เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 อย่างตรงจุด ! สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) “สดร.” หรือ “NARIT” กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เตรียมติดตั้งอุปกรณ์ ACSM (Aerosol Chemical Speciation Monitor) ตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีของ PM 2.5 เพื่อศึกษาแหล่งกำเนิด วิเคราะห์หาสาเหตุต้นตอของการเกิด PM 2.5 ประเดิมติดตั้ง ประเดิมติดตั้ง 3 แห่งทั่วไทย ที่เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และสงขลา ภายในปี 2568
อุปกรณ์ ACSM หรือ อุปกรณ์ตรวจวัดองค์ประกอบทางเคมีของละอองลอย เป็นเครื่องมือที่สามารถระบุองค์ประกอบทางเคมีของอนุภาคฝุ่นขนาดเล็กในอากาศในเวลาจริง ทั้งสารประกอบอินทรีย์ อนินทรีย์ และองค์ประกอบธาตุ สามารถประเมินความแปรปรวนขององค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศในแต่ละช่วงเวลา และหากติดตั้งอุปกรณ์ ACSM ในหลายพื้นที่ จะช่วยประเมินความแปรปรวนขององค์ประกอบทางเคมีในชั้นบรรยากาศของแต่ละพื้นที่ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนดนโยบายการควบคุมมลพิษในชั้นบรรยากาศให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของมลพิษตามประเภทแหล่งกำเนิด
ปัญหามลพิษทางอากาศในปัจจุบัน มีแนวโน้มรุนแรงต่อเนื่องขึ้นทุกปี จากการศึกษาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์บรรยากาศของ NARIT มาอย่างต่อเนื่อง พบว่าองค์ประกอบของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ลอยอยู่ในบรรยากาศยังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ร่วมด้วย มีผลมาจากจุดกำเนิดของฝุ่นที่แตกต่างกัน นำมาสู่แผนการศึกษาวิจัยที่ NARIT จะดำเนินการต่อไป คือการเพิ่มจำนวนการเก็บตัวอย่างอากาศ โดยใช้เทคโนโลยีการวิเคราะห์องค์ประกอบ และชนิดของฝุ่นละอองขนาดเล็กอย่างละเอียดด้วยอุปกรณ์ ACSM ที่จะเก็บข้อมูลตลอดเวลา 24 ชั่วโมงต่อวัน มาสนับสนุนงานวิจัยเพิ่มเติม ผลการศึกษาวิจัย จะทำให้เข้าใจปัจจัย และสาเหตุต้นตอการเกิดฝุ่นละอองในประเทศไทย เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และส่งต่อข้อมูลให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแนวทางจัดการ และร่วมกันวางแผนแก้ปัญหามลพิษทางอาการในระยะยาวได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech