ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ว้าวุ่นกันทั้งโลก ! มนุษย์ หรือ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ?


บทความพิเศษ

8 ก.ย. 66

Thai PBS Sci & Tech

Logo Thai PBS
แชร์

ว้าวุ่นกันทั้งโลก ! มนุษย์ หรือ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/306

ว้าวุ่นกันทั้งโลก ! มนุษย์ หรือ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ผ่านไปจากนี้อีก 2-3 ปี เชื่อว่าตื่นเช้ามาเข้า Facebook มาดู คุณจะไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือของจริงหรือของปลอม ผมสามารถเอาหน้าคุณเศรษฐา มาพูดด้วยน้ำเสียงคุณเศรษฐา แล้วพูดอะไรที่ไม่ใช่เรื่องจริงได้แบบง่าย ๆ มากเลย ในโลกยุคนี้” และนี่คือคำกล่าวของผู้ที่อยู่ในแวดวงการทำ AI

วันนี้ Thai PBS Sci And Tech ได้มีโอกาสฟังบรรยายในโครงการพัฒนานวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ : Mahidol Friendly Disability ครั้งที่ 3 ซึ่งได้มีการบรรยายเกี่ยวกับนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการสร้างโอกาสให้คนพิการ พร้อมทั้งได้สัมภาษณ์พิเศษวิทยากรที่มาบรรยายในครั้งนี้ 

“นิรันดร์ ประวิทย์ธนา” CEO AVA Advisory Group & CBO Vulcan Coalition พาย้อนไปดูการพัฒนาการด้านอารยธรรมของโลก

  • เริ่มต้นอารยธรรม ช่วง 10,000 ปี ก่อนคริสตกาล บนโลกมีประชากร 2 ล้านคนคนเริ่มเพาะปลูก ทำการเกษตรปัจจัยของพัฒนาการระบบเศรษฐกิจ ประกอบไปด้วย “พลังงาน” และ “แรงงานมนุษย์”
  • ช่วงมีศตวรรษที่ 17 ปี 1780 ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม พลังงานจากการใช้ไฟ เปลี่ยนเป็นพลังงานจากฟอสซิล ถ่านหิน เกิดการผลิตเครื่องจักรไอน้ำ ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 800 ล้านคน เกิดการเริ่มต้นของอุตสาหกรรมในสังคมโลก
  • อีก 120 ปีต่อมา ในปี 1900 พลังงานจากถ่านหินเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า มีโรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าระบบสายพาน ประชากรโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1,600 ล้านคน
  • อีก 90 ปีต่อมา ในปี 1990 ยุคอินเทอร์เน็ต โลกเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร การใช้พลังงานใช้กับ Information เป็นหลัก มีอินเทอร์เน็ต โรงงานใช้พลังงานนิวเคลียร์ฟิชชั่น ประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 6,000 ล้านคน
  • “ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง จะเกิดคนที่พ่ายแพ้อย่างรุนแรง และคนที่ชนะอย่างเด็ดขาด อย่างสมัยที่คนใช้พลังงานจากถ่านหิน คนยุโรปจะ ใช้ไขมันปลาวาฬมาใช้เป็นพลังงาน พอค้นพบถ่านหินอาชีพนักล่าปลาวาฬก็หายไป ดังนั้น ทุก ๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอาชีพใหม่จะเกิดขึ้น อาชีพเก่าจะหายไป”
  • การเปลี่ยนจากยุคอินเทอร์เน็ตไปสู่ยุค AI การเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง โดยมีการคาดการณ์ว่า ไม่เกินปี 2030 โลกจะเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งจะเป็น “ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” ที่ปัจจัยการผลิตไม่ได้เกิดจาก “พลังงานและแรงงานมนุษย์” อีกต่อไปแล้ว
  • คาดการณ์อีก 40 ปีต่อมา ในปี 2030 เข้าสู่ยุคหุ่นยนต์ การใช้พลังงานทดแทน ประชากรโลกเพิ่มเป็น 8,300 ล้านคน ความเสี่ยงที่จะตกงานอย่างรุนแรงทั่วโลกเกิดขึ้น
  • คาดการณ์อีก 20 ปีต่อมา ในปี 2050 การใช้นาโนเทคโนโลยี พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชั่น หุ่นยนต์นาโน ประชากรโลกเพิ่มเป็น 9,400 ล้านคน

“ยุคการเกษตรคนมีลูกมากเพื่อนำมาใช้แรงงานช่วยกันทำงาน พอเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรมก็ใช้คนช่วยผลิต ทุกยุคมีการใช้แรงงานเยอะ ทำให้ประชากรเพิ่มขึ้น แต่ที่น่าสนใจก็คือว่าอีกไม่เกิน 5 ปี ต่อจากนี้ ระบบเศรษฐกิจโลกจะเติบโตได้ โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน” 

“นิรันดร์ ประวิทย์ธนา” CEO AVA Advisory Group & CBO Vulcan Coalition

อุตสาหกรรมเหล่านี้จะถูก Disrupt ?

คุณนิรันดร์ ยกอย่างน้อย 15 อุตสาหกรรมที่เริ่มมีการใช้ AI เข้ามาแทนมนุษย์แล้ว

  1. Autonomous Driving รถยนต์ไม่จำเป็นต้องมีคนขับแล้ว ขณะที่ ปัจจุบันคนจำนวนมากยึดอาชีพขับรถเป็นหลัก เช่น แท็กซี่ ดิลิเวอรี่ รถรับจ้าง หากมีรถยนต์อัตโนมัติก็เสี่ยงที่จะตกงาน
  2. การขนส่งสินค้า เช่น ไปรษณีย์ บริษัทขนส่งสินค้า ขนส่งอาหาร เริ่มมีโดรนส่งสินค้าแล้วในสหรัฐอเมริกา 
  3. ขนส่งทางอากาศ โดรนขนาดใหญ่สามารถเดินทางทางอากาศในระยะทางสั้น ๆ ได้ การเดินทางในระยะทางที่ไม่ไกลมากอาจจะไม่ต้องขึ้นเครื่องบินแล้ว สามารถนั่งโดรนแท็กซี่ได้
  4. การผลิต ช่วงที่บริษัทรถยนต์ไฟฟ้าใช้หุ่นยนต์ผลิต แต่เกิดปัญหาขึ้นหลายกรณี เพราะเครื่องจักรมีข้อจำกัดเยอะและยังไม่ดีพอ จึงเปลี่ยนใช้มนุษย์เป็นผู้ผลิต ขณะที่หลายบริษัทในจีนเริ่มใช้ Robotic ในงานที่ละเอียดอ่อน และราคาเริ่มต่ำลงมาเรื่อย ๆ   
  5. คลังสินค้า 
  6. ระบบบริการลูกค้า ใช้ ChatGPT แทน Call Center หรือ Admin Page เพียงสอน AI เกี่ยวกับรายละเอียดงาน วิธีการใช้ ถาม-ตอบข้อมูลสินค้า ปัญหา และข้อมูลบริษัท AI ก็สามารถตอบคำถามแทนมนุษย์ได้ เพราะ 80% ของปัญหามักจะเกิดคำถามซ้ำ ๆ และลดแรงงานมนุษย์ให้ตอบคำถาม 20% ที่ AI ทำไม่ได้ 
  7. ค้าปลีก เริ่มมีการใช้ระบบสแกนจ่ายโดยไม่ต้องมีพนักงานขาย
  8. กฎหมาย นำมาช่วยค้นหาข้อมูล หาเอกสาร สรุปรายงาน
  9. บัญชี ประกันภัย ใช้ AI มาช่วยในการประมวลผล การคำนวณค่าเบี้ยประกันในแต่ละกรมธรรม์ 
  10. การแพทย์ มนุษย์ย่อมมีความเหนื่อยล้าเมื่อต้องทำงานเป็นเวลานาน ๆ โดยเฉพาะการผ่าตัด ล่าสุดมีหุ่นยนต์ที่ชื่อว่า “Da Vinci” นำมาช่วยผ่าตัดแทนแพทย์แล้ว
  11. การก่อสร้าง โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติสร้างงานด้วยเวลาอันรวดเร็ว
  12. การเกษตร คนบริโภคเยอะขึ้นจากจำนวนประชากรมากขึ้น ความคิดเดิมที่ว่าเกษตรกรจะอยู่รอดได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว การปลูก การเก็บผลผลิต และการตัดต่อพันธุกรรม สามารถทำได้ด้วยการวิเคราะห์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ แม้กระทั่งพื้นที่ทะเลทรายก็สามารถทำเกษตรกรรมได้เช่นกัน
  13. ธนาคาร พบว่าธนาคารหลายแห่งเริ่มใช้ Call Center เป็น AI แล้ว โดยมีความเห็นอกเห็นใจ เข้าใจเซอร์วิสมายด์ได้เหมือนมนุษย์ อนาคตอาจจะลดจำนวนสาขาลง
  14. การลงทุน สามารถให้ AI ช่วยคัดกรอง วิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ หลาย ๆ บริษัท เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจ
  15. การทหาร การก่อการร้าย เช่น โดรนระเบิด สร้างรูปปลอม เสียงปลอม Deep Fake หรือการใช้ AI หลอกให้โอนเงิน

 อัตราการใช้หุ่นยนต์ต่อแรงงาน 100 คน ในอุตสาหกรรมการผลิต ข้อมูลปี 2015
 

ถกกันไม่จบ ! มนุษย์ กับ AI ใครเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

ขยับมาพูดคุยกันหลังไมค์กับวิทยากรคนเก่ง เมื่อถามเกี่ยวกับเรื่อง AI กับงานศิลปะ เพราะหากใช้ AI สร้างสรรค์ผลงานแล้ว สามารถจดลิขสิทธิ์ได้หรือไม่ ? โดยคุณนิรันดร์ ระบุว่า ถ้าอ้างอิงตามกฎหมาย ณ ตอนนี้ ผลงานที่มาจาก AI ยังจดลิขสิทธิ์ไม่ได้ ยกเว้นแต่ว่า AI เป็นแค่กระบวนการหนึ่งในการสร้างสรรค์ ยกตัวอย่างเช่น การสร้างภาพ Virtual Reality มีกระบวนการทำงานหลายขั้นตอน โดยมี AI เป็นหนึ่งในกระบวนการนั้น และนำมาแต่งภาพต่อ หรือทำอะไรบางอย่างเพิ่มเติม ในกรณี AI เป็นแค่กระบวนการหนึ่ง สุดท้ายการสร้างสรรค์ยังเกิดจากมนุษย์อยู่ ในกรณีแบบนี้ สามารถจดลิขสิทธิ์ได้

นึกภาพว่า บริษัท ๆ หนึ่ง มีขั้นตอนการทำงาน Generate AI เขียน Prompt มีกระบวนการทำงานต่าง ๆ ลิขสิทธิ์ก็จะเป็นของบริษัท A ซึ่งเป็นกระบวนการผลิต โดยหากถูกสร้างโดย AI โดยไม่ผ่านการสร้างสรรค์ของมนุษย์เลย ในกรณีนั้น “ไม่มีลิขสิทธิ์”

ภาพจาก AI โดยใช้ใบหน้าของบุคคลดังของประเทศไทย

แต่ถ้า AI เป็นแค่กระบวนการหนึ่งในการทำงาน แล้วมันยังต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น ถ่ายภาพนางแบบมา แล้วเปลี่ยนภาพนางแบบให้เป็นภาพ AI หลังจากนั้น มีการปรับรีทัชภาพ เพิ่มเติมกระบวนการต่าง ๆ เข้าไป กรณีถือเป็นการสร้างสรรค์ของมนุษย์ AI เป็นแค่เครื่องมือที่ใช้ในการสร้าง

ขณะเดียวกัน ขั้นตอนของการฝึก AI ต้องใช้ข้อมูลมหาศาล อย่างเช่นการใช้ AI สร้างภาพนั้น ต้องฝึก AI เรียนรู้ภาพในอินเทอร์เน็ตทั้งหมด และเลือกมาใช้ราว 5 พันล้านภาพ ซึ่งแน่นอนว่าในจำนวนนี้ล้วนแล้วแต่มีผลงานที่มีลิขสิทธิ์และไม่มีลิขสิทธิ์ ดังนั้น การใช้ผลงานที่มีลิขสิทธิ์มาสอน AI ผิดไหม ?

คุณนิรันดร์ อธิบายว่า ขณะนี้ที่สหรัฐอเมริกากำลังฟ้องร้องเรื่องนี้กันอยู่ ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจน แต่เริ่มมีบางบริษัทอย่างเช่น Adobe เริ่มใช้เฉพาะภาพที่ถูกต้องตามลิขสิทธิ์มาสอน AI อย่างเดียว

“แต่ต้องบอกอย่างนี้ เวลาคุณเรียนรู้จากข้อมูลที่มีลิขสิทธิ์ มันเหมือนมนุษย์ ผมบอกว่าผมชอบผลงานของอาจารย์ท่านนี้มากเลย ผมเรียนรู้จากภาพของอาจารย์ แล้วผมวาดภาพของตัวเองเลียนแบบภาพของอาจารย์ คำถามคือ ผมผิดลิขสิทธิ์ไหม ?

นี่คือการตีความว่าการที่ AI เรียนสไตล์ของภาพจากศิลปินคนนั้น แล้วสร้างภาพใหม่ขึ้นมา มันคือการลอกเลียนหรือเปล่า หรือมันคือ Paraphrase แต่ถ้านิยามว่าเป็น Paraphrase การปรับเปลี่ยนเพื่อให้แตกต่างออกไป มันก็จะไม่ผิดลิขสิทธิ์ ซึ่งตอนนี้ศาลที่สหรัฐอเมริกายังถกเถียงเรื่องนี้กันอยู่เยอะมาก ๆ" 

เขียนคำสั่งให้ AI สร้างภาพแวนโก๊ะ เล่นบาส

ปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน อยู่ให้รอดในยุค AI

มันมีคนที่พร้อมที่จะหาประโยชน์จากของที่คุณมีอยู่ คำถามคือ คุณจะอยู่รอดอย่างไร ? 

คุณนิรันดร์ เล่าว่าถึงวันหนึ่งที่จะต้องปรับตัวเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของตัวเอง เพื่อให้มันสอดคล้องไปกับโลกในอนาคต คิดว่าสิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน ช่างภาพ ก็คงต้องเริ่มเรียนรู้แล้วว่า เราจะอยู่ในโลกแบบนี้อย่างไรต่อไปในอนาคต ต้องยอมรับว่าเป็นพื้นที่ที่กฎหมายยังตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่ถึงวันหนึ่งเชื่อว่าต้องมีกลไกทางกฎหมายควบคุม และก็เจ้าของศิลปินหรือช่างภาพเองก็ต้องปรับตัว เพื่อที่จะสามารถเดินไปกับโลกที่มันเปลี่ยนแปลงไปได้ด้วย

ถามว่าต้องปรับตัวอย่างไรนั้น คงตอบแทนศิลปินไม่ได้ แต่คิดว่าอาจจะต้องจำเป็นต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเอง และให้ AI ในการช่วยสร้างสรรค์ผลงาน ศิลปินหลายคนในต่างประเทศก็เริ่มแล้ว เริ่มเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ไม่ต้องเสียเวลามาลงฝีแปรงเอง ให้ AI ทำ ส่วนหน้าที่ของศิลปินคือการสร้างไอเดีย วางไกด์ไลน์ ใส่ไอเดียให้สร้างภาพออกมา เพื่อตอบสนองต่อจินตนาการของศิลปิน

แต่ผมคิดว่าปรับตัวเป็นเรื่องยาก และบางอย่างต้องยอมรับว่า “อาจจะปรับตัวไม่ได้เลย” 

ผลงานจาก AI ที่ใช้สไตล์การวาดของปิกัสโซ

มนุษยชาติจะเป็นอย่างไร บนโลกที่มี AI

เมื่อถามถึงอนาคตมนุษยชาติ จะเป็นอย่างไรบนโลกที่มี AI ? คุณนิรันดร์ กล่าวว่า เรียกว่าความวุ่นวาย น่าจะปั่นป่วน อย่างที่บอกเทคโนโลยีพวกนี้เกิดมาไม่ถึง 2 ปี ผ่านไปจากนี้อีก 2-3 ปี เชื่อว่าตื่นเช้ามาเข้า Facebook มาดู คุณจะไม่รู้ว่าสิ่งนี้คือของจริงหรือของปลอม ผมสามารถเอาหน้าคุณเศรษฐา มาพูดด้วยน้ำเสียงคุณเศรษฐา แล้วพูดอะไรที่ไม่ใช่เรื่องจริงได้แบบง่าย ๆ มากเลย ในโลกยุคนี้ ซึ่งมันจะมีมากขึ้น และมันจะแนบเนียนขึ้นเรื่อย ๆ จนคุณแยกไม่ออก ถึงวันหนึ่งคุณจะแยกไม่ออกแล้วว่า อะไรมันมากจากมนุษย์หรืออะไรมันมาจาก AI

ขณะที่ เมื่อถามถึงการป้องกัน การตรวจจับนั้น ขณะนี้หลายบริษัทได้สร้างตำรวจ AI ขึ้นมาเป็น AI ที่จับผิด AI ด้วยกัน แต่ต้องยอมรับว่า AI พวกนี้ ในภาษาเทคนิคเขาเรียกว่า แกน เป็นเทคโนโลยีแบบหนึ่งที่ใช้ตำรวจกับโจร โดยโจรสร้างภาพปลอม แล้วตำรวจมาจับผิด พอตำรวจจับผิด โจรเรียนรู้จากตำรวจทำให้เนียนขึ้น จนตำรวจจับไม่ได้ ตำรวจก็ต้องไปเรียนรู้เพื่อจับผิดใหม่ วนลูปนี้ 

“ยิ่งตำรวจเก่งแค่ไหนโจรก็จะยิ่งเก่งแค่นั้น แปลว่าในเชิงทฤษฎีแล้ว ถึงวันหนึ่งคุณจะแยกไม่ออก ไม่ว่าเครื่องมือจับผิดของคุณจะดีแค่ไหน โจรก็จะเรียนรู้ที่จะหนีจากการจับผิดของคุณ และสร้างสิ่งที่มันแนบเนียนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนท้ายสุดแล้ว ในเชิงทฤษฎีคุณจะจับผิดไม่ได้” ผู้ที่อยู่ในแวดวง AI ยังห่วงขนาดนี้ คงถึงเวลาที่มนุษยชาติจะต้องหาทางรับมือกับหุ่นยนต์กันแล้ว

กล่าวโดยสรุป AI มีประโยชน์มหาศาลต่อมนุษยชาติ แต่ขณะเดียวกันเป็นภัยคุกคามอย่างรุนแรง

AI ที่เนียนจนแยกไม่ออก

ภาพประกอบบทความจากสไลด์การบรรยายหัวข้อ “เข้าใจ AI-GENERATIVE ART เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ” โดย สุธัช เจริญผล Chief Generative Art Officer บริษัท VulcanX 

อ่านเพิ่มเติม
งานศิลปะจาก AI ลิขสิทธิ์เป็นของใคร ศิลปินปรับตัวอย่างไรเมื่อ AI ครองโลก

-----------------------------
.
🌏 “รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ #ThaiPBSSciAndTech
 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Thai PBS Sci & Tech Thai PBS Sci And Tech AIAI วาดรูปกฎหมายลิขสิทธิ์
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด