ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ตรวจสอบพบ : คลิป AI อ้างหมอชื่อดังถูกจับ เหตุเผยสูตรยาความดันสูงกินแล้วหายใน 3 วัน


Verify

17 ก.พ. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ตรวจสอบพบ : คลิป AI อ้างหมอชื่อดังถูกจับ เหตุเผยสูตรยาความดันสูงกินแล้วหายใน 3 วัน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2331

ตรวจสอบพบ : คลิป AI อ้างหมอชื่อดังถูกจับ เหตุเผยสูตรยาความดันสูงกินแล้วหายใน 3 วัน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กปลอม โพสต์คลิปอ้างรายการข่าวของ Thai PBS ออกข่าวหมอชื่อดังถูกจับ เหตุออกมาเปิดเผยสูตรยารักษาความดันโลหิตสูงหายภายใน 3 วัน จนบริษัทยากลั่นแกล้ง ตรวจสอบพบเป็นคลิปปลอมด้วย "AI Deepfake"

แหล่งที่มา : Facebook

ภาพบันทึกหน้าจอโฆษณาเฟซบุ๊กโพสต์คลิปปลอม

กระบวนการตรวจสอบ

Thai PBS Verify พบโฆษณาจากเพจชื่อ "ดร.บุญชัยคำคม" โพสต์คลิปวิดีโอ โดยระบุข้อความว่า

"คุณไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าความจริงที่น่าตกใจซ่อนอยู่เบื้องหลังบริษัทเภสัชกรรมคืออะไร! คุณรู้หรือไม่ว่าผู้ป่วยความดันโลหิตสูงนับล้านคนกลายเป็นเหยื่อของระบบที่บังคับให้พวกเขาใช้เงินจำนวนมหาศาลไปกับยาที่ไม่สามารถรักษาโรคได้? วิดีโอนี้จะเปิดเผยความจริงทั้งหมดที่บริษัทเหล่านี้พยายามลบออกจากอินเทอร์เน็ต

ทุกวันของการรอช้าไม่ได้ทำให้คุณเสียแค่เงิน แต่ยังรวมถึงสุขภาพของคุณ และอาจถึงชีวิต! ดูวิดีโอนี้ให้จบเพื่อค้นพบวิธีที่คุณสามารถกำจัดปัญหาความดันโลหิตสูงที่ไม่คงที่ได้อย่างถาวร และกลับมาควบคุมร่างกายของคุณได้อย่างเต็มที่

หยุดให้ตัวเองถูกหลอกอีกต่อไป! ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดเป็นเหยื่อของการหลอกลวงจากอุตสาหกรรมยา คลิกที่นี่เพื่อเปิดเผยความลับที่พวกเขาไม่อยากให้คุณรู้ และเปลี่ยนชีวิตของคุณก่อนที่จะสายเกินไป!"

คลิปวิดีโอดังกล่าว เป็นภาพของ นางสาวดลยณา บุนนาค ผู้ประกาศข่าว Thai PBS World กำลังอ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ลิงก์บันทึกที่ นี่ และ นี่)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพโฆษณาปลอมที่สร้างจาก AI

ทั้งนี้ภายในคลิปมีเนื้อหาระบุว่า นพ.ยง ถูกจับกุม เนื่องจากออกมาเปิดเผยพฤติกรรมของบริษัทเภสัชกรรม รวมถึงเปิดเผยวิธีรักษาโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายและก่อให้เกิดความตื่นตระหนกในสังคม โดยอ้างว่าผู้ป่วยนับพันออกมาชุมนุมให้ปล่อยตัว และอ้างว่า นพ.ยง เป็นผู้ออกมาให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุที่ถูกจับ เนื่องจากสามารถค้นพบยาที่รักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ภายใน 3 วัน หรือ 72 ชั่วโมง โดยไม่ต้องใช้ยาหรือผ่าตัด และให้คลิกเพื่อรับสูตรยาก่อนที่ทางการจะบล็อกข้อมูลดังกล่าว

เราตรวจสอบคลิปวิดีโอของรายการ Thai PBS World ที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เพื่อดูว่าภาพนั้นเคยปรากฏบนอินเทอร์เน็ตมาก่อนหรือไม่ และพบว่าคลิปดังกล่าวเป็นการรายงานข่าวของรายการ Thai PBS World เมื่อวันที่ 4 ก.พ.68 ที่ผ่านมา ซึ่งภายในคลิปดังกล่าวมีการใช้ภาพบางส่วน รวมถึงไม่ได้มีการรายงานข่าวเรื่องของ นพ.ยง แต่อย่างใด (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอเปรียบเทียบ คลิปรายการ Thai PBS World Tonight (ซ้าย) กับ คลิปที่ถูกปลอมขึ้น (ขวา)

ส่วนภาพโลโก้ด้านมุมขวานั้น พบว่าเป็นเพียงโลโก้เก่าของ Thai PBS ที่มีการใช้ชื่อว่า "ทีวีไทย" ซึ่งปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ไม่ได้ใช้ชื่อดังกล่าวแล้ว แต่ได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อ "Thai PBS" เพียงชื่อเดียวตั้งแต่วันที่ 17 ก.พ.54 (ลิงก์บันทึก)

ขณะที่อีกคลิปเป็นภาพของ นางสาวดลยณา ซึ่งถูกนำภาพไปใช้เทคโนโลยี AI Deepfake ด้วยเช่นกัน โดยเราตรวจสอบคลิปวิดีโอของรายการ Thai PBS World ที่เคยออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และพบว่าคลิปดังกล่าวเป็นการรายงานข่าวของรายการ Thai PBS World เมื่อวันที่ 28 ม.ค.68 ที่ผ่านมา (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอเปรียบเทียบ คลิปรายการ Thai PBS World Tonight (ซ้าย) กับ คลิปที่ถูกปลอมขึ้น (ขวา)
เราได้สอบถามไปยัง นางสาวดลยณา ซึ่งยืนยันว่า เธอเป็นผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษของสถานีโทรทัศน์ Thai PBS ซึ่งส่วนใหญ่จะรายงานข่าวการเมือง, เศรษฐกิจ, สังคม, ศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับประเทศไทย แต่หากเป็นข่าวที่เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ หรือสุขภาพ จะไม่ค่อยได้รายงานมากเท่าใดนัก และเธอจะรายงานข่าวของประเทศไทยเป็นภาษาอังกฤษเป็นหลัก

ส่วนกรณีที่เธอถูกนำภาพมาใช้เทคโนโลยี AI Deepfake นั้น ยอมรับว่า รู้สึกแย่ที่ถูกนำภาพของเธอมาใช้ในการหลอกลวงประชาชน และคลิปดังกล่าวก็ไม่ใช่เธออย่างแน่นอน เพราะแม้จะเป็นภาพของเธอ แต่โดยปกติแล้วเธอจะรายงานข่าวเป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงน้ำเสียงก็ไม่ใกล้เคียงกับน้ำเสียงของเธอแต่อย่างใด โดยยังคงฟังออกว่าเสียงในคลิปเป็นเสียงจากปัญญาประดิษฐ์

นางสาวดลยณา บุนนาค ผู้ประกาศข่าว Thai PBS World

อย่างไรก็ตามจากที่เธอสอบถาม พบว่าไม่เพียงแต่เธอเพียงเท่านั้นที่ถูกนำภาพไปใช้ แต่ยังมีผู้ประกาศคนอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ที่ถูกนำภาพไปใช้ในลักษณะนี้เช่นเดียวกัน ไม่จะเป็นการถูกนำไปขายยาปลุกเซ็กซ์ หรือหลอกลงทุน ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เธอถูกนำภาพไปใช้ เพราะที่ผ่านมาก็เคยถูกนำภาพไปใช้เสนอข่าวปลอมมาแล้วด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งสำหรับกรณีนี้นั้น เธอยืนยันว่า ไม่เคยรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับ นพ.ยง มาก่อนแต่อย่างใด จึงอยากให้ประชาชนระวังให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้เรื่อง Media Literacy หรือ ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ

“ปัจจุบันนี้ข้อมูลหรือข่าวปลอมมีจำนวนเยอะมากจนยากที่จะแยกได้ว่าอะไรจริง หรือ ไม่จริง จึงจำเป็นที่ผู้คนจะต้องระมัดระวังให้มากยิ่งขึ้น”

นอกจากนี้ยังมีคลิปที่มีภาพของ นายเฌอศานต์ ศรีสัจจัง ผู้ประกาศข่าว Thai PBS ที่ถูกแอบอ้างนำภาพไปใช้ดัดแปลงด้วยเทคโนโลยี AI Deepfake เช่นเดียวกัน  

ภาพบันทึกหน้าจอโพสต์ปลอมจาก AI Deepfake

โดย นายเฌอศานต์ ระบุว่า แม้จะรู้สึกว่าคลิปที่ถูกนำไปปลอมนั้น จะไม่ได้มีความเหมือนกับภาพจริงมากเท่าใดนัก แต่ก็มีความกังวลเช่นกัน เพราะหากปัจจุบันเทคโนโลยี AI Deepfake สามารถที่จะทำได้ถึงขนาดนี้แล้ว ในอนาคตอันใกล้ ก็อาจจะทำให้เหมือนจริงเพิ่มมากขึ้นจนอาจทำให้ผู้คนที่ดูหลงเชื่อได้ง่ายขึ้นก็เป็นได้ โดยเฉพาะคนที่ดูผ่าน ๆ และหลงเชื่อว่าเป็นการรายงานข่าวจริง ๆ และยิ่งเมื่อมีหน้าของผู้ประกาศข่าว ก็อาจจะยิ่งทำให้คนที่ชมนั้นเชื่อว่า เราเป็นคนรายงานจริง ๆ (ลิงก์บันทึก)

นายเฌอศานต์ ศรีสัจจัง ผู้ประกาศข่าว Thai PBS

ส่วนตัวไม่รู้จุดประสงค์ของผู้ที่ทำ ว่าต้องการทำอะไร จะขายยา หรือขายของผิดกฎหมาย ซึ่งหากวันหนึ่งมีการหลอกเงินหรือหลอกขายสินค้าผิดกฎหมาย แล้วมีผู้หลงเชื่อจริง ตนก็กังวลว่าปัญหาแบบนี้จะส่งผลเสียในอนาคต เพราะส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่า ภาพหรืออะไรก็ตามเมื่อถูกเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย ก็จะกลายเป็น Digital Footprint ที่สามารถถูกนำไปแชร์ต่อ ๆ กันได้ไม่รู้จบ

ทั้งนี้อยากให้ประชาชนสังเกตคลิปดี ๆ ก่อนเชื่อ ซึ่งสามารถดูได้ไม่ว่าจะเป็นปาก หรือเสียงภายในคลิป ที่ยังไม่ค่อยสอดคล้องกัน หรือไปด้วยกัน และก่อนที่จะเชื่ออะไร อยากให้ประชาชนใช้สติ และหาข้อมูลว่ากรณีที่เกิดขึ้น มีการรายงานจากแหล่งอื่น ๆ หรือไม่ หรือนำเรื่องดังกล่าวไปตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อนจะเชื่ออะไรก็ตามเสียก่อน

ผลกระทบของข้อมูลเท็จนี้เป็นอย่างไร ?

โพสต์ดังกล่าว ถือว่าทำให้ผู้ที่ไม่รู้จักกับเทคโนโลยีเหล่านี้ อาจสามารถหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าวได้ เพราะมีการนำเอาผู้ประกาศข่าวจากหลากหลายช่องมาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ โดยขณะนี้มีผู้รับชมคลิปไปแล้วกว่า 1,800 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 11 ชั่วโมงของการเผยแพร่เพียงเท่านั้น และภายในเพจเรายังพบการโพสต์ภาพขวดยายี่ห้อหนึ่ง ซึ่งระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ซึ่งไม่มีข้อมูลรับรองถึงความปลอดภัยแต่อย่างใด

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงจำนวนยอดผู้ชมโฆษณาปลอม

แพทย์ยืนยันไม่มียาใดรักษาโรคความดันโลหิตสูงได้ใน 3 วัน

เราได้สอบถามไปยัง นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่ถูกนำภาพไปใช้

นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

นพ.ยง ระบุว่า ตนถูกนำภาพไปใช้หลายครั้ง ซึ่งสมัยก่อนนั้นมีเพียงการนำภาพนิ่งไปตัดต่อใส่คำพูดเพื่อโฆษณาขายยา หรือโฆษณาขายของ ซึ่งที่ผ่านมาได้เคยเข้าแจ้งความดำเนินคดีไปแล้ว โดยเจ้าหน้าที่พบว่า บัญชีที่นำภาพไปปลอมนั้นส่วนใหญ่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งมีหนึ่งบัญชีที่ตรวจสอบหมายเลขไอพีแล้วพบว่า เป็นบัญชีที่ทำในประเทศอุรุกวัย ทำให้เราทำอะไรกับคนสร้างเพจปลอมเหล่านี้ไม่ได้เลย มีเพียงการรายงานเพจเพียงอย่างเดียว ซึ่งต้องอาศัยคนหลายคนร่วมกันรายงานเพจ จึงจะสามารถปิดเพจเหล่านี้ได้

“ส่วนกรณีนี้นั้น ยืนยันว่า ไม่มียาชนิดใดในโลกที่สามารถรักษาคนป่วยโรคความดันโลหิตสูงให้หายได้ภายใน 3 วัน”

ต้นตอของเพจปลอมอยู่ต่างประเทศ

นอกจากนี้ นพ.ยง ยังได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ระบุว่า 

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์เฟซบุ๊ก Yong Poovorawan

วัคซีนโควิด 19 ผลกระทบปัจจุบันยังมีการแอบอ้างชื่อ หลอกลวง

ยง ภู่วรวรรณ

ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์

ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์จุฬา

17 กุมภาพันธ์ 2568

นับตั้งแต่โควิด 19 เป็นต้นมา ผลกระทบของสื่อสังคมออนไลน์ มีเป็นจำนวนมากจริงๆ ทั้ง bully และการอ้างชื่อไปในทางที่เสียหาย การแก้ข้อความใส่ร้ายเกิดขึ้นมาโดยตลอด

ในช่วงโควิด 19 ผมเป็นนักวิชาการศึกษาวิจัยให้ได้องค์ความรู้ใหม่ ขณะนั้นทุกคนรู้เท่ากัน เมื่อเราได้ข้อมูลอะไรมาเราก็เผยแพร่ตามความเป็นจริง

เริ่มต้นเราศึกษาภูมิต้านทานผู้ป่วยติดเชื้อโควิด สมมุติภูมิต้านทานขึ้น 100 หน่วย ในระยะแรกมีวัคซีนโควิดชนิดเชื้อตาย sinovac เราศึกษาภูมิต้านทาน ก็พบว่าที่ 2 เข็มห่างกัน 4 สัปดาห์แล้วก็ขึ้น 100 หน่วย เท่ากับการติดเชื้อ ซึ่งก็น่าจะเพียงพอเหมือนกับการติดเชื้อแล้ว 1 ครั้ง ตามหลักของวัคซีนทั่วๆไป ในการป้องกันโรค

ต่อมามีวัคซีนไวรัสเวกเตอร์ AstraZeneca ขีด 2 เข็มแต่ห่างกันประมาณ 10 ถึง 16 สัปดาห์ ภูมิต้านทานขึ้น 10 เท่า หรือ 1000 หน่วย ทุกคนก็ดีใจ ภูมิต้านทานสูงดี แต่ความเป็นจริง ภูมิสูงภูมิต่ำไม่ได้สำคัญอะไร เพราะไวรัสนี้มีระยะฟักตัวสั้น จึงไม่มีผล กับระดับภูมิต้านทานที่สูง แต่ผลกระตุ้นการทำงานของเซลล์ในร่างกาย เพื่อลดความรุนแรงของโรคมากกว่า ทุกคนก็ดีใจยากฉีดให้ได้สูง ๆ เรามาทำการศึกษาก็พบว่าถ้าให้วัคซีนเชื้อตายนำ แล้วฉีดไขว้ไปเป็นไวรัสเวกเตอร์ ภูมิต้านทานก็ขึ้นไป 1000 หน่วยเหมือนกัน ก็จะใช้วัคซีน AZ เพียงเข็มเดียว ลดการ expost ของ DNA ที่อยู่ในไวรัส ก็น่าจะดี และต่อมาก็เป็นที่ยอมรับของโครงการอนามัยโลก แต่ผลลัพธ์ก็คือมีเสียงต่อต้าน ทางโซเชียลมีเดียอย่างมาก หาว่าเราเชียร์ วัคซีนเชื้อตาย มีการบูลลี่มากมาย

ต่อมาทุกคนต้องการฉีดอย่างเดียวคือ mRNA เพราะภูมิต้านทาน จะขึ้นสูงถึงระดับ 10,000 หรือมากกว่าวัคซีนเชื้อตาย 100 เท่า มีการเรียกร้องมาก ให้เอามาเป็นวัคซีนหลัก เราเองก็แปลกใจ จึงทำการศึกษาพบว่าถ้าฉีดวัคซีนเชื้อตายก่อน 2 เข็ม แล้วตามด้วย mRNA อีก 1 เข็ม ผลลัพธ์ที่ได้จากการวัดตรวจภูมิต้านทาน จะเท่ากับการฉีด mRNA 3 เข็ม ก็บอกไปตามความเป็นจริง และต่อมาก็เป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป รวมทั้งต่างประเทศด้วย และเป็นการลดการใช้จำนวน mRNA ลง ซึ่งขณะนั้นมีราคาแพงและขาดแคลนมาก ผลลัพธ์ก็คือถูกบูลลี่อย่างหนัก เราเองไม่มีปัญหา เพราะมีภูมิต้านทานต่อการถูกบูลลี่แล้ว แต่คนรอบข้างที่ทนไม่ได้ และให้แจ้งความตลอด ทำให้ยังมีเรื่องค้างอยู่อีกเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีความก้าวหน้า

หลังจากที่โควิด เริ่มสงบ ก็มีการเอารูปของเรา ไปโฆษณาขายของกันมากมาย อ้างว่าเป็นคนบอกว่ามีสรรพคุณที่ดี เช่นโรคหัวใจ โรคต่างๆมากมาย ทั้งที่เราไม่เชี่ยวชาญเลย และไม่เป็นความจริง แจ้งความให้ตำรวจไซเบอร์ ก็ไม่สามารถที่จะทำอะไรได้ เพราะเป็นการโพสต์ที่ต่างประเทศ ทำได้แต่เพียง Report การ Report คน 2 คนเขาก็ไม่สนใจ จึงมีเรื่องออกมาอยู่ตลอดเวลา

จนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่หยุด อย่างเช่นล่าสุด บอกว่าเราถูกจับ เป็นข่าว และเป็นโลโก้ Thai PBS ชัดเจน คนใกล้ชิด กล่าวหาว่าผมโดนจับ โดยบริษัทยาฟ้อง ผมเองก็คอยระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่แล้วโดยเฉพาะกับบริษัทยา ก็รู้ว่า สิ่งนี้ไม่จริง ใช้ AI เข้ามาช่วย แต่ไม่เนียนเลย ถ้ารู้ว่า AI ยี่ห้อไหน ก็อย่าไปใช้เพราะทำไม่ได้ดี อย่างที่ AI ควรจะทำ จึงต้องแจ้งความทางตำรวจไซเบอร์ ผลลัพธ์ก็คงเหมือนเดิมคงทำอะไรไม่ได้ ทางตำรวจเองก็คงมีงานมาก

ขณะนี้เรื่องที่แจ้งความไว้ ก็ยังเคลียร์ไม่หมด และหลายเรื่องเชื่อว่าจะถูกทิ้งไว้ จนหมดอายุความแน่นอน ดังนั้นทางแก้ที่ดีที่สุด จะต้องส่งเสริมให้ประชากรไทยหรือทุกคน มีความรอบรู้ ทางดิจิทัล หรือ Digital literacy เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้ถูกหลอก

เทคโนโลยี AI Deepfake สังเกตได้อย่างไร ?

เราได้นำคลิปดังกล่าวไปให้ ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อาจารย์ประจำ สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ถึงจุดสังเกตของคลิปปลอม (ลิงก์บันทึก)

ผศ.ดร.รัชฎา คงคะจันทร์ อาจารย์ประจำ สาขาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผศ.ดร.รัชฎา ระบุว่า คลิปดังกล่าวเป็นการใช้เทคโนโลยี Deepfake ซึ่งโดยปกติถือเป็นหลักการในการสร้างวิดีโอโดยใช้ AI ซึ่งสามารถนำไปใช้ในเรื่องดี ๆ ได้ แต่จากกรณีตัวอย่างนี้ ถือเป็นการใช้เทคโนโลยี Deepfake อย่างไม่มีจริยธรรม แต่ก็ยังถือว่าคนทำคลิปดังกล่าวยังไม่ใช่มืออาชีพ เพราะยังสามารถเห็นจุดสังเกตได้หลายจุดด้วยกัน

ข้อสังเกตว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี Deepfake

✅ สำหรับจุดสังเกตแรกนั้น สามารถมองเห็นได้ตั้งแต่ภาพของผู้ประกาศหญิง ที่คำพูดกับเสียงไม่มีความเชื่อมโยงกัน

✅ ส่วนจุดที่สองนั้น สังเกตได้จากภาพหน้าของ นพ.ยง ที่เป็นเหมือนการตัดภาพมาแปะ และสังเกตได้จากทั้งที่แขนและมือ ที่มีความผิดเพี๊ยนไปจากสภาพคนปกติ

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงจุดสังเกตที่ผิดปกติของคลิปปลอม

✅ และสุดท้ายสามารถสังเกตได้จากช่วงที่ นพ.ยง ให้สัมภาษณ์ โดยเฉพาะบริเวณโหนกแก้มจะเหมือนกับการนำภาพมาตัดต่อ จะมีความเหลี่ยมอยู่

ทั้งนี้หากถามว่า ในอนาคตมีความกังวลกับเทคโนโลยี Deepfake หรือไม่นั้น เชื่อว่าในอนาคตก็อาจจะมีความเป็นไปได้ ที่คลิปวิดีโอที่ถูกสร้างจาก AI จะมีความเสมือนจริงมากยิ่งขึ้น แต่ก็เชื่อว่าจะมีขั้นตอนของการตรวจสอบ ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ ที่จะต้องพัฒนาให้สามารถเท่าทันกับภัยเหล่านี้ให้ได้ในอนาคต

ข้อแนะนำเมื่อได้ข้อมูลเท็จนี้ ?

ทั้งนี้เมื่อเราพบโพสต์ที่สงสัยว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ง่าย ๆ ดังนี้

✅ ขั้นตอนที่ 1 : ตรวจสอบประวัติการสร้างเพจ

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงช่องความโปร่งใสของเพจเฟซบุ๊กปลอม

เลือกช่อง "เกี่ยวกับ" กดไปที่ "ความโปร่งใสของเพจ"

ตรวจสอบประวัติ : เราพบว่าเพจดังกล่าวถูกสร้างเมื่อ 13 มีนาคม 2011 โดยใช้ชื่อเพจ Colegio "Carlos Laborde Pulido"

ก่อนที่ภายหลังจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น "ดร.บุญชัยคำคม" เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2025 ที่ผ่านมา

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพประวัติการสร้างและเปลี่ยนชื่อของเพจปลอม

✅ ขั้นตอนที่ 2 : นำชื่อ Colegio "Carlos Laborde Pulido" ไปตรวจหาคำสำคัญใน Google

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงแผนที่ของชื่อเพจเดิมก่อนถูกเปลี่ยน

เราพบว่าชื่อดังกล่าวเป็นชื่อของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ในประเทศโบลิเวีย

✅ ขั้นตอนที่ 3 : ตรวจสอบผู้จัดการเพจ

เราพบว่า ประเทศ/ภูมิภาคหลักของผู้ที่จัดการเพจนี้ ได้แก่ Ukraine (2) ซึ่งในที่นี้ (2) จะหมายถึงมีผู้ดูแลเพจซึ่งอยู่ในประเทศยูเครน จำนวน 2 คน

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงภาพคนจัดการเพจปลอมว่าอยู่ในภูมิภาคหรือประเทศอะไร

ด้วยการตรวจสอบง่าย ๆ เพียงเท่านี้ เราก็จะทราบว่าเพจที่ถูกแชร์ หรือส่งต่อมานั้น เป็นเพจของจริง หรือเป็นเพจที่ถูกแอบอ้าง เพื่อที่จะไม่หลงเชื่อ, แชร์, หรือกดไลก์ข้อมูลผิด ๆ เหล่านี้ต่อไป

อ่านวิธีตรวจสอบภาพ AI เบื้องต้นได้ที่นี่

จับผิดภาพ AI อย่างไร ? เรียนรู้ "ประโยชน์-โทษ" เสริมทักษะใหม่ในยุคดิจิทัล https://www.thaipbs.or.th/now/content/2263

อ่านตัวอย่าง AI Fake News & Deepfake ที่ Thai PBS Verify เคยนำเสนอได้ที่นี่

ตรวจสอบพบ : คลิปปลอม "ช้าง" ตามทวงหูจาก "ไฮยีนา" https://www.thaipbs.or.th/now/content/1975

ตรวจสอบพบ : คลิป "AI Deepfake" อ้างหมอชื่อดังถูกวางระเบิด https://www.thaipbs.or.th/now/content/2000

ตรวจสอบแล้ว : ภาพปลอมอ้างปลาหมึกยักษ์เกยหาดที่อินโดฯ https://www.thaipbs.or.th/now/content/2065

ภาพจาก #AI ถูกแชร์ว่าเป็นสถานที่จริงของซีรีส์ #สควิดเกม https://www.thaipbs.or.th/now/content/2211

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพจปลอมข่าวปลอมหลอกลวงหลอกลวงด้วย AIหลอกลวงออนไลน์คลิปปลอมคลิปตัดต่อหมอยงAIAI Deepfake
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด