ด้วยปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ที่กำลังทวีความรุนแรง ทำให้ขณะนี้เมืองไทยเผชิญทั้งความร้อนและภัยแล้งจัด ไทยพีบีเอสขอนำข้อมูลมาให้ได้ทราบว่า อะไร ? คือสาเหตุปรากฏการณ์นี้ เพื่อร่วมลดความรุนแรงของการเกิด “เอลนีโญ” ที่ทุกคนช่วยได้
อะไร ? ทำให้เกิด “เอลนีโญ”
เอลนีโญ (El Niño) เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างการหมุนเวียนของกระแสอากาศกับกระแสน้ำในมหาสมุทร ซึ่งปกติแล้วในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งกั้นระหว่างทวีปเอเชียและทวีปอเมริกา จะมีกระแสลมหรือเรียกว่าลมค้า (Trade winds) ซึ่งพัดจากด้านตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังด้านตะวันตก ซึ่งจะทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลจากอเมริกาใต้มายังประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดฝนตกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
แต่หากกระแสลมมีกำลังอ่อนและเปลี่ยนทิศทางพัด จะทำให้กระแสน้ำอุ่นไหลไปยังทวีปอเมริกาใต้แทน ด้วยเหตุนี้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียจึงขาดฝนและเกิดความแห้งแล้ง รวมถึงไฟป่าอย่างรุนแรง กลายเป็นที่มาของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ”
อ่าน : ไขคำตอบ เอลนีโญ-ลานีญา ความต่างที่สุดขั้ว
รู้ได้ว่า “เอลนีโญ” จะเกิดขึ้นตอนไหน ? ด้วย “ดาวเทียม”
ในปี 66 นับตั้งแต่ต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยหลักฐานจากข้อมูลจากดาวเทียม แสดงให้เห็นถึงปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” กำลังจะหวนกลับมาอีกครั้ง ซึ่งสามารถทราบได้โดยการวัดอุณหภูมิพื้นผิวน้ำทะเลด้วยการใช้เซนเซอร์ที่ติดตั้งบนดาวเทียม ควบคู่กับเซนเซอร์ที่ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำในมหาสมุทร เป็นหนึ่งในวิธีการที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ตรวจจับการมาของปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ได้อย่างแม่นยำ
โดยดาวเทียมสามารถตรวจวัดความสูงของระดับของผิวน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นจากน้ำทะเลโดยเฉลี่ยได้ เนื่องจากอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้โมเลกุลของน้ำเกิดการขยายตัวทำให้ปริมาณของน้ำเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ประกอบกับกระแสลมที่พัดอย่างต่อเนื่องซึ่งมีผลต่อระดับผิวน้ำทะเลเช่นกัน
สำหรับสภาพระดับน้ำทะเลปกติ ข้อมูลภาพจะแสดงด้วยโทนสีขาว ส่วนโทนสีแดงหมายถึงบริเวณที่ระดับน้ำทะเลมีค่าสูงกว่าปกติ จะมาจากข้อมูลของดาวเทียม Sentinel-6 และ Sentinel-3B ซึ่งวิเคราะห์โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ของ NASA
จากรายงานที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 66 โดยศูนย์พยากรณ์อากาศขององค์การบริหารมหาสมุทรและบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NOAA) ประกาศว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” รายงานได้ชี้ไปที่อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในบริเวณ Niño 3.4 ของแปซิฟิกเขตร้อน (จากลองจิจูด 170° องศาตะวันตก ถึง 120° องศาตะวันตก) ในเดือน พ.ค. 66 แสดงให้เห็นว่าอุณหภูมิอยู่ที่ 0.8°C (1.4°F) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย
โดยนักพยากรณ์คาดการณ์ว่าสภาวะ “เอลนีโญ” จะค่อย ๆ รุนแรงขึ้นช่วงฤดูหนาวแถบซีกโลกเหนือในปี 66-67 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น มีการคาดการณ์ว่ามีโอกาสถึง 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” แรงระดับปานกลาง และมีโอกาส 56% ที่จะเกิดอย่างรุนแรง
อย่างไรก็ตาม จากสถิติ ณ เดือน มิ.ย. 66 แสดงให้เห็นว่าปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” ยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเท่ากับปีที่เคยเกิดเอลนีโญมาแล้ว เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีนักวิทยาศาสตร์ได้ให้ความเห็นไว้ว่า ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปว่าปรากฏการณ์เอลนีโญที่กำลังเกิดขึ้นในรอบปีนี้จะส่งผลกระทบรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา
อ่าน : นักวิทย์ชี้ปรากฏการณ์ "เอลนีโญ" ในมหาสมุทรแปซิฟิกเริ่มแล้ว
ทำไม? “อุณหภูมิน้ำทะเลมหาสมุทรแปซิฟิก” ส่งผลกับสภาพอากาศทั่วโลก
ด้วยความที่ร้อยละ 70 ของพื้นผิวโลกถูกปกคลุมด้วยมหาสมุทร จึงมีผลอย่างมากต่อสภาพภูมิอากาศ เพราะมหาสมุทรสามารถกักเก็บความร้อนไว้ได้ดี แล้วจึงค่อย ๆ ปล่อยความร้อนออกมา ทำให้กระแสน้ำในมหาสมุทรสามารถไหลไปยังที่ต่าง ๆ ในระยะทางไกลได้ นอกจากนี้กระแสน้ำทำให้อุณหภูมิผิวน้ำเปลี่ยนแปลงไปซึ่งส่งผลต่อสภาพอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณชายฝั่งทะเล
และเนื่องจากอากาศเหนือกระแสน้ำอุ่นจะอุ่น (และอากาศเหนือกระแสน้ำเย็นจะเย็น) อากาศที่เคลื่อนที่จากทะเลมาสู่ฝั่งพร้อมกันกับกระแสน้ำจะมีผลทำให้อุณหภูมิของอากาศบนผืนดินเปลี่ยนแปลงไปตามอุณหภูมิของกระแสน้ำ เช่น กระแสน้ำอุ่นแอตแลนติกเหนือที่ไหลเลียบฝั่งตะวันตกทวีปยุโรป จะทำให้ในฤดูหนาว อากาศจะไม่หนาวจัด เป็นต้น
โดยช่วงที่เกิด “เอลนีโญ” ความร้อนส่วนเกินจำนวนมหาศาลทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิกเขตร้อน จะถูกนำพาไปรอบโลกโดยการหมุนเวียนของบรรยากาศ* ทำให้สภาพอากาศที่เป็นปกติในหลายภูมิภาคเปลี่ยนแปลงไป อุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรอินเดียและแอตแลนติกก็เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลกระทบต่อลักษณะภูมิอากาศในมหาสมุทรอินเดียแอตแลนติก และพื้นทวีปข้างเคียงบรรยากาศที่อยู่เหนือมหาสมุทรเหล่านี้ สัมพันธ์กับพื้นน้ำที่อยู่เบื้องล่างจะช่วยขยายการแปรปรวนของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลออกไป สร้างผลกระทบต่อภูมิอากาศทั่วโลก โดยในเขตอบอุ่นและเขตหนาวผลกระทบจาก “เอลนีโญ” ที่เกิดแต่ละครั้งจะผันแปรไปมากกว่าในเขตร้อน
“เอลนีโญ” ก่อให้เกิดภัยร้ายอะไรบ้าง ?
ทำให้อุณหภูมิโลกอาจเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส
อันจะส่งผลอาจทำให้เกิดน้ำท่วมอย่างหนัก เกิดความแห้งแล้ง ไฟป่า รวมถึงการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
“ไซโคลน” จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
แม้ “เอลนีโญ” อาจทำให้เกิดพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกน้อยลงกว่าเดิม แต่กลับตรงกันข้ามในมหาสมุทรแปซิฟิก เนื่องจากน้ำอุ่นสามารถก่อให้เกิดไซโคลนที่รุนแรงขึ้นได้
ปะการังฟอกขาว
หลังจากน้ำทะเลมีความร้อนที่มากเกินไป จะส่งผลให้ปะการังคายสาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อออกมา ซึ่งมีหน้าที่ให้สีและพลังงานส่วนใหญ่แก่ปะการัง ทำให้เปลี่ยนไปกลายเป็นสีขาว และถึงแม้ว่าปะการังจะฟื้นตัวได้หากอุณหภูมิเย็นลง แต่การฟอกขาวมีความเสี่ยงสูงที่จะทำให้ปะการังอดอาหารและตายได้ในที่สุด
น้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นกว่าเดิม
จากผลวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ซึ่งศึกษาน้ำแข็งที่ทวีปแอนตาร์กติกา พบว่า “เอลนีโญ” จะช่วยเร่งให้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำทะเลทั่วโลกสูงขึ้น
ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หนทางแก้การเกิด “เอลนีโญ”
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO) ได้เปิดเผยว่า อากาศที่ร้อนขึ้นจะยิ่งทำให้ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” มีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากการเกิด “เอลนีโญ” มีสาเหตุหลักมาจากการปล่อย “ก๊าซเรือนกระจก” ดังนั้นการจะทำให้ “เอลนีโญ” รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ลดความรุนแรงลง พวกเราทุกคนต้องช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกันอย่างจริงจังมากขึ้น อันจะเป็นหนทางสำคัญที่จะช่วยคืนความสมดุลให้กับโลกใบนี้ ลดความรุนแรงของปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอย่างได้ผลที่สุด
*หมายเหตุ : โลกมีสัณฐานเป็นทรงกลม โคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 1 ปี หากโลกไม่หมุนรอบตัวเอง บริเวณเส้นศูนย์สูตรของโลกจะเป็นแถบความกดอากาศต่ำ (L) มีอุณหภูมิสูง เนื่องจากแสงอาทิตย์ตกกระทบเป็นมุมฉาก ส่วนบริเวณขั้วโลกทั้งสองจะเป็นแถบความกดอากาศสูง (H) มีอุณหภูมิต่ำ เนื่องจากแสงอาทิตย์ตกกระทบเป็นมุมลาดขนานกับพื้น อากาศร้อนบริเวณศูนย์สูตรยกตัวขึ้นทำให้อากาศเย็นบริเวณขั้วโลกเคลื่อนตัวเข้าแทนที่ การหมุนเวียนของบรรยากาศบนซีกโลกทั้งสองเรียกว่า “แฮดเลย์ เซลล์” (Hadley cell) แต่ความเป็นจริง โลกหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 24 ชั่วโมง เซลล์การหมุนเวียนของบรรยากาศ จึงแบ่งออกเป็น 3 เซลล์ ได้แก่ แฮดเลย์ เซลล์ (Hadley cell), เฟอร์เรล เซลล์ (Ferrel cell) และ โพลาร์ เซลล์ (Polar cell) ในแต่ละซีกโลก
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : Gistda, ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA), กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization : WMO)