ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ภาพเก่า ! พบเพจโพสต์อ้าง "สหรัฐฯ" ถล่ม "เยเมน" ที่แท้ภาพเก่าปี 61


Verify

8 ม.ค. 68

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

ภาพเก่า ! พบเพจโพสต์อ้าง "สหรัฐฯ" ถล่ม "เยเมน" ที่แท้ภาพเก่าปี 61

https://www.thaipbs.or.th/now/content/2137

ภาพเก่า ! พบเพจโพสต์อ้าง "สหรัฐฯ" ถล่ม "เยเมน" ที่แท้ภาพเก่าปี 61
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

สหรัฐฯ ระบุว่าพวกเขาได้โจมตีเป้าหมายต่าง ๆ ในกรุงซานา เมืองหลวงของเยเมนที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มกบฏในเดือนธันวาคม 2567 ไม่กี่ชั่วโมงหลังขีปนาวุธของกลุ่มกบฏฮูตีทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บในอิสราเอล อย่างไรก็ตาม ภาพถ่ายเหตุระเบิดในเวลากลางคืนที่ถูกแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการโจมตีของสหรัฐฯ แต่เป็นภาพเก่าจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่บันทึกภาพการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา

"มะกันถล่มเยเมนแทนอิสราเอล หลังเยเมนสวนอิสราเอลกลางเมืองหลวง" โพสต์เฟซบุ๊กเขียนคำบรรยายเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2567

โพสต์ดังกล่าวแชร์ภาพที่แสดงกลุ่มควันลอยจากเพลิงไหม้ขนาดใหญ่ในเมืองแห่งหนึ่งในช่วงเวลากลางคืน
 

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์ดังกล่าวปรากฏหลังสหรัฐฯ เปิดเผยว่าพวกเขาได้โจมตีเป้าหมายในเยเมน เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังกลุ่มกบฏฮูตีโจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ และส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บในเมืองเทลอาวีฟ ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าในอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

กลุ่มฮูตีได้โจมตีเป้าหมายในอิสราเอลอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นการสนับสนุนพันธมิตรชาวปาเลสไตน์อย่างกลุ่มฮามาส โดยชนวนสงครามในฉนวนกาซาระลอกล่าสุดเกิดขึ้นหลังกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566

กองทัพสหรัฐฯ สามารถยิงสกัดโดรนของกลุ่มฮูตีได้หลายลำ รวมถึงขีปนาวุธต่อต้านเรือในทะเลแดงด้วย

ในปี 2567 กองกำลังของสหรัฐฯ และอังกฤษได้โจมตีเป้าหมายของกลุ่มกบฏในเยเมนหลายครั้ง เพื่อตอบโต้การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าสำคัญระดับโลก

ภาพเดียวกันนี้ยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันในโพสต์ภาษาไทยและอังกฤษ

จากการค้นหาภาพย้อนหลังด้วยกูเกิล พบภาพเดียวกันถูกเผยแพร่โดยเว็บไซต์ Getty Images ตั้งแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 (ลิงก์บันทึก)

คำบรรยายภาพระบุว่า "เมืองกาซา ฉนวนกาซา - วันที่ 12 พฤศจิกายน: ควันและเปลวไฟพวยพุ่งเหนือสถานีโทรทัศน์อัลอักซอที่ดำเนินการโดยกลุ่มฮามาส ระหว่างการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซา"

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่โดย Getty Images ในปี 2561 (ขวา):
 

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพที่เผยแพร่โดย Getty Images ในปี 2561 (ขวา)

ภาพดังกล่าวถูกถ่ายโดยช่างภาพ อาลี จาดัลลาห์ จากสำนักข่าวอนาโดลูของประเทศตุรกี นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังปรากฏในรายงานของสำนักข่าวอนาโดลู เกี่ยวกับการโจมตีของอิสราเอลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 ด้วย (ลิงก์บันทึก)

ในขณะนั้น AFP รายงานว่า อาคารของสถานีโทรทัศน์อัลอักซอในฉนวนกาซาถูกทำลายจากการโจมตีทางอากาศของอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

นอกจากนี้ AFP ได้ถ่ายวิดีโอเพื่อบันทึกเหตุระเบิดดังกล่าว โดยได้เผยแพร่และเก็บไว้ในคลังข้อมูลด้วย

ความขัดแย้งในภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นแหล่งที่มาของคำกล่าวอ้างเท็จจำนวนมาก โดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ส่วนใหญ่มักแชร์ภาพถ่ายหรือวิดีโอเก่าหรือไม่มีความเกี่ยวข้องพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จหรือคำกล่าวอ้างที่บิดเบือน

ข้อมูลจาก : AFP

นักวิชาการชี้ ภาพปลอมทำให้ความขัดแย้งย่ำแย่ลง

ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตร์บัณฑิตคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย

ผศ.ดร. ประพีร์ อภิชาติสกล อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ อุปนายกสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย ให้ความคิดเห็นถึงการเผยแพร่ภาพปลอมที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในตะวันออกกลางว่า หากมองในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ ก็ถือว่าการโพสต์ในลักษณะดังกล่าว สามารถสร้างความตกใจให้กับผู้ที่พบเห็นได้ทันที

ไม่ต่างกับข่าวในสมัยสงครามเย็น ที่มีการสร้างภาพให้หวาดกลัวคอมมิวนิสต์ หรือการสร้างโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้ผู้คนหวาดกลัว

เพียงแต่ในสมัยนี้นั้น คนทั่วไปก็สามารถที่จะเข้าถึง และนำรูปภาพเหล่านั้นออกมาโพสต์ได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำภาพในลักษณะดังกล่าวออกมาโพสต์ ก็อาจจะสร้างความเข้าใจผิดจากการที่มีการแชร์ต่อ ๆ กัน โดยไม่รู้ว่าเป็นภาพจริงหรือไม่ หรือหากเป็นความตั้งใจที่จะสร้างภาพความรุนแรงให้เกิดขึ้น ก็จะยิ่งเป็นการสร้างสถานการณ์ให้ดูน่าหวาดกลัว ซึ่งอาจจะเป็นความต้องการสร้างความเกลียดชังให้กับอเมริกา หรือไม่พอใจอเมริกามากยิ่งขึ้นได้ เพราะเป็นที่รู้กันว่าอเมริกาเข้าข้างอิสราเอลอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นภาพที่เอามาโพสต์เหล่านี้ ย่อมมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างภาพให้ดูน่ากลัว ถึงแม้เราจะไม่รู้เจตนาของผู้ที่นำมาโพสต์ แต่ข้อมูลดังกล่าวย่อมส่งผลให้เกิดความตกใจและหวาดกลัวเกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์ในโลกปัจจุบันก็ถือว่ามีความปั่นป่วนมากพออยู่แล้ว และการโพสต์ข่าวลวงหรือข่าวปลอมเข้ามาเพิ่มเติม ก็จะยิ่งเป็นการกระจายความเข้าใจที่ผิด ๆ เพิ่มมากยิ่งขึ้น

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ความขัดแย้งตะวันออกกลางสหรัฐอเมริกาสหรัฐฯเยเมนอิสราเอลสงครามอิสราเอล-ฮามาสภาพปลอมหลอกลวงต่างประเทศฉนวนกาซา
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

ทีม Thai PBS Verify

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด