ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สิทธิ-หน้าที่ "คู่สมรส" 23 ม.ค. กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้

สังคม
9 ม.ค. 68
08:08
274
Logo Thai PBS
สิทธิ-หน้าที่ "คู่สมรส" 23 ม.ค. กฎหมายสมรสเท่าเทียมบังคับใช้
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)
23 ม.ค. วันประวัติศาสตร์ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" บังคับใช้อย่างเป็นทางการ เปิดโอกาสให้คู่รักทุกเพศจดทะเบียนสมรสได้อย่างถูกกฎหมาย พร้อมสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน เช่น การจัดการมรดก-ทรัพย์สิน และการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

วันที่ 23 ม.ค.2568 ถือเป็นอีกหนึ่งวันประวัติศาสตร์ของประเทศไทย เมื่อ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 24) พ.ศ.2567 หรือที่รู้จักกันในชื่อ "กฎหมายสมรสเท่าเทียม" จะมีผลบังคับใช้เป็นทางการ ทำให้ "คู่รักทุกเพศ" สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายเป็นครั้งแรก

การเปลี่ยนแปลงที่มาพร้อมกับความเท่าเทียม

  • เปิดโอกาสให้บุคคลทุกเพศสามารถจดทะเบียนสมรสได้ ไม่จำกัดเฉพาะคู่ชาย-หญิงอีกต่อไป
  • ปรับอายุขั้นต่ำสำหรับการหมั้นและการสมรส จากเดิม 17 ปี เป็น 18 ปีบริบูรณ์
  • ใช้คำที่เป็นกลางทางเพศ เปลี่ยนคำว่า "สามี-ภริยา" เป็น "คู่สมรส" เพื่อให้ครอบคลุมทุกเพศ
  • คู่สมรสทุกคู่จะมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกันตามกฎหมาย เช่น สิทธิในการรับมรดก สิทธิในการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล และสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมร่วมกัน

ขณะที่ข้อห้ามในการสมรส เช่น การสมรสกับบุคคลที่ยังมีคู่สมรสอยู่, การสมรสกับญาติสนิท และ การสมรสกับบุคคลวิกลจริต รวมถึงหลักการแบ่งสินสมรส โดยแบ่งทรัพย์สินออกเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส "ยังคงหลักการเดิม "

สิทธิต่าง ๆ ที่มีผลบังคับใช้ทันทีที่มีการจดทะเบียนสมรสตามที่กฎหมายกำหนด สามารถสรุปสิทธิและหน้าที่สำคัญที่ "คู่สมรส" จะได้รับ ดังนี้

1.การหมั้น

การหมั้นจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้ง 2 ฝ่ายมีอายุ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว โดยการหมั้นถือเป็นการแสดงเจตจำนงต่อการสมรสในอนาคต และการหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายผู้หมั้นได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่ผู้รับหมั้น เพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับผู้รับหมั้นนั้น และเมื่อหมั้นแล้วให้ของหมั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้รับหมั้น 

2.การสมรส

การสมรสจะกระทำได้เมื่อทั้ง 2 ฝ่ายมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์แล้ว อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุอันสมควร ศาลสามารถอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนอายุที่กำหนดได้   

3.การจดทะเบียนสมรส

การสมรสจะสมบูรณ์ตามกฎหมายเมื่อคู่สมรสทั้ง 2 ฝ่ายแสดงความยินยอมต่อหน้านายทะเบียน และให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้อย่างเป็นทางการ

แต่เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งไม่อาจทำการจดทะเบียนสมรสต่อนายทะเบียนได้ ให้บุคคลทั้ง 2 แสดงเจตนาต่อหน้าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะ เพื่อบันทึกเจตนาของทั้ง 2 ฝ่ายไว้เป็นหลักฐาน ต่อมาภายใน 90 วัน นับจากวันที่สถานการณ์ฉุกเฉินคลี่คลายลง ทั้ง 2 ฝ่าย ต้องไปจดทะเบียนสมรสอย่างเป็นทางการที่สำนักงานทะเบียน โดยนำหลักฐานการแสดงเจตนาเดิมไปยื่นด้วย และวันที่แสดงเจตนาต่อหน้าพยานจะถือเป็นวันจดทะเบียนสมรส 

และคู่สมรสยังมีสิทธิใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อกลางได้เมื่อได้รับความยินยอม 

4.การจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติตามกฎหมายไทย

บุคคลที่ประสงค์จะจดทะเบียนสมรสกับชาวต่างชาติสามารถจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยได้ สามารถทำได้ภายในประเทศไทย คือ จดทะเบียนสมรสที่ ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขตในกรุงเทพมหานคร หรือทำในต่างประเทศ ณ สถานทูตไทยหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ

5.การหย่า

เมื่อคู่สมรสตัดสินใจแยกทาง การหย่าจะสมบูรณ์ต่อเมื่อมีการจดทะเบียนหย่าตามกฎหมาย ทั้งนี้ หากเป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ให้ทำความตกลงเป็นหนังสือว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรคนใด ถ้ามิได้ตกลงกันหรือตกลงกันไม่ได้ ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด รวมถึงการทำสัญญาเรื่องการออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นจำนวนเงินเท่าใดด้วย เมื่อบุคคลทั้ง 2 หย่ากันให้แบ่งสินสมรสแต่ละฝ่ายได้ส่วนเท่ากัน 

6.การจัดการทรัพย์สิน-หนี้สินร่วมกัน

คู่สมรสมีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์สินที่ได้มาร่วมกันระหว่างสมรส รวมถึงการดูแลผลประโยชน์จากทรัพย์สินเหล่านั้น และการร่วมกันบริหารหนี้สิน ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส นอกจากที่ได้แยกไว้เป็นสินส่วนตัวย่อมเป็นสินสมรส และถ้าคู่สมรสเป็นลูกหนี้ร่วมกัน ให้ชำระหนี้นั้นจากสินสมรสและสินส่วนตัวทั้ง 2 ฝ่าย แต่ถ้าคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบเป็นส่วนตัวเพื่อชำระหนี้ที่ก่อไว้ก่อนหรือระหว่างสมรส ให้ชำระหนี้นั้นด้วยสินส่วนตัวของฝ่ายนั้นก่อน เมื่อไม่พอจึงให้ชำระด้วยสินสมรสที่เป็นส่วนของฝ่ายนั้น 

คู่สมรสยังมีสิทธิในการรับมรดกจากกันและกัน หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิต คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่จะมีสิทธิได้รับมรดกตามกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องมีพินัยกรรมยกให้ แต่หากผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้แล้ว สิทธิในการรับมรดกจะขึ้นอยู่กับว่าพินัยกรรมได้ระบุถึงการแบ่งมรดกให้แก่คู่สมรสหรือไม่ 

7.สิทธิประโยชน์และสวัสดิการจากรัฐ

คู่สมรสมีสิทธิได้รับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่รัฐจัดสรรให้ เช่น การลดหย่อนภาษี สิทธิในประกันสังคม บำเหน็จ-บำนาญชราภาพ และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในฐานะคู่สมรส

8.การให้ความยินยอมทางการแพทย์

ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิในการให้ความยินยอมแทนได้ ซึ่งเป็นไปตามหลักการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งให้ทายาทโดยธรรม ซึ่งคู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย

หากศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ คู่สมรสอีกฝ่ายมีสิทธิและหน้าที่เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ 

9.การอุปการะเลี้ยงดู

คู่สมรสมีสิทธิเรียกร้องค่าอุปการะเลี้ยงดูจากกันในกรณีที่ไม่ได้รับการดูแลตามสมควร เช่นเดียวกับสิทธิในการเรียกร้องค่าเลี้ยงดูระหว่างบิดามารดากับบุตร

10.การรับบุตรบุญธรรม

คู่สมรสมีสิทธิรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ โดยมีเงื่อนไขหลักคือ ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง และต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์อื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนด

กฎหมายสมรสเท่าเทียมถือเป็นการเปิดประตูสู่ความเท่าเทียมในชีวิตคู่ ช่วยให้คู่สมรสทุกเพศมีสิทธิเข้าถึงการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อย่างเสมอภาคกัน การออกกฎหมายนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความก้าวหน้าทางกฎหมาย แต่ยังเป็นการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมอย่างยั่งยืน

อ่านข่าวเพิ่ม :

ด่วน! "บอสแซม-บอสมิน" รอดอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีดิไอคอน

วันเด็ก 2568 ปักหมุดสถานที่จัดงาน กับกิจกรรม-ของขวัญมากมาย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง