10 ตุลาคม "วันสุขภาพจิตโลก" แนะนำแอปพลิเคชัน เช็กสุขภาพจิต ดูแลสุขภาพใจ ฟรี !


Logo Thai PBS
แชร์

10 ตุลาคม "วันสุขภาพจิตโลก" แนะนำแอปพลิเคชัน เช็กสุขภาพจิต ดูแลสุขภาพใจ ฟรี !

https://www.thaipbs.or.th/now/content/403

10 ตุลาคม "วันสุขภาพจิตโลก" แนะนำแอปพลิเคชัน เช็กสุขภาพจิต ดูแลสุขภาพใจ ฟรี !
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

10 ตุลาคม เป็นวันสุขภาพจิตโลก (World Mental Health Day) ประกาศครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2535 เพื่อให้ทุกคนได้เห็นความสำคัญของสุขภาพจิต เพราะ "สุขภาพจิต" นับ “สิทธิขั้นพื้นฐาน” ที่คนทุกคนควรได้รับการดูแล แต่จะมีสักกี่คนที่สามารถเข้าถึงบริการและความช่วยเหลือได้ เพราะบางคนกว่าจะรู้ตัวว่าต้องการความช่วยเหลือก็สายเกินไปเสียแล้ว

Thai PBS Sci & Tech มีแอปพลิเคชันดูแลสุขภาพและเช็กสุขภาพจิตให้แข็งแรงมาแนะนำ เพื่อให้ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีเครื่องมือในการดูแลสุขภาพใจเบื้องต้น สามารถใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย โดยไม่จำเป็นต้องเปิดเผยตัวตน ที่สำคัญก็คือไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ด้วย 

DMIND คัดกรองผู้มีภาวะซึมเศร้า

แอปพลิเคชันสำหรับคัดกรองผู้ที่มี “ภาวะซึมเศร้า” ที่พัฒนาโดยคณะแพทย์ศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรม (UTC) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมี “หมอพอดี” ซึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ถูกออกแบบมาเป็นเพื่อนที่พร้อมรับฟังทุกความรู้สึก และสามารถประเมินระดับความเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า จากลักษณะการแสดงออกทางหน้าตา น้ำเสียง และข้อความ ในรูปแบบของการพูดคุย ทำให้รู้สึกเหมือน ได้ระบายกับคนจริง ๆ ทำให้มีความถูกต้อง แม่นยำ ช่วยลดขั้นตอนในการวินิจฉัยของแพทย์

“หมอพอดี” สามารถปรึกษาได้ทุกที่ ทุกเวลา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยคลิกเข้าไปได้ที่ https://mental.agnoshealth.com/ จากนั้น ระบบจะให้ทำแบบทดสอบเพื่อประเมินผลเบื้องต้น เมื่อระบบประมวลผลจากคำตอบของเราเสร็จแล้วนั้น จะพาเราเข้าไปพบเจอกับ “หมอพอดี” ระบบสัมภาษณ์อัตโนมัติจะแสดงตัวตนคุณหมอจำลอง (Avatar) ซึ่งเราสามารถตอบคำถาม หรือพูดคุยกับหมอจำลองได้ทุกเรื่อง การพูดคุยกับหมอพอดีจะทำให้ผลการวิเคราะห์แม่นยำมากยิ่งขึ้น

สำหรับขั้นตอนการสัมภาษณ์ ให้เรามองไปที่คุณหมอจำลองและฟังคำถาม จากนั้น เมื่อคุณหมอพูดจบ ให้เราตอบคำถามได้ทันที ในกรณีที่ต้องการฟังคำถามอีกครั้งให้ กดปุ่ม “ฟังคำถามอีกครั้ง” และเมื่อเราตอบคำถามเสร็จแล้วให้ กดปุ่ม “ตอบคำถามเสร็จแล้ว” และย้ำว่าให้เรามองที่คุณหมอ โดยมีระดับใบหน้าให้อยู่หน้าจอเสมอ เพื่อประเมินลักษณะท่าทาง การแสดงออกผ่านหน้าตา โดยขั้นตอนการพูดคุยจะใช้เวลาประมาณ 5 - 10 นาที และสามารถยุติการสัมภาษณ์เมื่อใดก็ได้ 

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าต้องเปิดสิทธิ์ให้เข้าถึงกล้องและไมค์ด้วย ไม่อย่างนั้นระบบจะประเมินไม่ได้ ส่วนข้อมูลภาพและเสียงจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงโรคซึมเศร้าเท่านั้น

PSYJAI “เรื่องในใจ ไม่รู้จะคุยกับใคร AI ใส่ใจ ช่วยได้”

“ใส่ใจ” เป็นหุ่นยนต์โต้ตอบอัตโนมัติ รุ่นไฮบริด ที่อยู่ในรูปแบบแชตบอตปัญญาประดิษฐ์ (AI) เวอร์ชัน LINE พัฒนามาจากเวอร์ชัน Page Facebook ที่ช่วยเหลือเรื่องสุขภาพจิตแบบครบวงจร ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยศูนย์เทคโนโลยีและนวัตกรรมสุขภาพจิตประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ และภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยามหิดล ได้นำความรู้ด้านจิตวิทยา ปัญญาประดิษฐ์ การประมวลผลภาษาธรรมชาติ และ Machine Learning เข้าไว้ด้วยกัน เป็นเพื่อนคุยที่สามารถประเมินภาวะอารมณ์และให้ความช่วยเหลือด้านจิตใจ ในระดับเบื้องต้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ครอบคลุมมากกว่า 100 บทสนทนา โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

“ใส่ใจ” ทำอะไรได้บ้าง ?

“ใส่ใจ” สามารถช่วยดูแลสุขภาพจิตครบวงจรผ่าน 4 เมนูหลัก ได้แก่

  • Screening ประเมินสุขภาพจิต อารมณ์เศร้า เครียด กังวล
  • Chitchat คุยเล่น เป็นเพื่อนยามเหงา ชวนหัวเราะและปลอบใจ
  • Mind Exercise ฝึกฝนทักษะในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมสุขภาพกายและใจตามหลักจิตวิทยา
  • Intervention สำรวจปัญหา วิธีคิด แนวทางแก้ปัญหา ปรับความคิด ผ่อนคลายอารมณ์ และอื่น ๆ ตามหลักจิตวิทยา

สำหรับขั้นตอนการเข้ารับบริการ สามารถแอด LINE Official ได้ที่ ID  @psyjaibot แล้วคุยกับใส่ใจได้เลย พร้อมรับฟัง 24 ชั่วโมง ไม่มีค่าใช้จ่าย เสมือนมีเพื่อนเป็นนักจิตวิทยาอยู่ข้างกาย

ที่มา : กรมสุขภาพจิต, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, Psyjai

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech วันสำคัญวันสุขภาพจิตโลกThai PBS On This Day
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด