ปี ค.ศ. 2024 สถานการณ์การเมืองโลกเกิดความผันผวนอย่างมาก และถือเป็นเป็นปีที่ “เลวร้ายต่อผู้นำที่กำลังดำรงตำแหน่ง” เนื่องจากผู้นำประเทศหลายคนต้องลงจากตำแหน่งด้วยอุบัติเหตุทางการเมือง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2568 จัสติน ทรูโด (Justin Trudeau) นายกรัฐมนตรีแคนาดาได้ประกาศลาออกหลังจากที่ได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 พร้อมทั้งลงจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคลิเบอรัล (Liberal Party) ซึ่งเป็นแกนนำพรรครัฐบาลเสียงข้างน้อย ทรูโดกล่าวว่าการตัดสินใจครั้งนี้มาจาก “การต่อสู้ภายใน” ที่ทำให้เขาไม่ใช่ “ตัวเลือกที่ดีที่สุดของพรรค” สำหรับการเลือกตั้งครั้งถัดไปของแคนาดา
แม้ทรูโดจะกล่าวว่าการลาออกของเขาเกิดขึ้นจากประเด็นภายในพรรค แต่ก็ประจวบเหมาะกับคะแนนนิยมของฝ่ายลิเบอรัลที่ลดลงตั้งแต่ 2 ปีก่อนจากความไม่พอใจของประชาชนต่อปัญหาค่าครองชีพสูง อีกทั้งการลงจากตำแหน่งของทรูโดยังปิดโอกาสของพรรคคอนเซอร์เวทีฟ (The Conservatives) ฝ่ายค้านที่เคยประกาศก่อนปิดสมัยประชุมสภาช่วงฤดูหนาวแล้วว่า กำลังพิจารณาขออภิปรายไม่ไว้วางใจต่อทรูโดอีกครั้งภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ก่อนหน้านี้ทรูโดรอดพ้นจากการลงมติไม่ไว้วางใจมาแล้วสามครั้งในเดือนกันยายน ตุลาคม และธันวาคมปีที่แล้ว
แต่ผู้นำหลายคนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการซักฟอกและตรวจสอบได้แบบทรูโด จนนำมาสู่การขับพ้นออกจากเก้าอี้ ในบทความนี้เราจะมาขยายความถึงกลไกทางการเมือง 3 แบบสำคัญที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เช่นนี้ในการเมืองโลกในปีที่ผ่าน ๆ มา
การอภิปรายไม่ไว้วางใจ (motion of no confidence, no-confidence vote)
จากนิยามของรัฐสภาอังกฤษ การอภิปรายไม่ไว้วางใจคือการเสนอญัตติจากสมาชิกสภาล่าง เพื่อแสดงความไม่ไว้วางใจต่อรัฐบาลหรือรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่ง รัฐบาลหรือรัฐมนตรีที่พ่ายต่อมิติไม่ไว้วางใจ ต้องลาออกจากตำแหน่งเพื่อเปิดโอกาสให้รัฐบาลชุดใหม่ หรือยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไป
ตัวอย่างผู้นำที่แพ้การอภิปรายไม่ไว้วางใจในปีที่ผ่านมา ได้แก่ โอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scolz) นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่ขอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเอง เพราะเขาต้องการให้มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์นี้หลังจากเกิดการแตกหักระหว่างพรรครัฐบาลผสม และมิเชล บาร์นิเยร์ (Michel Barnier) นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสที่ถูกยื่นญัตติไม่ไว้วางใจ เนื่องจากใช้มาตรา 49.3 ของรัฐธรรมนูญฝรั่งเศสลัดขั้นตอนการผ่านงบประมาณประกันสังคม (Sécurité sociale)
ส่วนในประเทศไทยนั้น มาตรา 151 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ระบุไว้ว่า “สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจํานวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร มีสิทธิเข้าชื่อเสนอญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ” โดย “มติไม่ไว้วางใจต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร” นายกรัฐมนตรีไทยที่เคยถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ เช่น นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง (Impeachment)
ขณะที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นกลไกซักฟอกเพียงรัฐบาลและรัฐมนตรีที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ การถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งนั้นอาจเกิดขึ้นทั้งต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการ และข้าราชการระดับสูงที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติตนโดยมิชอบหรือส่อว่ากระทำผิดต่อตำแหน่งและกฎหมาย นอกจากจะต้องพ้นจากตำแหน่งด้วย บุคคลเหล่านี้อาจถูกดำเนินคดีอาญาด้วยหากตัดสินว่ามีความผิดจริง
ช่วงสี่ปีที่ผ่านมา มีผู้นำโลก 3 คนที่เผชิญกับกระบวนการถอดถอน ปี ค.ศ. 2021 (พ.ศ. 2564) โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ถูกกล่าวหาว่ายุยงปลุกปั่นผู้สนับสนุนของตนจนเกิดการจลาจล ณ อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ (Capitol Hill) ก่อนที่การเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในสมัยแรกของเขาจะสิ้นสุดลง ปีถัดมา เปโดร กัสติโย (Pedro Castillo) อดีตประธานาธิบดีเปรู ถูกจับกุมและถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานความพยายามก่อรัฐประหาร และล่าสุด ยุน ซอก-ยอล (Yoon Suk Yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ถูกถอดถอนจากตำแหน่งจากการใช้กฎอัยการศึกเพื่อโจมตีฝ่ายค้าน
ส่วนในไทยนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 และ 2550 เคยให้อำนาจประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งรวมถึงสมาชิกรัฐสภาในการยื่นถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งทางการเมือง แต่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับปัจจุบันนั้น ไม่ปรากฏมาตราที่บัญญัติให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือสมาชิกของทั้งสองสภาสามารถยื่นถอดถอนผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง ผู้ดำรงตําแหน่งในองค์กรอิสระ เจ้าพนักงานและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้แทนที่กลไกการถอดถอนในการไต่สวนข้อกล่าวหาและชี้มูลความผิดต่าง ๆ
กลไกศาลรัฐธรรมนูญ (constitutional court)
ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทสำคัญในการตีความรัฐธรรมนูญและหาข้อยุติต่อข้อถกเถียงทางกฎหมายเป็นหลัก นอกจากนี้ยังจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เกิดขึ้นในประเทศแทบยุโรปตะวันออกช่วงทศวรรษ 1990 (พ.ศ. 2533-2542)
อย่างไรก็ตาม ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญบางประเทศเข้ามามีส่วนในการตัดสินคดีทางการเมืองเช่นกัน ศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้มีอำนาจยุบพรรคการเมืองและถอดถอนประธานาธิบดีด้วย ทั้งนี้ ในเกาหลีใต้ ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยมติถอดถอนจากรัฐสภาเท่านั้นภายใน 180 วันนับจากที่มีมติฯ เมื่อ 7 ปีก่อนศาลรัฐธรรมนูญเกาหลีใต้พิพากษารับรองมติรัฐสภาให้พัค กึน-ฮเย (Park Geun-hye) ออกจากตำแหน่งอันเนื่องมาจากคดีทุจริต
สำหรับในประเทศไทยนั้น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยคดีสำคัญเกี่ยวกับนายกรัฐมนตรี เช่น การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในปี พ.ศ. 2565 และการถอดถอนนายเศรษฐา ทวีสิน กรณีแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีเมื่อปีที่ผ่านมา
เป็นเรื่องปกติที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องเปลี่ยนผู้นำของตัวเองเมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม แต่แนวโน้มการเมืองในศตวรรษที่ 21 ชี้ให้เห็นว่า การใช้การเลือกตั้งเพื่อหวังผลทางการเมือง การกีดกันประชาชนออกจากกลไกการตรวจสอบและกิจกรรมทางการเมือง และความละเลยต่อหลักนิติธรรม (rule of law) นั้น อาจทำให้ประชาธิปไตยตกอยู่ในความเสี่ยงและไม่สะท้อนเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง
อ่านต่อ
อ้างอิง
- aljazeera.com
- apnews.com
- cbc.ca
- Niheer Dasandi, “Is Democracy Failing? A primer for the 21th century”
- Lee Epstein, Jack Knight and Olga Shvetsova, The Role of Constitutional Courts in the Establishment and Maintenance of Democratic Systems of Government, “Law & Society Review, 35(1)”
- francetvinfo.fr
- reuters.com
- parliament.uk
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐
- รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐