5 ธันวาคมของทุกปี ที่ประเทศไทยถือเป็นวันพ่อแห่งชาติ มาจากวันคล้ายวันพระราชสมภพของในหลวง ร.9
Thai PBS ชวนสำรวจดูวันพ่อทั่วโลก มีที่ไหนบ้าง ? และสัญลักษณ์บอกรักพ่อ มีอะไรที่น่าสนใจบ้าง ?
วันพ่อสากลจากพ่อที่ผู้รอดมาจากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ
วันพ่อ (Father’s Day) ในต่างประเทศส่วนใหญ่จะมีตรงกับวันอาทิตย์ในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะมีการเผยหลายไปทั่วโลกในเวลาต่อมา อาทิ ญี่ปุ่น อาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ มาเลเซีย และสหราชอาณาจักร รวมถึงประเทศในทวีปแอฟริกาด้วย
สำหรับวันพ่อสากลของประเทศสหรัฐอเมริกา มีจุดแรกเริ่มในช่วงปี 1909 ท่ามกลางงานฉลองวันแม่ที่เพิ่งจะมีขึ้นอย่างเป็นทางการไม่นาน โดยผู้หญิงคนหนึ่งนามว่า “Sonora Smart Dodd” ได้เข้าร่วมงานฉลองวันแม่แล้วก็ฉุกคิดขึ้นได้ว่า ในเมื่อมีวันฉลองให้กับแม่ ก็ควรมีวันฉลองให้กับพ่อด้วย
สาเหตุเบื้องหลังจาก “William Jackson Smart” ทหารรับจ่ายที่เป็นคุณพ่อของ Sonora นั่นเอง หลังจากที่เขาเอาชีวิตรอดมาได้จากสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ (American Civil War) ผ่านการสูญเสียภรรยาที่เป็นเสาหลักอีกคนของบ้าน เขาต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูลูกทั้ง 6 คน จนเติบใหญ่และจากไปอย่างสงบในท้ายที่สุด
ด้วยความรักที่มีต่อพ่อที่เป็นเสาหลักเพียงคนเดียวของบ้านนั่นเอง ทำให้ Sonora เริ่มเดินหน้าขับเคลื่อนให้เกิดวันพ่อขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกิดงานฉลองวันพ่อขึ้นครั้งแรกในวันที่ 19 มิถุนายน 1910 ก่อนจะค่อย ๆ ได้รับการยอมรับต่อมา และในปี 1972 Richard Nixon ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศให้วันอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายน เป็นวันพ่อแห่งชาติ
ทั้งนี้ สัญลักษณ์บอกรักพ่อที่สหรัฐอเมริกา คือ ดอกกุหลาบสีแดง แต่หากเป็นพ่อที่จากไปแล้ว จะมอบดอกกุหลาบสีขาวให้แทน ที่มาเกิดจาก Sonora Smart Dodd ที่ต่อสู้เพื่อให้เกิดวันพ่อ เธอมักจะมอบดอกกุหลาบขาวไว้ที่หน้าหลุมฝังศพเพื่อระลึกถึงคุณพ่อของเธอในวันพ่อนั่นเอง
วันพ่อแห่งความอบอุ่นของประเทศญี่ปุ่น
วันพ่อเข้ามาสู่ประเทศญี่ปุ่นต่อจากวันแม่ โดยเข้ามาในช่วงปี 1950 จึงมีการกำหนดให้วันพ่อตรงกับวันอาทิตย์ในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายนเหมือนกับวันพ่อของประเทศสหรัฐฯ ก่อนที่วันพ่อจะเป็นที่แพร่หลายมากขึ้น และมีการฉลองวันพ่ออย่างเป็นทางการกันในช่วงปี 1980
วันพ่อในญี่ปุ่นมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ขึ้นโดยสมาคมวันพ่อแห่งญี่ปุ่น และมีธีมสีหลักเป็นสีเหลืองที่ถูกใช้ สีเหลืองมีการนำมาใช้เพื่อสื่อความหมายถึงความอบอุ่น การป้องกันคุ้มครอง โดยใช้กันหลากหลายในโอกาสก่อนหน้านั้น เช่น การมอบโบริบบิ้นสีเหลืองเพื่อให้คนรักปลอดภัยจากสงครามในสหรัฐฯ
การจัดงานวันพ่อของญี่ปุ่นจึงมีชื่อเรียกรวมว่า “แคมเปญริบบิ้นสีเหลือง” มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับพ่อมากมาย เช่น การประกวดรางวัล Best Father นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสัญลักษณ์ที่ใช้บอกรักพ่อของญี่ปุ่น โดยจะให้ดอกไม้สีเหลืองเพื่อบอกรักพ่อ ซึ่งสื่อความหมายแสดงถึงความเคารพผู้เป็นพ่อ และการแสดงให้เห็นว่าพ่อคือผู้ปกป้องดูแลให้ความอบอุ่นปลอดภัยอีกด้วย ของขวัญอื่น ๆ ที่นิยมให้กับคุณพ่อจะได้แก่ เนคไทและผ้าเช็ดหน้า ซึ่งเป็นของใช้ในชีวิตประจำวันของเหล่าคุณพ่อของประเทศญี่ปุ่น
วันพ่อทางศาสนาของสเปนและโปรตุเกส
วันพ่อที่เผยแพร่ในทวีปยุโรป คือ วันที่ 19 มีนาคม ซึ่งมีรากมาตั้งแต่ช่วงยุคกลาง (Middle Ages) ในฐานะวันสำคัญทางศาสนาของชาวคริสต์นิกายคาทอลิก เป็นวันฉลองให้กับนักบุญโยเซฟ (St. Joseph) ที่ได้ชื่อว่าเป็นพ่อและสามีที่ดี ตามแบบอย่างของศาสนาคริสต์ ทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นพ่อบุญธรรมของพระเยซู โดยประเทศที่ฉลองวันพ่อในวันนี้ ได้แก่ สเปน อิตาลี และโปรตุเกส เป็นต้น
การฉลองวันพ่อของแต่ละที่มีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นวันแห่งครอบครัวที่จะใช้เวลาร่วมกัน ส่วนที่แตกต่างและโดดเด่น โดยวันพ่อของสเปนจะมีการจัดงานเทศกาลขึ้นอย่างจริงจังในแคว้นบาเลนเซีย (Valencia) มีประกาศให้เป็นวันหยุดอย่างเป็นทางการ มีการจัดเทศกาล “เผาหุ่น” ที่เรียกกันว่า ลาส ฟายอส (Las Fallas) ในช่วงเย็นของวันที่ 19 ต่อวันที่ 20 เพื่อระลึกถึงนักบุญโยเซฟ และต้อนรับฤดูใบไม้ผลิ
สิ่งของที่นิยมให้กันในวันพ่อ เพื่อแสดงความเคารพต่อคุณพ่อทุกคน รวมทั้งมีธรรมเนียมการกินอาหารกลางวันหรือเย็นร่วมกัน และให้ของความขวัญที่นิยมให้เป็นงานประดิษฐ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เด็ก ๆ ประดิษฐ์ขึ้นเองจากที่โรงเรียน
วันพ่อแห่งศรัทธาจากเนปาล
วันพ่อของประเทศเนปาลแตกต่างจากที่อื่น ๆ มีชื่อเรียกว่า วันกูเซ่ ออนซี (Kuse Aunsi) โดยวันพ่อของเนปาลจัดขึ้นตรงกับวันจับดับ (New moon) หรือแรม 15 ค่ำ ภัทระ หรือก็คือ เดือน 6 ของปฏิทินฮินดู ซึ่งอยู่ในช่วงระหว่างปลายเดือนสิงหาคมถึงต้นเดือนกันยายน
ชาวเนปาลมักไปสวดมนต์ขอพรจากพระอิศวรที่วัดโกการ์นา (Gokarneswor) และมักจะกลับบ้านเพื่อพบปะกัน โดยใช้เวลาอันมีค่าร่วมกับพ่อ หรือเยี่ยมเยือนตามสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อทำพิธีที่เรียกกันว่า “ศราทธะ” อันเป็นพิธีกรรมเพื่อรำลึกถึงพ่อที่ล่วงลับไป ถือเป็นเทศกาลตามความเชื่อทางศาสนาชาวฮินดู ทำให้มีผู้คนจำนวนมากมารวมตัวกันทุกปี
นอกจากนี้ ลูก ๆ ชาวเนปาลจะบอกรักพ่อด้วยการกลับบ้าน พร้อมกับไปใช้เวลาร่วมกับพ่อ มีการทำอาหารมื้อพิเศษ ซึ่งต้องมีของหวานและผลไม้ให้กับพ่อด้วย รวมถึงนิยมซื้อของขวัญเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พร้อมคำอวยพรและคำขอบคุณในความรัก การเสียสละของคนเป็นพ่อ
วันพ่อแม้ในแต่ละวัฒนธรรมจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป บางแห่งผูกโยงกับศาสนา บางที่ก็เกิดจากประวัติศาสตร์การต่อสู้ รวมถึงสงคราม ทว่าท้ายที่สุด วันพ่อเป็นวันที่ผู้คนต่างใช้เป็นโอกาสอันดีในการบอกรักพ่อ ทั้งผ่านการระลึกถึง การให้ของขวัญ การให้สัญลักษณ์ตามประเพณี รวมถึงการใช้เวลาอย่างมีค่าร่วมกัน
อ้างอิง
- donquijote.org
- mapsofworld.com
- hopnepal.com
- tvhs.org