วันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็น "วันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ" ซึ่งตรงกับวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า พระมารดาแห่งการทันตแพทย์แผนไทย
จุดเริ่มต้นที่แท้จริงของวันทันตสาธารณสุขแห่งชาตินี้ เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2512 จากเมื่อครั้งที่สมเด็จย่า ทรงก่อตั้งหน่วยแพทย์อาสา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (พอ.สว.) ขึ้น เพื่อช่วยรักษาพยาบาลประชาชนในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ ทั่วประเทศ เนื่องจากทรงเห็นว่า คนในท้องถิ่นทุรกันดาร เมื่อป่วยเกี่ยวกับโรคฟัน จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้นั่นเอง
ในวันสำคัญนี้ที่เกี่ยวกับทั้งเรื่องฟัน และเรื่องการช่วยเหลือผู้คนในสังคมให้ได้เข้าถึงการรักษาฟันอย่างทั่วถึง Thai PBS care จึงขอชวนคนไทยทุกคนมารู้จัก 6 สิทธิเกี่ยวกับการทำฟันคุณอาจนึกไม่ถึงว่าสามารถเข้ารับบริการได้ฟรี ทั้งสิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือสิทธิ์บัตรทอง
1 เด็กก็มีสิทธิ์บัตรทองใช้รักษารากฟันน้ำนมในเด็กได้
เราอาจคุ้นเคยว่าบัตรทองเป็นหลักประกันสุขภาพสำหรับผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้ว เด็กก็สามารถใช้สิทธิสุขภาพนี้ได้เหมือนกัน ในส่วนของการรักษาฟันนั้น เด็กสามารถรักษารากฟันน้ำนมได้ แม้เราจะเข้าใจกันว่าฟันน้ำนมหลุดไปก็มีฟันแท้ขึ้นทดแทน แต่หากรากฟันน้ำนมเกิดผุ เราสามารถพาเด็กไปรักษารากฟันน้ำนมซึ่งจะมีส่วนช่วยป้องกันหน่อฟันแท้ได้อีกด้วย
2 ฟูลออไรด์ป้องกันฟันผุ ผู้ใหญ่-ผู้สูงอายุก็ทำได้
โดยปกติเราจะคุ้นเคยกับการใช้ฟูลออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก ซึ่งถือเป็นแนวทางการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยปกติแล้วหน่วยงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่จะมีโครงการจัดให้มีการใช้ฟลูออไรด์เพื่อป้องกันฟันผุในเด็ก โดยจะจัดให้มีการทาฟูลออไรด์วาร์นิสในเด็กอายุ 9 เดือน – 5 ปี และเคลือบฟลูออไรด์ในเด็กโตและวัยรุ่น อายุ 6 – 24 ปี ซึ่งจะให้บริการตามสถานพยาบาล ศูนย์เด็กเล็กหรือสถานศึกษา ซึ่งหากเด็กคนไหนยังไม่ได้รับบริการก็สามารถพาไปเข้ารับบริการ
ทั้งนี้ ในกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 25-59 ปี และผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ก็สามารถเข้ารับบริการเคลือบฟลูออไรด์ และทาฟลูออไรซ์วานิชเฉพาะที่เพื่อป้องกันฟันผุได้เช่นกัน โดยสิทธินี้ครอบคลุมทุกสิทธิสุขภาพหลักของประเทศ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- รู้สู้โรค : การเคลือบฟลูออไรด์จำเป็นหรือไม่
3 บัตรทองเพิ่มสิทธิ์ทำรากฟันเทียมแล้ว
เป็นที่รับรู้กันว่ารากฟันเทียมถือเป็นการทำฟันที่มีราคาแพง แต่หลายครั้งเมื่อเวลาผ่านไปโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ การรักษาฟันให้คงสภาพอยู่กับเราอาจทำได้ยาก ฟันที่ค่อย ๆ หลุดร่วงลง ยิ่งกรณีที่หลายคนไม่สามารถปรับตัวใช้ฟันปลอมแบบสวมใส่ได้ นำมาซึ่งฟันที่ค่อย ๆ หลุดจนหมดปาก ปัญหาที่ตามมาคือการไม่มีฟันสำหรับบดเคี้ยวอาหารเนื่องจากไม่สามารถใช้ฟันปลอมได้ รากฟันเทียมกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิต
ผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุที่มีปัญหาการใส่ฟันเทียมทั้งปากตามการวินิจฉัยของแพทย์จะได้รับสิทธิ์ให้สามารถทำรากฟันเทียมเพื่อยึดกับฟันปลอมแบบถอดได้ ช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น กลับมาเคี้ยวอาหารได้อีกครั้ง
4 บัตรทองก็ใช้สิทธิ์ขูดหินปูนได้
โดยปกติหากจะพูดถึงสิทธิ์เกี่ยวกับการทำฟันฟรี เรามักคุ้นชินกับสิทธิประกันสังคมที่มักพบเห็นป้ายคลินิกทำฟันมากมายที่เข้าร่วม และให้บริการให้ผู้ประกันตนสามารถใช้บริการได้ แต่บัตรทองก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยถึงตอนนี้สามารถใช้บริการทั้งอุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เการากฟัน (ตามการวินิจฉัยของแพทย์) รวมถึงผ่าฟันคุด โดยมีกระบวนการที่คุณเพียงพกบัตรประชาชนใบเดียวเข้าไปรับบริการทำฟันตามสิทธิ์ หากสถานพยาบาลตามสิทธิ์ไม่สามารถให้บริการได้ จะมีการส่งตัวไปยังสถานบริการอื่นต่อไป
5 ประกันสังคมมีสิทธิ์ทำฟันมากกว่า 900 บาท
สิทธิ์ทำฟันของประกันสังคมที่เป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดี คงหนีไม่พ้นการขูดหินปูนฟรี 900 บาทต่อปี แต่แท้จริงแล้ว 900 บาท สามรถทำฟันอื่น ๆ ได้ นั่นคือการอุดฟัน ถอนฟัน ผ่าฟัน ก็สามารถทำได้ด้วย แต่โควตา 900 บาท ค่อนข้างจะจำกัดสำหรับการใช้บริการดังกล่าว อีกสิทธิ์ทางทันตกรรมที่ผู้คนอาจไม่ทราบคือสิทธิ์ทำฟันปลอมชนิดถอดได้ตามเงื่อนไข ซึ่งฟันปลอม 1-5 ซี่ จะเบิกได้ไม่เกิน 1300 บาท มากกว่า 5 ซี่ เบิกได้ไม่เกิน 1500 บาท ขณะที่ฟันปลอมทั้งปากจะเบิกได้ไม่เกิน 4,400 บาท ในระยะเวลา 5 ปี
6 ตรวจคัดกรองมะเร็งช่องปากฟรี
มะเร็งถือเป็นภัยสุขภาพสำคัญ ซึ่งมะเร็งช่องปากอาจเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามไป แต่แท้จริงแล้วข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งช่องปากที่ตรวจพบราว 4,440 รายต่อปี หรือราว 12 รายต่อวัน โดยพบมากในภาคอีสานของประเทศไทย มักพบในเพศชายที่อายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงมาจากการเคี้ยวหมากฝรั่ง สูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์
หากคุณมีปัจจัยเสี่ยงข้างต้นควรเข้ารับการตรวจเป็นประจำ เพราะหากตรวจพบก่อนในระยะเริ่มต้นจะช่วยให้การรักษาได้ง่ายกว่าในระยะลุกลาม ผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในกลุ่มผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ อายุ 25-59 ปี สามารถเข้ารับการตรวจได้ฟรี ขณะที่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีสิทธิ์เข้ารับการตรวจคัดกรองนี้ได้ปีละ 1 ครั้ง สำหรับทุกสิทธิสุขภาพ ทั้งบัตรทอง ประกันสังคมรวมถึงสิทธิสวัสดิการข้าราชการ
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
- รู้สู้โรค : การเข้าถึงสิทธิบริการทางทันตกรรม
เกร็ดสุขภาพฟัน รับวันทันตสาธารณสุข
การป้องกันและดูแลฟันด้วยตัวเองถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ฟันของคุณแข็งแรง ความรู้พื้นฐานในการดูแลฟันคือสิ่งสำคัญที่คุณอาจหลงลืมไป ต่อไปนี้คือเกร็ดสุขภาพเกี่ยวกับการดูแลฟันที่คุณควรรู้
- สุขภาพฟันดี แค่เริ่มทำ 6 ข้อนี้
- รู้หรือไม่ ? แปรงฟันหลังกินอาหารทันที ไม่ช่วยให้ฟันแข็งแรงเสมอไป
อ้างอิงข้อมูล
-‘สิทธิบัตรทอง’ ทำฟันไม่เสียค่าใช้จ่าย เข้ารับบริการทันตกรรมได้ทันที แค่มีบัตรประชาชนใบเดียว
-การใช้สิทธิด้านทันตกรรมสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทอง สิทธิ 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
-"อัปเกรดบัตร 30 บาท" เพิ่มสิทธิประโยชน์-คุณภาพรักษา
-เฝ้าระวังมะเร็งช่องปาก โดย ทพญ.คุนันยา พิมลบุตร ทันตแพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ช่องปาก
-สิทธิต้องรู้! ผู้สูงวัยตรวจสุขภาพช่องปาก-คัดกรองมะเร็งช่องปาก ฟรี!
เนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- คนสู้โรค - CHECK-UP สุขภาพ : เช็กสัญญาณเตือนโรคฟันผุ
- คนสู้โรค - CHECK-UP สุขภาพ : เช็กปัญหาจากอาการเสียวฟัน
- คนสู้โรค - รู้สู้โรค : ปัญหาฟันเหลือง
- คนสู้โรค - รู้สู้โรค : ภาวะสูญเสียฟันในผู้สูงอายุ