ปัญหาขยะล้นโลก แม้นผู้คนต่างร่วมกันรณรงค์แก้ปัญหา แต่ก็ยังไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เพราะพวกเราทิ้งขยะมากกว่า 2,000 ล้านตันต่อปี และมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่ถูกนำกลับมารีไซเคิล ที่เหลือเป็นขยะไม่มีวันหมดไป บางคิดจึงเกิดไอเดียว่า ทำไม ? ไม่เอาขยะบนโลกไปทิ้งใน “อวกาศ” Thai PBS Sci & Tech จึงขอนำ 4 เหตุผลมาอธิบายว่าไอเดียดังกล่าวไม่น่าจะทำได้จริง
1. ค่าใช้จ่าย
พิจารณาได้จากการที่คนจะขึ้นไปบนอวกาศแต่ละคนมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก และแม้ว่าต้นทุนจะลดลงอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่การเดินทางสู่อวกาศยังคงเป็นงานที่ต้องใช้ต้นทุนสูง ตัวเลือกถูกที่สุดในปัจจุบันน่าจะเป็น Falcon 9 ซึ่ง (หากใช้งานได้) จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักบรรทุก 1 กิโลกรัม ซึ่งนั่นก็เพื่อไปถึงวงโคจรต่ำของโลกเท่านั้น
John L. Crassidis ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ SUNY Buffalo State University กล่าวว่า การนำขยะบนโลกออกไปสู่อวกาศเป็นเรื่องที่ไม่คุ้มทุนอย่างมาก เนื่องจากต้องใช้พลังงานเชื้อเพลิงมหาศาลในการใช้เป็นแรงขับดันจรวดสู่นอกโลก
2. มลพิษ
แม้ว่าจะไม่มีใครชอบขยะกองมหึมาที่มีอยู่ทั่วโลก แต่การจะนำไปทิ้งในอวกาศ อาจเป็นการทำลายชั้นโอโซนโดยตรงจากเขม่าและอะลูมิเนียมออกไซด์ที่เกิดจากการยิงจรวดจำนวนมหาศาล
Christopher Maloney นักวิทยาศาสตร์วิจัยจากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เคมี NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) เผยว่า ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการยิงจรวดนั้นไม่เคยเป็นเรื่องที่ต้องกังวลหรือให้ความสำคัญมากนัก เนื่องจากจำนวนจรวดที่ถูกยิงในแต่ละปีมีน้อยมาก ซึ่งหากพิจารณาถึงทิศทางของอุตสาหกรรม หรือข้อเสนอจากรัฐบาลต่าง ๆ จะเห็นได้ว่าการปล่อยจรวดและการปล่อยมลพิษจะเพิ่มขึ้นเป็นสิบเท่าภายใน 10 ถึง 20 ปีข้างหน้า
โดยจากการวิเคราะห์ซึ่งเผยแพร่ใน researchgate พบว่าการปล่อยจรวด Falcon 9 ในปี 2016 ซึ่งเป็นส่งจรวดขึ้นสู่อวกาศ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จำนวนกว่า 116 ตันสู่ชั้นบรรยากาศ ในช่วงเวลาเพียง 165 วินาทีแรกเท่านั้น
3. ความปลอดภัย
นอกจากค่าใช้จ่าย มลพิษแล้ว ความปลอดภัยก็ถูกพูดถึง เนื่องจากแม้จะส่งขยะออกจากโลกไปสู่อวกาศได้ แต่ขยะมากมายมหาศาลซึ่งลอยอยู่ในวงโคจร อาจสร้างปัญหาให้กับดาวเทียม รวมถึงการกลายเป็น “ขยะอวกาศ” ที่สุดท้ายก็อาจตกลงมาในโลกของเราเหมือนเดิม
The Natural History Museum ประเทศอังกฤษ เผยว่า แนวคิดของ Donald Kessler นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ในปี 1978 กล่าวไว้ว่า หากมีขยะอวกาศมากเกินไปในวงโคจร อาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาลูกโซ่ซึ่งมีวัตถุมากขึ้นเรื่อย ๆ จนชนกัน และสร้างขยะอวกาศใหม่ขึ้นมาในกระบวนการนี้ อันจะทำให้วงโคจรของโลกไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไปในที่สุด
4. มองระยะยาว
หากผ่าน 3 ข้อที่กล่าวมาข้างต้น การส่งขยะไป “ดวงจันทร์” อาจดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดี เนื่องจากไม่มีใครอยู่ที่นั่น ไม่มีสัตว์ให้เสี่ยงจากพิษขยะ แต่แผนดังกล่าวก็อาจส่งผลเสียในที่สุด เพราะในอีก 200 ปีข้างหน้า เราอาจมีความจำเป็นต้องไปตั้งอาณานิคมบนดวงจันทร์ หรือดาวดวงอื่น ซึ่งไม่ใช่ที่ดีแน่นอน ที่จะมีขยะจำนวนมหาศาลอยู่ที่นั่นด้วย
ดังนั้น วิธีที่จะช่วยโลกจากปัญหาขยะก็คือ “พวกเราเอง” ที่ต้องช่วยกันร่วมมือกันลดการสร้างขยะ พร้อมกับพยายามหาทางนำขยะมารีไซเคิลให้ได้มากที่สุด
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : iflscience
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech