กำเนิด "กระทิงแดง" อาชีวะเลือกข้างทหาร แยกทางกับนักศึกษา


ประวัติศาสตร์

9 ต.ค. 66

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

กำเนิด "กระทิงแดง" อาชีวะเลือกข้างทหาร แยกทางกับนักศึกษา

https://www.thaipbs.or.th/now/content/408

กำเนิด "กระทิงแดง" อาชีวะเลือกข้างทหาร แยกทางกับนักศึกษา
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

กระทิงแดง คือหนึ่งในหลายกลุ่มที่ถูกสันนิษฐานว่ามีส่วนร่วมใช้ความรุนแรงในวันนั้น จนถูกขนานนามว่าเป็นเหตุการณ์ “ขวาพิฆาตซ้าย” เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519

หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ยุติแต่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากหลายฝ่ายในประเทศกลับไม่ได้ยุติไปด้วยเพราะยังปรากฏการณ์เคลื่อนไหวแบ่งฝักแบ่งฝ่ายอย่างชัด กอปรสถานการณ์การเมืองโลกก็ยังระอุเพราะแนวคิดเสรีประชาธิปไตยกับคอมมิวนิสต์ยังขับเคี่ยวกันในหลายประเทศ รวมทั้งสถานการณ์ประเทศเพื่อนบ้านของไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง และอาจส่งผลกระทบถึงประเทศไทย ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้การแตกแยกทางความคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองของคนรุ่นใหม่กับคนวัยอื่น ๆ ในสังคมไทยร้าวฉานและมีการใช้ความรุนแรงจนเกิดการเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

ขณะเดียวกันขบวนการนักศึกษาที่เคลื่อนไหวต่อต้านระบบเผด็จการในยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร  มีบทบาทสูงกับสังคมไทยในช่วงนั้นและประชาธิปไตยของไทยจะเริ่มตั้งลำได้ (มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญและมีการเลือกตั้ง 4 เมษายน พ.ศ. 2519) แม้นักศึกษาบางส่วนจะหลบหนีแยกตัวไปเคลื่อนไหวในหลายพื้นที่ของประเทศ (พื้นที่สีแดง และพื้นที่สีชมพู) ร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย จึงเกิดความพยายามของบางฝ่ายในประเทศและการร่วมมือในทางลับกับบางองค์กรต่างชาติ ในการจับมือการกวาดล้างขบวนการนักศึกษาบางส่วน เพราะเชื่อว่าได้รับการสนับสนุนจากระบอบคอมมิวนิสต์และหากการเคลื่อนไหวนี้บรรลุผลประเทศไทยจะกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์

โดยมีการแยกนักเรียนอาชีวะ ที่เป็นกำลังหลักส่วนหนึ่งในการเคลื่อนไหวเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ออกจากนักศึกษา แล้วจัดตั้งกลุ่มนักเรียนอาชีวะในนามกลุ่มกระทิงแดง เป็นแกนกลางในการก่อกวนขบวนการนักศึกษาด้วยอาวุธ และความรุนแรง (กลุ่มกระทิงแดง ก่อตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2517 ระหว่างที่ขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญ ให้ประชาชนอายุ 18 ปี มีสิทธิเลือกตั้ง)

กลุ่มกระทิงแดงนั้นมีข้อมูลหลายฝ่ายบันทึกไว้ว่า กลุ่มนี้ประกอบด้วยอันธพาลในคราบนักเรียนอาชีวะ ได้รับการสนับสนุนและจัดตั้ง จากเจ้าหน้าที่อาวุโสในกองทัพ คือสโกแกนของกลุ่มกระทิงแดงที่แต่งขึ้นคือ "อยู่สุขเถิดประชา กระทิงแดงกล้าจะคุ้มภัย"  ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับสโลแกนของกองทัพ “สุขเถิดปวงประชา ทหารกล้าจะคุ้มภัย”

โดยจุดกำเนิดกลุ่มกระทิงแดง เพื่อต่อต้านฝ่ายนักศึกษา เพราะมองว่าฝ่ายนักศึกษาพยายามเปลี่ยนทิศทางของประเทศประเทศให้ตกอยู่ในภาวะคอมมิวนิสต์แทรกแซง ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 กระทิงแดงก็เป็นด่านหน้าสุด ที่ร่วมกับกองกำลังตำรวจตระเวนชายแดนเข้าบุกปราบปรามนักศึกษา

นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งกลุ่มต่าง ๆ เพิ่มเติมอีกมาก โดยมีเป้าหมายร่วมกันในการทำลายขบวนการนักศึกษา กลุ่มต่างๆ เหล่านี้ มีจำนวนมาก และได้รับการสนับสนุนอันดียิ่งจากอำนาจและกลไกของรัฐในขณะนั้น ที่สามารถระบุชื่อได้ เช่น กลุ่มนวพล ชมรมอาชีวะเสรี กลุ่มลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มเพ็ชรไทย กลุ่มช้างดำ กลุ่มพิทักษ์ไทย สหพันธ์นักศึกษาครูแห่งประเทศไทย กลุ่มแนวร่วมรักชาติ กลุ่มประชาชนผู้รักชาติ กลุ่มแนวร่วมต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบ ขบวนการปฏิรูปแห่งชาติ สหพันธ์ครูอาชีวะ กลุ่มกรรมกรเสรี กลุ่มค้างคาวไทย กลุ่มกล้วยไม้ไทย กลุ่มวิหคสายฟ้า กลุ่มสหภาพแรงงานเอกชน ชมรมแม่บ้าน

คำขวัญที่ฝ่ายขวา (อนุรักษนิยมในไทย) นำมาใช้เผยแพร่จนรับรู้กันว่า "ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป" ถูกปลุกเร้าจากสื่อมวลชนบางแขนงและมีกระแสตอบรับจนฝ่ายซ้าย (ขบวนการนักศึกษา) เสียเปรียบ และอีกหนึ่งชนวนเหตุที่ทำให้การเสียเลือดเนื้อบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องบันทึกไว้คือ เมื่อจอมพลถนอมจะที่หลบหนีไปต่างประเทศจะขอกลับประเทศเพื่อดูแลบิดาที่ป่วย โดยช่วงนั้น จอมพลประภาส จารุเสถียร เดินทางกลับเข้าประเทศมาก่อน จึงเกิดการต่อต้านและขยายตัวไปเป็นการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่มกระทิงแดงได้ล้อมอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัยพร้อมอาวุธแต่เหตุการณ์สงบลงเมื่อพลเอกประภาสเดินทางออกไปนอกประเทศอีกครั้ง การชุมนุมจึงสลายตัว ในวันที่ 22 สิงหาคม 2519

19 กันยายน 2519 จอมพลถนอม กลับเข้าประเทศ โดยบวชเป็นสามเณรมาจากสิงคโปร์ และได้รับการบวชที่วัดบวรนิเวศจนได้รับฉายา สุกิตติขจโรภิกษุ วิทยุยานเกราะได้ตักเตือนไม่ให้นักศึกษาก่อความวุ่นวาย มิฉะนั้นแล้วอาจจะต้องมีการประหารสักสามหมื่นคน เพื่อให้ชาติบ้านเมืองรอดพ้นจากภัยแต่ขบวนการนักศึกษายังต่อต้านและเรียกร้องให้นำตัวจอมพลถนอมมาดำเนินคดีให้ได้

5 ตุลาคม 2519 นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เคลื่อนขบวนมุ่งสู่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และประกาศงดสอบทุกสถาบัน เพื่อต่อต้านการที่พระถนอมกลับเข้าประเทศหลังหลบหนีไปจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2516 และช่วงนั้นหนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการ “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” จนเกิดการปลุกเร้าและปิดล้อมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของประเทศ 

และเหตุผลดังกล่าวทำให้เกิดแรงผลักที่ส่งไปยังนักศึกษาจำนวนมากที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาล ต้องหนีเข้าป่าเป็นแนวร่วมของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย เพราะผู้ที่มีความคิดขัดแย้งกับรัฐบาลจะถูกข้อหา "เป็นภัยสังคม" และใช้เวลาหลายปีในการแก้ไขเยียวยาจนบรรลุผลจากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 ทำให้บรรยากาศประชาธิปไตยและความแตกแยกในสังคมไทยคลี่คลายลงไป
.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

6 ตุลา 1914 ตุลา 16
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด