วันนี้ (11 ตุลาคม 2566) เป็นอีกหนึ่งวันที่มีความสำคัญ เนื่องจากตรงกับวันที่ 11 ตุลาคม ในปี 2511 องค์การนาซา (NASA) ได้ทำการส่ง “อพอลโล 7” (Apollo 7) ซึ่งยานอวกาศลำแรกในปฏิบัติการอพอลโล (Apollo mission) ขึ้นสู่วงโคจรรอบโลก พร้อมด้วยนักบินอวกาศ 3 คน ได้แก่ วอลเตอร์ เชียร์รา (Walter Schirra), ดอนน์ ไอส์ลี (Donn Eisele) และ วอลเตอร์ คันนิงแฮม (Walter Cunningham) โดยปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เวลา 11 วัน มีภารกิจได้แก่ การทดลองส่งภาพจากอวกาศ และการทดลองอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนไปเยือนดวงจันทร์จริง ๆ
ก่อนที่ในปีต่อมา (ปี 2512) นาซาจะสามารถส่งยาน “อพอลโล11” (Apollo 11) ขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้เป็นผลสำเร็จ โดยมี “นีล อาร์มสตรอง” (Neil Armstrong) เป็นมนุษย์คนแรกก้าวลงสู่พื้นผิวหลุมอุกกาบาตของดวงจันทร์
ชวนรู้จักโครงการ “อพอลโล”
สำหรับโครงการอพอลโล (Apollo program) เป็นโครงการที่ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ. เคนเนดี (John F. Kennedy) ของสหรัฐอเมริกา ประกาศเมื่อ ค.ศ. 1961 (ปี 2504) เป็นนโยบายที่สหรัฐอเมริกาจะส่งคนขึ้นไปยังดวงจันทร์และกลับมายังโลกอย่างปลอดภัย โดยองค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ หรือนาซา (NASA) เป็นทีมรับนโยบายนี้ไปดำเนินการ ตั้งเป้าจะทำให้โครงการฯ สำเร็จภายในปี ค.ศ. 1970 (ปี 2513) ทั้งนี้ “โครงการอพอลโล” ทั้งหมดประกอบด้วย
- Apollo 1 (27 มกราคม 2510) เกิดอุบัติเหตุนักบินเสียชีวิต 3 คน
- Apollo 4 ทดสอบโคจรรอบโลก
- Apollo 5 ทดสอบโคจรรอบโลก
- Apollo 6 ทดสอบโคจรรอบโลก
- Apollo 7 ทดสอบโคจรรอบโลกโดยมีนักบิน
- Apollo 8 (21 ธันวาคม 2511) ทดสอบโคจรรอบดวงจันทร์
- Apollo 10 (18 พฤษภาคม 2512) ทดสอบโคจรรอบดวงจันทร์โดยมีนักบิน
- Apollo 11 (16 กรกฎาคม 2512) ลงจอดบนดวงจันทร์ครั้งแรก
- Apollo 12 (14 พฤศจิกายน 2512) ลงจอดบนดวงจันทร์
- Apollo 13 (11 เมษายน 2513) เกิดอุบัติเหตุไม่ได้ลงจอด
- Apollo 14 ลงจอดบนดวงจันทร์
- Apollo 15 ลงจอดบนดวงจันทร์
- Apollo 16 ลงจอดบนดวงจันทร์
- Apollo 17 ลงจอดบนดวงจันทร์ ครั้งสุดท้าย
สาเหตุ "โครงการอพอลโล" สิ้นสุดที่ “Apollo 17”
เนื่องจากเกิดเหตุการณ์สงครามเวียดนามขึ้น สหรัฐอเมริกาจึงได้ยกเลิกโครงการ “Apollo 18-20” ไป จึงส่งผลให้ยังไม่มีมนุษย์คนใดไปเยือน “ดวงจันทร์” อีกเลย แต่ล่าสุดโครงการอาร์ทิมิส (Artemis program) ได้ตั้งเป้าหมายพามนุษย์ไปเหยียบ “ดวงจันทร์” อีกครั้ง ภายในปี 2568 มาร่วมลุ้นกันว่าโครงการนี้จะประสบความสำเร็จหรือไม่...
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ ThaiPBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สวทช., NASA