ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

5 เรื่องเข้าใจผิดด้านวัฒนธรรมเมียนมา


Lifestyle

29 ต.ค. 66

Chayanin C

Logo Thai PBS
แชร์

5 เรื่องเข้าใจผิดด้านวัฒนธรรมเมียนมา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/455

5 เรื่องเข้าใจผิดด้านวัฒนธรรมเมียนมา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ในโอกาสที่ละคร “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” ได้นำเสนอศิลปวัฒนธรรมที่มีร่วมกันของชาวอยุธยาและเมียนมาเมื่อสองร้อยปีก่อน ทำให้หลายคนเริ่มสนใจประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมเมียนมามากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีหลาย “เรื่องเข้าใจผิด” เกี่ยวกับประเทศเมียนมาที่อาจเกิดจากปากต่อปากหรือการนำเสนอทางประวัติศาสตร์ที่คลาดเคลื่อน ซึ่งจะมีเรื่องใดบ้างนั้น มาเรียนรู้ไปพร้อมกัน

1.เมียนมาเผากรุงศรี ?

แน่นอนว่าในช่วงสงครามอาจการเผาทำลายบ้านเมืองของชนชาติศัตรูย่อมเกิดขึ้น โดยที่ข้อเท็จจริงเรื่อง “เมียนมาเผากรุงศรีอยุธยา” เมื่อ 200 ปีก่อนยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงปัจจุบัน แต่จะจริงหรือไม่ อยากให้ทุกคนลองศึกษาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในหลายแง่มุม ดังนี้

ข้อเท็จจริงที่ 1 พบรอยไฟไหม้ครั้งใหญ่ก่อนเมียนมาตีกรุงศรีฯ
จากบทความของ อาจารย์ สุจิตต์ วงษ์เทศ ระบุว่า
ก่อนกรุงแตกราว ๆ 3 – 4 เดือน คนในเมืองอยุธยาลักลอบเผากันเองในตลาดกลางเมืองอยุธยา ส่วนกองทัพอังวะล้อมกรุงอยู่นอกเมือง ยังไม่ได้เข้าโจมตีอยุธยา

ในขณะเดียวกันนักโบราณคดีจากกรมศิลปากร
ศุทธิภพ จันทราภาขจีกล่าวไว้ว่า…

พบเจอร่องรอยการเผาไหม้จริง แต่ไม่ใช่ช่วง พ.ศ. 2310 กล่าวคือจากการขุดพบขี้เถ้าและแผ่นไม้ไหม้ไฟในชั้นดินที่ลึกลงไป นักโบราณคดีสันนิษฐานว่ามีอายุในช่วงก่อนเหตุการณ์เสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และในเขตพระราชวังหลวง วัดพระศรีสรรเพชญ์ไม่พบชั้นดิน ถ่าน ขี้เถ้า ร่องรอยการเผาไหม้อย่างรุนแรงเลย

ข้อเท็จจริงที่ 2 ทหารเมียนมาเผาเมืองจริงแต่ไม่ทั้งหมด
ในมหาราชวงษ์ พงศาวดารเมียนมา กล่าวว่า
“ครั้นถึง ณ วัน ๕ ๑๑ฯ ๕ ค่ำ จุลศักราช ๑๑๒๙ พลทหารแลนายทัพนายกองทั้งปวงก็เข้าในกำแพงเมืองกรุงศรีอยุทธยาได้ เมื่อเข้าในกำแพงได้นั้น พลทหารเมียนมาทั้งปวงก็เที่ยวเอาไฟเผาบ้านเรือนของพลเมืองแลวัดวาอารามเสียสิ้น แล้วเที่ยวจับพลเมืองราษฎรชายหญิงทั้งปวง แลเที่ยวเก็บริบเงินทองทรัพย์สิ่งของต่างๆ เปนอันมาก...”

อีกทั้งยังมีหลักฐานอีกว่า ทัพอังวะระเบิดกำแพงด้านหัวรอ และเมื่อเข้าเมืองได้ ก็เผาปราสาทบางหลังในวังหลวง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจอยุธยา แต่ไม่ได้เผา เมื่อตีได้แล้วก็อยู่ต่อสักพักและเกณฑ์ไพร่พลอยุธยากลับแผ่นดินเมียนมา โดยตั้งสุกี้พระนายกองควบคุมอยู่ค่ายโพธิ์สามต้น ซึ่งไกลจากเมืองและไม่มีโอกาสทำลายอยุธยา

ข้อเท็จจริงที่ 3 หลังกรุงแตกอยุธยาถูกทำลายครั้งใหญ่
ไม่มีชาวเมียนมาเกี่ยวข้องเลย

ในสมัยรัชกาลที่ 1 เข้าสู่ช่วงต้นรัตนโกสินทร์ มีการก่อร่างสร้างเมืองขึ้นใหม่ โดยรื้อกำแพงเมืองจากอยุธยา ขนอิฐใส่เรือไปสร้างกำแพงเมืองกรุงเทพฯ
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 มีการรื้อกำแพงเมืองอยุธยาอีกครั้ง เพื่อถมทำถนนรอบเกาะ
รวมทั้งการรื้อถอนเจดีย์บางส่วนบนพื้นที่เดิมเพื่อสร้างอาคารพาณิชย์ใน พ.ศ. 2500

ข้อเท็จจริงที่ 4 การทำลายกรุงเก่าอาจมาจากคนไทยและจีนในพื้นที่
ข้อมูลจาก ดร. บี. เจ. เตรวิล กล่าวว่า
วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2312 ชาวต่างประเทศคนแรกที่ไปกรุงศรีอยุธยาหลังจากเสียกรุงและได้ส่งคำพรรณนาถึงความยากจนของราษฎรทั่ว ๆ ไป รวมทั้งเด็กที่ไม่มีที่อยู่อาศัยส่งไปให้ผู้อ่านที่ฝรั่งเศส เขาได้กล่าวต่อไปว่า

“คนไทยและโดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวจีนซึ่งไม่สามารถจะช่วยตนเองได้ หันไปทำลายวัดวาอารามต่าง ๆ เขาเหล่านั้นได้ทำลายพระพุทธรูป เผา ตัดเป็นชิ้น ๆ สำหรับพระพุทธรูปที่ทำด้วยทองแดงก็เอาไฟสุมหลอมเสีย ประตูหน้าต่างและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่จะเผาได้ก็เผาเสีย...”

จากการวิเคราะห์ของอ.สุจิตต์ วงษ์เทศ บอกว่าข้อความของบาทหลวงชาวต่างชาติอาจสรุปได้ว่า การทำลายกรุงศรีอยุธยาส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากน้ำมือของเมียนมา แต่มาจากคนในพื้นที่ทั้งไทยและจีน โดยเหตุผลที่บาทหลวงบันทึกไว้อาจมีนัยยะแอบแฝงถึงความต้องการเผยแผ่ศาสนา

อีกทั้งคนในพื้นที่ประสบกับภาวะทุกข์ยากไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จึงหันไปทำลายวัด และพระพุทธรูปเพื่อประทังชีวิต ไม่ต้องทำงานอื่นอีก และเพื่อให้ชาติกลับคืนสู่สภาพเดิม
สุดท้ายแล้วใครเป็นผู้เผากรุงศรีหรือไม่ อาจไม่สำคัญ สาระที่แท้จริง คือ การเรียนรู้ประวัติศาสตร์เพื่อความเข้าใจ เห็นถึงเจตนาของคนในอดีต โดยปราศจากอคติและความเกลียดชัง

2.เมียนมากวาดต้อนชาวอยุธยาไปเป็นทาส ?

ภายหลังจากเสียกรุงศรีออยุธยาครั้งที่ 2 เมื่อพ.ศ. 2310 เมียนมาได้กวาดต้อนผู้คนและพระบรมวงศานุวงษ์ทั้งหลายไปเป็นทาสจำนวนมาก แต่ความเป็นจริงนั้นผิดคาด เมื่อถึงเมียนมาแล้ว เนเมียวมหาเสนาบดีได้นำผู้คนและพระบรมวงศานุวงษ์ที่หลงเหลืออยู่เข้าเฝ้าพระเจ้ามังระ และถูกแบ่งออกเป็นหลายกลุ่ม แยกย้ายกันไปตั้งหลักแหล่ง โดยอ้างอิงจาก “มหาราชวงษ์” พงศาวดารเมียนมา ดังนี้

                       พระบรมวงศานุวงษ์ฝ่ายหญิง อยู่ในพระราชวังของรัตนปุระอังวะ 

                          ต่อมาบางพระองค์เข้าถวายตัวเป็นพระสนมของกษัตริย์เมียนมา

                   พระบรมวงศานุวงษ์ฝ่ายชาย อยู่นอกกำแพงพระราชวังของรัตนปุระอังวะ

                       ชาวกรุงศรีอยุธยา ตั้งบ้านเรือนอยู่นอกพระราชวังของรัตนปุระอังวะ 

                          ส่วนกลุ่มช่างคาดว่าตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เมืองสะกาย (เมืองจักไก)

ต่อมาเมียนมาย้ายราชธานีจากรัตนปุระอังวะ ไปยังเมืองอมรปุระ และเมืองมัณฑะเลย์ ชาวกรุงศรีอยุธยาและเชื้อสายอยุธยาได้ถูกอพยพไปยังเมืองเหล่านี้ด้วย ซึ่งวัฒนธรรมของกรุงศรีอยุธยายังคงหลงเหลืออยู่ ก็ตีความได้ว่า ชาวกรุงศรีอยุธยาอยู่เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกกดขี่หรือเป็นทาสอย่างที่เราเข้าใจกันในปัจจุบัน ตัวอย่างถิ่นฐานที่ชาวกรุงศรีอยุธยาอาศัยอยู่ก็คือ หมู่บ้านสุขะ ตั้งอยู่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมา

3.บทละครอิเหนาฉบับเมียนมาสร้างจากตำนานพื้นบ้านดั้งเดิม?

“อิเหนา” วรรณคดีไทยที่ใครหลายคนรู้จัก ด้วยเสน่ห์ภาษาที่วิจิตร ซึ่งมีที่มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เจ้ากุณฑลและเจ้าฟ้ามงกุฎทรงพระนิพนธ์บทละครดาหลัง และอิเหนาตามลำดับ หลังจากเสียกรุงศรีออยุธยาครั้งที่ 2 เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์ถูกเชิญเสด็จไปอยู่รัตนปุระอังวะพร้อมพระบรมวงศานุวงษ์อื่น ๆ และชาวกรุงศรีอยุธยา

ในขณะที่ทั้งสองพระองค์อยู่ในราชสำนักเมียนมาก็ได้เผยแพร่นาฏศิลป์แบบอยุธยา ใช้ภาษาไทยในการแสดง ต่อมาในรัชสมัยของพระเจ้าปดุงมีการแปลเป็นภาษาเมียนมา โดยเรียกว่า “โยเดียอิเหนา” วิธีการแปลจะให้พระบรมวงศานุวงษ์อยุธยาสลับกันอ่านจากต้นฉบับภาษาไทย ก่อนจะอธิบายให้ทางคณะศิลปินราชบัณฑิตเมียนมาฟัง ซึ่งมีเมียวดี มินจี อูสะเป็นหนึ่งในคณะที่ทำการแปลด้วย จากนั้นเรียบเรียงและบันทึกเป็นภาษาเมียนมา โดยใช้เวลาแปลนานถึง 40 ปี

เมื่อเมียนมาตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ การปกครองระบอบกษัตริย์สิ้นสุดลง บันทึกต่าง ๆ ถูกทำลาย รวมถึงอิเหนาหยุดชะงักไปในช่วงเวลาดังกล่าว ต่อมาก็มีการรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง แม้ว่าท่วงทำนอง การร่ายรำ การขับร้องจะแตกต่างจากเดิมไปก็ตาม

4.คนเมียนมาดับร้อนด้วยน้ำเย็น ไม่ต่างจากคนไทย?

สภาพอากาศส่วนใหญ่ในประเทศเมียนมามี “อากาศร้อน” พอ ๆ กับเมืองไทย โดยทั่วไปเมื่ออากาศร้อนชาวไทยก็มักดับร้อนด้วยของเย็น ๆ แต่สำหรับเพื่อนบ้านอย่างเมียนมานิยมทานน้ำร้อน ชานมร้อน และไม่ทานน้ำเย็น สอดคล้องกับอาหารการกินของคนในชาติ เพราะอาหารเมียนมาส่วนใหญ่จะมีส่วนผสมของน้ำมันงา น้ำมันถั่ว การทานน้ำอุ่นจึงเป็นตัวช่วยในการล้างความมันของอาหารลงได้

สถานที่ชาวเมียนมานิยมไป คือ ร้านน้ำชา ซึ่งหาได้ทั่วไปตามที่ต่าง ๆ ทั่วเมือง ทั้งริมทาง ใต้ต้นไม้ สถานที่ราชการ ตลาด โดยชาวเมียนมานิยมนัดพบกันตามร้านน้ำชา เพื่อพูดคุย สังสรรค์ หนีอากาศร้อน ๆ ในบ้านออกมารับลมเย็น ๆ ฟังเพลงจากร้านน้ำชา ที่เปิดเพลงตามสมัยนิยม ร้านน้ำชาจึงเป็นมากกว่าขายชา แต่เป็นภาพแทนของรสนิยม วิถีชีวิตชาวเมียนมาอีกด้วย

5.เมียนมามองไทยเป็นศัตรู?

คนไทยบางส่วนอาจมีอคติต่อคนเมียนมาผ่านการนำเสนอข่าวสารและตำราต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงเอาไว้ แต่ในปัจจุบันมุมมองของคนไทยที่มีต่อคนเมียนมาเป็นไปทางบวกมากขึ้น ทั้งสองชาติเข้าใจกันและกันมากขึ้น จากการเข้ามาทำงานของคนเมียนมาที่กลมกลืนไปกับวิถีชีวิตคนไทยมากขึ้นด้วย

แล้วคนเมียนมามองไทยอย่างไร ?

ในทางกลับกันคนเมียนมามองไทยอย่างชื่นชม ว่าเป็นประเทศที่มีความเจริญ ไม่ต่างจากไทยมองญี่ปุ่นหรือยุโรป เพราะคนเมียนมาเองก็อยากพัฒนาบ้านเกิดให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และมองว่าไทยเป็นแหล่งรวมโอกาสที่จะทำให้เขาได้ลืมตาอ้าปาก สามารถส่งเงินกลับไปให้ครอบครัวฝั่งเมียนมาได้ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีกว่า

ภาพ.jpg

นอกจากเรื่องราวของเมียนมาที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว สามารถเรียนรู้ในด้านนาฏกรรมและวิถีชีวิตของชาวโยเดียได้อีก ในละคร “จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี” รับชมได้ครบทุกตอน พร้อมคำบรรยายภาษาไทย/ อังกฤษ/ เมียนมา ทาง www.VIPA.me
▶ รับชมได้ที่นี่ : https://watch.vipa.me/mMnKoVrJtDb  VIPA ทุกความสุข... ดูฟรี ไม่มีโฆษณา
💻 Website: www.VIPA.me
📱 Mobile Application: https://download.vipa.me 

และติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทาง www.thaipbs.or.th/Irrawaddy และละครไทยพีบีเอส www.facebook.com/ThaiPBSDrama


ที่มา
https://www.silpa-mag.com/culture/article_57993
https://readthecloud.co/thailand-and-myanmar/
https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_1636731
https://www.matichonweekly.com/sujit/article_643454
https://www.silpa-mag.com/history/article_27325
https://today.line.me/th/v2/article/MjPJ2V
https://www.silpa-mag.com/history/article_2636
https://www.the101.world/alternative-history-of-ayutthaya/
https://prachatai.com/journal/2017/04/70889
https://m.facebook.com/thailand.and.myanmar/posts/1080908752099066/
https://www.silpa-mag.com/history/article_24475
https://www.facebook.com/230695051101083/posts/463526027817983/?paipv=0&eav=AfbL5fRjKqArcyFuzZ2QSno_J75gLCaStRs1cq_h-XO3i2GeoC9zttosi-H56tda0U4&_rdr
https://www.facebook.com/230695051101083/posts/466464744190778/
https://www.altv.tv/content/pr/61ea499b652f3ccbe2c9aad1
https://www.thaipbs.or.th/program/Yodia/episodes/54580
https://www.the101.world/burmese-in-thailand/
https://www.the101.world/subhatra-bhumiprabhas-interview/
https://www.silpa-mag.com/history/article_17294
https://www.matichonweekly.com/column/article_389343
https://www.thaipbs.or.th/program/Yodia/episodes/54580
https://readthecloud.co/thailand-and-myanmar/
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เมียนมาวัฒนธรรมเมียนมาไทยเมียนมาละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี
Chayanin C
ผู้เขียน: Chayanin C

สาวก Kpop ตัวยงผู้หลงใหลเรื่องราวในอดีต เพราะโลกใบนี้ยังมีอะไรอีกมากมาย

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด