โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำอู” สปป.ลาว (Nam Ou River Cascade Hydropower Project) เปิดตัวระบบบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ขั้นแรกของโครงการฯ ซึ่งถือเป็นก้าวใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของสถานีไฟฟ้าพลังน้ำ “น้ำอู” จำนวน 7 แห่ง บนแม่น้ำน้ำอูและช่วยให้จัดการการไหลเวียนของน้ำได้ดียิ่งขึ้น
พิธีเปิดตัวฯ ถูกจัดขึ้นที่ศูนย์ปฏิบัติการและบำรุงรักษาของโครงการฯ ในแขวงหลวงพระบางทางตอนเหนือของสปป.ลาว เมื่อวันศุกร์ที่ 27 ต.ค. ที่ผ่านมา
สื่อท้องถิ่นของ สปป.ลาว อ้างอิง “ซ่งฮุ่ยหง” ผู้จัดการทั่วไปของบริษัทพลังงานลุ่มแม่น้ำอู (Nam Ou River Basin Power) สาขาย่อยของบริษัทพาวเวอร์ไชน่า (PowerChina) ระบุว่าระบบบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุการดำเนินงานการผลิตทางเศรษฐกิจและไฟฟ้า และการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำด้วยวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
“ซ่ง” กล่าวว่าภายใต้ระบบบริหารจัดการแบบรวมศูนย์ การควบคุมน้ำท่วมในอ่างเก็บน้ำของแม่น้ำน้ำอูจะถูกจัดการให้อยู่ในแนวทางเดียวกัน ซึ่งช่วยให้สามารถควบคุมภัยพิบัติทางธรรมชาติได้ดีขึ้น ส่วนทรัพยากรน้ำจะถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมเสริมว่าระบบบริหารจัดการฯ นี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานของพนักงาน และทำให้การจัดการอ่างเก็บน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ระหว่างพิธีเปิดฯ “ซ่ง” ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานสมาคมวิสาหกิจผลิตไฟฟ้าของจีนในสปป.ลาว ยังได้กล่าวถึงประเด็นที่บริษัทผลิตไฟฟ้าของจีนมีส่วนร่วมส่งเสริมเศรษฐกิจ สปป.ลาว
บริษัทผู้ดำเนินโครงการฯ ให้ความสำคัญอย่างมากต่อการปฏิบัติตามความรับผิดชอบทางสังคม ซึ่งรวมถึงการสร้างถนนชุมชน สะพาน สิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและการศึกษา ตลอดจนการจัดฝึกอบรมทักษะต่าง ๆ ให้กับชาวลาว
ด้านทองพัด อินทะวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ของลาว กล่าวว่าบริษัทผลิตไฟฟ้าของจีนได้ส่งเสริมความพยายามด้านความมั่นคงทางพลังงานของ สปป.ลาว ซึ่งทำให้ครัวเรือนใน สปป.ลาว มากกว่าร้อยละ 95 สามารถเข้าถึงไฟฟ้า และมีส่วนสนับสนุนการส่งออกพลังงานอีกด้วย
ทองพัดทิ้งท้ายว่าความสำเร็จเหล่านี้ เป็นผลลัพธ์ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเกิดจากความร่วมมือระหว่าง สปป.ลาวและจีน โดยเฉพาะภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่มีแรงสนับสนุน โดยเฉพาะจากวิสาหกิจผลิตไฟฟ้าของจีน
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : Xinhua