
วางมือจากธุรกิจ
แต่ไม่ทิ้งสำนักกฎหมาย
วางมือจากการสอน
แต่ไม่ทิ้งงานเขียนตำรากฎหมาย
วางมือจากงานทั่วไป
แต่ไม่ทิ้งงานสังคมสงเคราะห์
วางมือจากการเมือง
แต่ไม่ทิ้งบ้านเมือง
-ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน-
ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน สําเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตและสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิตจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ปี พ.ศ. 2501 และ 2502 ตามลําดับ และพ.ศ. 2509 สําเร็จการศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมาย (Docteur en Droit) จากมหาวิทยาลัยปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ผู้ริเริ่มคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย
เมื่อ พ.ศ. 2515 ท่านยกฐานะแผนกวิชานิติศาสตร์ ในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ขึ้นเป็นคณะนิติศาสตร์ และดํารงตําแหน่งคณบดี อยู่ 6 ปี นอกจากนั้น เป็นผู้บรรยายกฎหมายในสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง
บทบาททางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดินในการผลักดันกฏหมายต่าง ๆ
พ.ศ. 2515 ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ เริ่มเข้ามามีบทบาททางการเมืองในตำแหน่ง “สมาชิกรัฐสภา” และดํารงตําแหน่งรอง ประธานฯ, ประธานวุฒิสภา, ประธานรัฐสภา หลายสมัย ในปี พ.ศ.2518 ได้รับแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ พ.ศ.๒๕๑๘ (ป.ป.ป.)
จากการที่ท่านเป็นนักนิติศาสตร์ที่ยึดมั่นในหลักยุติธรรม นิติธรรม สันติธรรม จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการอํานวยความยุติธรรมใน 3 จังหวัดชายแดน ภาคใต้ (กอยส) และเป็นประธานกรรมการอิสระว่าด้วยการส่งเสริมหลักนิติธรรม แห่งชาติ (คอ.นธ)
ท่านยังเป็นผู้เริ่มนำแนวคิดใหม่ ๆ จากการไปเยือนต่างประเทศมาเผยแพร่ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก เช่น การปฏิรูปการเมือง โดยการจัดระบบและวิธีการเลือกตั้งใหม่, การนำกำไลข้อเท้ามาใช้ในระบบกรมราชทัณฑ์ และกำเนิดการชำระค่าปรับจากการกระทำผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก
“ข้าพเจ้าเชื่อว่าคนทุกคน ไม่ว่าคนมั่งมีหรือคนยากจน คนที่มีความสมบูรณ์ หรือคนพิการด้อยโอกาส ต่างมีความเป็น “คน” เท่าเทียมกัน ข้าพเจ้าจึงปฏิบัติต่อคนทุกคนตามฐานานุรูปโดยไม่เกรงกลัวต่อผู้มั่งคั่งหรือ ผู้มีอำนาจและไม่เอาเปรียบ กดขี่ ผู้ที่ด้อยกว่าข้าพเจ้า…”
-ศาสตราจารย์ ดร.อุกฤษ มงคลนาวิน-
งานด้านสังคมสงเคราะห์ เพิ่มโอกาสให้เด็กยากไร้
ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการสภากาชาดไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2527 ในปีเดียวกัน ท่านยังเป็น “ประธานกรรมการ พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ” ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จนถึงปัจจุบัน ขณะที่ดำรงตำแหน่งท่านได้อุปถัมภ์และให้ทุนการศึกษาเด็กยากจนแต่มีความประพฤติดีมาโดยตลอด มีการการจัดโครงการอาหารกลางวัน, สนับสนุนการสร้างห้องสมุด เป็นผู้ริเริ่มและก่อตั้งสถานรับเลี้ยงเด็กปฐมวัย และ โรงเรียนพีระยา นาวิน เพื่อช่วยเหลือเด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย
ท่านยังเล็งเห็นความสำคัญของ “ของเล่น” จึงมีแนวทางให้ก่อตั้ง “ศูนย์ผลิตของเล่นเพื่อการพัฒนาเด็กพีระยา นาวิน” ขึ้น โดยมุ่งสร้างสรรค์และผลิตของเล่นที่ได้มาตรฐาน มีความปลอดภัยสูง สามารถเสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยของมูลนิธิ และทางศูนย์ก็ยังรับผลิตของเล่นให้กับหน่วยงาน หรือบุคคลทั่วไป เพื่อนำรายได้บริจาคให้กับพีระยานุเคราะห์มูลนิธิ เป็นกองทุนสนับสนุนเพื่อการศึกษาเด็กและเยาวชนยากจนต่อไป
ไม่เพียงแต่การช่วยเหลือเด็กไร้ในศูนย์เท่านั้น พีระยานุเคราะห์มูลนิธิยังร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน เกิดเป็น “โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนพีระยานุเคราะห์” ทั้ง 4 แห่ง เพื่อช่วยเหลือผู้ยากไร้ในเขตชายแดนให้ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียนเพิ่มขึ้น
ความซื่อสัตย์ในวิชาชีพ ทำงานเน้นจริยธรรมและคุณธรรม
ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 จนถึงปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ได้ก่อตั้ง สํานักกฎหมาย อุกฤษ มงคลนาวิน ซึ่งนับเป็นธุรกิจแรกตามสายงานอาชีพที่ท่านได้ร่ำเรียนมา โดยหวังว่าจะให้เป็นธุรกิจเพื่อผดุงธรรมในสังคม และเป็นสถานที่ฝึกงานทนายของ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ หรือ “พระองค์ภา” ด้วยเช่นกัน
นอกเหนือจากงานด้านทนาย ท่านยังมีส่วนร่วมในการจัดทำหนังสือ สารานุกรมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมทั้งหนังสือปัญหากฎหมายสำหรับประชาชน
ปัจจุบัน ศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ในวัย 68 ปี ยังคงทำงานเพื่อให้ความยุติธรรมต่อประชาชนทั่วไป ด้วยปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่ยึดหลัก 3 ป. คือ ประพฤติดี ปฏิบัติดี และประหยัดดี
นับว่าทั้งสองท่านนี้ได้ได้ช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยไม่เลือกชนชั้นและวรรณะอย่างแท้จริง
ติดตามรับชม “นางฟ้าไร้นาม” ทุกวันศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ เวลา 20.15 น. ทาง ไทยพีบีเอส ช่องหมายเลข 3
📌 รับชมละคร นางฟ้าไร้นาม อีกครั้งได้ทาง
• Website : www.VIPA.me คลิก รองรับบริการคำบรรยายแทนเสียง (Closed Caption หรือ CC)
• Application #VIPA : คลิก
• เว็บไซต์ไทยพีบีเอส www.thaipbs.or.th/NangFahRaiNam
และห้ามพลาดความเคลื่อนไหวและเบื้องหลังความสนุกของละครได้ทาง Facebook Fanpage : ละครไทยพีบีเอส คลิก
ขอบคุณข้อมูล
-ความจริงไม่ตาย ตอน หมอเพียร แม่พระของเด็กและสตรี