จากกรณี 4 อินฟลูเอนเซอร์ เข้าพบพนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือที่รู้จักในนามตำรวจไซเบอร์ เพื่อรับทราบข้อหาชวนเล่นพนันออนไลน์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ที่ผ่านมา จึงเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยยืนยันได้ว่า “การพนันออนไลน์” เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเรามาก ๆ สามารถพบเห็น-ถูกชักชวนได้แสนง่ายผ่านโลกโซเชียลมีเดีย ด้วยเหตุนี้ไทยพีบีเอสจึงอยากย้ำเตือนถึงภัยอันตรายปลายนิ้วนี้ว่า ถ้าเราเพียงคลิก..ชีวิตจะเปลี่ยนไปขนาดไหน
อ่าน : 4 อินฟลูเอนเซอร์ พบ ตร.ไซเบอร์ รับทราบข้อหาชวนเล่นพนันออนไลน์
ทำไม ? “เว็บพนันออนไลน์” โตไร้ขีดจำกัด
นายณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน เปิดเผยว่า ในปี 63-64 สถานการณ์ ความนิยมเว็บพนันออนไลน์เรียกได้ว่าพุ่งถึงจุดสูงสุด เนื่องจากมี โควิด-19 เป็นปัจจัยสำคัญ
ตัวชี้วัดหนึ่งซึ่งสำคัญ คือ ยอดการค้นหาใน Google Trend ยิ่งในช่วงที่มีมาตรการล็อกดาวน์จะพบว่า มีคำค้นหาเกี่ยวกับเว็บพนัน พุ่งสูงมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตั้งแต่มีระบบการบันทึก Google Trend
ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ทำสำรวจกับกลุ่มผู้เล่นนับ 10,000 ราย ในทุก 2 ปี โดยสำรวจทั่วประเทศและมีระบบการสำรวจอย่างน่าเชื่อถือ พบว่า การเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจในกลุ่มผู้เล่นออนไลน์ เนื่องจาก เมื่อเกิดโควิด -19 ขึ้น ได้เกิดการเคลื่อนย้ายของกลุ่มผู้เล่น ซึ่งกลุ่มผู้เล่นแบบตั้งเดิมหันหน้าเข้าหาการพนันออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากบ่อนแบบดั้งเดิมถูกปิด นั่นจึงเป็นจุดเริ่มของการเคลื่อนย้ายกลุ่มที่ไม่คิดจะเล่นการพนันออนไลน์มาก่อน ข้ามเข้าสู่ดินแดนการพนันออนไลน์
อ่านบทความ : พนันออนไลน์ ภัยร้ายแค่ปลายนิ้ว
“พนันออนไลน์” แหล่งสร้างนักพนันหน้าใหม่ โดยเฉพาะ “เยาวชน”
รศ. ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวในงานเสวนาวิชาการ “เปิดพฤติกรรมเยาวชนไทย รู้เท่าทันภัยพนัน?” ที่ จุฬาฯ ร่วมจัดกับทางมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ว่า ช่วงต้นปี 66 ได้ทำการสำรวจการพนันออนไลน์ในกลุ่มคนอายุ 15-25 ปี พบว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมามีนักการพนันหน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะคนมีเวลาอยู่บ้านและใช้เวลาเล่นอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทำให้เห็นการโฆษณาของพนันออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจากยังพบว่า เห็นแล้วอยากลอง 44% ลองกดเข้าไปดู 26% ทดลองเล่น 4% และแชร์ข้อความโฆษณาไปยังสาธารณะ 1% ทำให้การโฆษณาพนันออนไลน์ขยายวงกว้างออกไปอีก เพราะเข้าถึงง่าย เล่นได้ทุกที่ ทุกเวลา
ผลกระทบเมื่อลองเล่นพนันของเด็กและเยาวชน
1. ขาดเงินใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะนำเงินค่าขนมเงินที่พ่อแม่ให้มาไปเล่นพนัน
2. เกิดความเครียด เนื่องจากเล่นพนันเสีย จนส่งผลต่อสุขภาพจิตจนกลายเป็นภาวะซึมเศร้า
3. เป็นหนี้ หยิบยืมเงินเพื่อน นำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น ทะเลาะกับเพื่อน ครอบครัวเกิดความแตกแยก
ด้าน รศ.ณัฐนันท์ ศิริเจริญ อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ หัวหน้าทีมวิจัยเรื่อง “การรู้เท่าทันสื่อชวนพนันออนไลน์ของนักศึกษามหาวิทยาลัย ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล” เผยว่า งานวิจัยครั้งนี้ ได้การสอบถามนักศึกษาที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัยรัฐ และเอกชนอีก 400 คน ช่วงเดือน ก.ค. 65 - มี.ค. 66 พบว่า สาเหตุการเล่นพนันออนไลน์ มาจากการพบเห็นสมาชิกในครอบครัว เพื่อน คนในชุมชน บวกกับไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย แต่ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ เด็กหลายคนที่ทันกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่คิดว่าเป็นการเล่นพนัน แต่เป็นเพียงการเล่นเกมออนไลน์ที่ได้เงินรางวัล ได้ความสนุก ตื่นเต้น และท้าทาย
นอกจากนี้การที่คนดังหรือคนมีชื่อเสียงในสังคมในด้านต่าง ๆ ออกมากล่าวเชิญชวนเล่นพนันออนไลน์ ไม่เกรงกลัวกฎหมายหรือผลเสียร้ายแรงใด ๆ จะตามมา จนสุดท้ายมองว่าเป็นเรื่องปกติ จะยิ่งทำให้สถานการณ์ปัญหาการพนันในปัจจุบันน่าเป็นห่วงมากขึ้น
โดยงานวิจัยเกี่ยวกับการเล่นการพนันของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รายงานว่า 95% ผู้คนชอบเล่นการพนันเพื่อความสนุกสนาน สังสรรค์บันเทิงใจ ส่วนอีก 5% จะเป็นกลุ่มติดการพนันจนสร้างปัญหา ทะเลาะกับครอบครัว ไปจนถึงมีปัญหากับที่ทำงานหรือโรงเรียน ซึ่ง 1-3% ของคนกลุ่มนี้ ติดพนันจนมีอาการป่วยทางจิต สร้างผลเสียต่าง ๆ เช่น สิ้นเนื้อประดาตัว ต้องแยกทางกับครอบครัว โกหก ลักทรัพย์ และอาจถึงขั้นฆ่าตัวตายได้
อยากหยุดหายนะ “พนันออนไลน์” จริงจัง ภาครัฐต้องให้ความสำคัญ
นายณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ในฐานะนักวิจัยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน สะท้อนให้เห็นภาพว่า การจะป้องกันและปราบปรามปัญหาการพนันออนไลน์ ไม่สามารถจะทำได้ด้วยการทำกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่ง หรือมาตรการเดียวแล้วจะเห็นผล
เรื่องนี้มีบทเรียนในต่างประเทศหลายประเทศด้วยกันว่า ลำพังการบล็อกหรือปิดกั้นเว็บไซต์ ในการเข้าถึง ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้แต่ต้องจริงจังกว่านั้น
“คุณต้องบีบผู้ที่มีส่วนรู้เห็นหรือผู้ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการเล่นพนัน เช่น บริษัทบัตรเครดิต ธนาคารต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยให้มีการทำธุรกรรมถ่ายโอนกัน เพื่อให้เกิดการเล่นการพนันก็ต้องโดนบีบโดนกดดันจากภาครัฐ แน่นอนว่า รัฐไม่สามารถจะจับมือใครดมได้แต่ภาครัฐก็พอรู้ว่า ถ้าใช้มาตรการแบบนี้กับผู้ประกอบการธุรกิจการเงิน การธนาคาร ก็จะสามารถกดดันให้ธุรกิจการพนันปรับตัวได้เหมือนกัน” คำยืนยันจาก นายณัฐกร
มีในบางประเทศที่ใช้กฎหมายเข้มข้น รอบด้าน ก็สามารถทำได้ผล คือ ปิดกั้นอย่างจริงจังร่วมกับใช้การมาตรการโดยอ้อมเหล่านี้ในการที่จะที่จะเข้าไปบีบให้ทางเลือกของคนเล่นเหลือน้อยที่สุดนั่นเอง
หากคุณหรือคนใกล้ตัวกำลังมีปัญหาเกี่ยวกับติดการพนัน ไทยพีบีเอสขอแนะนำให้รีบทำการปรึกษา “สายด่วนเลิกพนัน 1323” ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเลิกพนันอย่างเด็ดขาด ก่อนเสพติดพนันจนถอนตัวไม่ขึ้น ทำชีวิตพังในที่สุด
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.), สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)