สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรค 2 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ กรณีสามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่น ที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 วรรค 2 ดังกล่าว ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบ รัฐธรรมนูญมาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม และกำหนดบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย
อ่านข่าว : มติเอกฉันท์ ศาล รธน.ชี้กฎหมายฟ้องชู้ขัดรัฐธรรมนูญ
ป.พ.พ.มาตรา 1523 คืออะไร
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1523 บัญญัติไว้ว่า เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุตามมาตรา 1516 (1) ภริยาหรือสามีมีสิทธิได้รับค่าทดแทน จากสามีหรือภริยาและจากหญิงอื่นหรือชู้ แล้วแต่กรณี
สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
ถ้าสามีหรือภริยายินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจให้อีกฝ่ายหนึ่งกระทำการตามมาตรา 1516 (1) หรือให้ผู้อื่นกระทำการตามวรรคสอง สามีหรือภริยานั้นจะเรียกค่าทดแทนไม่ได้
รู้จักมาตรา 27 แห่งรัฐธรรมนูญ 2560
มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม คือ บุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน
ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน
การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษาอบรม หรือความคิดเห็นทางการเมืองอันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใด จะกระทำมิได้
มาตรา 1523 วรรค 2 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 อย่างไร
มาตรา 1523 วรรค 2 สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้
จากบทบัญญัติดังกล่าวเท่ากับว่า หากสามีจะฟ้องเรียกค่าทดแทนจากชู้ที่มีสัมพันธ์กับภรรยาของตน ซึ่งคำว่าชู้นั้น จะเป็นชาย หรือ หญิง เพศใดก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าเป็นการแสดงความสัมพันธ์โดยเปิดเผยหรือไม่
ในขณะที่หากภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากชู้ที่มีความสัมพันธ์กับสามีของคน จะเรียกร้องค่าทดแทนได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น และจะฟ้องได้ต่อเมื่อผู้หญิงที่เป็นชู้ได้แสดงตนโดยเปิดเผยมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาว หากมีความสัมพันธ์กันหรือคบแบบลับๆ ไม่เปิดเผย ภริยาก็ไม่สามารถฟ้องร้องได้
ในขณะที่หากเป็นฝ่ายภรรยา จะเรียกร้องค่าทดแทนจากคนที่มาเป็นชู้กับสามีของตน ฟ้องได้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้น "ผู้ชายที่มาเป็นชู้กับสามีตนภรรยาฟ้องไม่ได้" อีกทั้งถ้าชู้ของสามีเป็นหญิงยังมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นหญิงที่แสดงความสัมพันธ์ในทางชู้สาวโดยเปิดเผย ถ้าคบกันหลบๆซ่อนๆไม่เปิดเผยจะไปเรียกค่าทดแทนไม่ได้
บทบัญญัติดังกล่าวขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง วรรคสอง วรรคสาม ที่วางหลักไว้ว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมาย มีสิทธิและเสรีภาพและได้รับความคุ้มครอง ตามกฎหมายเท่าเทียมกัน ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคลจะกระทำมิได้
ทั้งนี้หลังจากนี้ จะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไปดำเนินการแก้ไขข้อกฎหมายตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เมื่อครบ 360 วัน จะส่งผลให้ภริยาสามารถฟ้องชู้เพศเดียวกันของสามีได้ ตามคำวินิจฉัยของศาล
อ่านข่าว : "กม.สมรสเท่าเทียม" ผ่านแล้ว สร้างประวัติศาสตร์ชาติแรกอาเซียน
รณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ
ทนายความเผยไม่ได้ยกเลิก "กฎหมายฟ้องชู้"
นายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ทนายความ และ ประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เปิดเผยว่า เดิมกฎหมายฟ้องชู้ให้เฉพาะหญิงฟ้องชาย หรือ ชายฟ้องหญิง ที่ไปยกย่องอย่างเปิดเผย ไม่สามารถจะฟ้องเพศเดียวกันได้ ยกตัวอย่างเช่น สามีไปมีความสัมพันธ์กับผู้ชายในทำนองชู้สาว ภริยาไม่สามารถที่จะฟ้องผู้ชายที่เป็นชู้นั้นได้
แต่ถ้าสามีไปมีความสัมพันธ์กับผู้หญิงในทำนองชู้สาวโดยเปิดเผย สามารถฟ้องเรียกเงินทดแทนจากผู้หญิงนั้นได้
เหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญหยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยเป็นประเด็นเรื่องของความเท่าเทียมกัน ในบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการฟ้องชู้ที่กำหนดให้ผู้หญิงหรือผู้ชายฟ้องคู่สมรสของตัวเอง ชายหรือหญิงที่มาเป็นชู้ได้อย่างเดียวนั้น ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ
วัตถุประสงค์ ของศาลรัฐธรรมนูญ คือต้องการให้การคุ้มครองมีความเท่าเทียมกัน
ในกรณีที่เป็นผู้ชายชอบผู้ชายไปฟ้องชายชู้ได้ กรณีภริยาเป็นผู้หญิงไปชอบผู้หญิงด้วยกันสามารถฟ้องผู้หญิงด้วยกันได้ นี่คือเจตนารมณ์ของศาลรัฐธรรมนูญที่ตีความออกมา
ในประเด็นสำคัญศาลรัฐธรรมนูญยกทั้งมาตราออกไป ในสาระของมาตราเดิมคือ เพศตรงข้ามและแสดงโดยเปิดเผย แต่จุดประสงค์ต้องการให้ฟ้องได้แม้จะคบหาไม่เปิดเผยก็ตาม
ในปีนี้และปีหน้าจะมีการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เกี่ยวกับเรื่องของการฟ้องชู้ให้สามารถฟ้องทั้งหญิงและชายได้ ไม่ใช่เป็นการยกเลิกไม่ให้ฟ้องชู้ แต่ยกเลิกที่ฟ้องได้เฉพาะเพศตรงข้าม ให้สามารถฟ้องเพศตรงข้าม และเพศเดียวกันได้ด้วย
เนื่องจากมีความหลากหลายทางเพศมากขึ้นและขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญเรื่องสิทธิและความเท่าเทียมกัน ประกอบกับสภาผ่าน พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมออกมา รับรองศักดิ์และสิทธิ แต่ประเด็นของการฟ้องชู้ยังมีปัญหาอยู่ จึงมีการยื่นเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าว
ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม จะมีการแก้ไขใน มาตรา 1523 จากคำว่า สามี ภริยา ให้เป็นคำว่า "คู่สมรส"
ทำไมต้องมีผลเมื่อพ้น 360 วัน
กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญกำหนดบังคับให้คำวินิจฉัยมีผลเมื่อพ้น 360 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเพราะเข้าใจกลไกการทำงาน เข้าที่ประชุม ครม. สภาฯ มีการแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้เอื้อกับการดำเนินการตามขั้นตอนมากกว่านี้
สำหรับคนกำลังอยู่ในกระบวนการยื่นฟ้องคดีต่อศาล ก็ยังดำเนินการได้ปกติ ยังใช้กฎหมายฉบับเดิม จนกว่าจะพ้นระยะเวลา 360 วัน
อ่านข่าว :