รอบตัวเรา – ชีวิตประจำวันในแต่ละวันนั้น เราต้องพบเจอกับสารเคมีหลายรูปแบบ ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย เครื่องสำอาง ยา อาหาร สารปรุงแต่งอาหารและเครื่องดื่ม เป็นต้น สารเคมีที่เราใช้ในการทำความสะอาดเครื่องใช้และพื้นผิวต่าง ๆ รวมถึงสารกำจัดแมลงและสารกำจัดศัตรูพืช สารเคมีเหล่านี้ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตและทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น แต่หากเราใช้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ถูกวิธีก็อาจส่งผลต่อร่างกายและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ซึ่งบ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวเกี่ยวกับอุบัติเหตุจากการใช้ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนร่วมกัน Thai PBS Sci & Tech จึงได้รวบรวม 6 ตัวอย่าง “สารเคมี” ในครัวเรือนที่ไม่ควรใช้ร่วมกันไว้ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นภายในบ้าน รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในการใช้ประโยชน์จากสารเคมีในครัวเรือน
1. ไม่ควรผสม “น้ำยาล้างห้องน้ำ” กับ “น้ำยาซักผ้าขาว”
บางคนมีความเชื่อว่าหากผสมน้ำยาล้างห้องน้ำกับน้ำยาซักผ้าขาวแล้วจะทำให้คราบสิ่งสกปรกต่าง ๆ ในห้องน้ำหลุดออกได้ง่ายขึ้น ลดแรงขัด ซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด โดยน้ำยาซักผ้าขาวที่มีส่วนประกอบของโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) เมื่อเจอกับน้ำ (H2O) จะสลายตัวได้กรดไฮโปคลอรัส (HOCl) ที่มีคุณสมบัติฆ่าเชื้อโรคได้ดี หากแต่ถ้าเจอกับกรดไฮโดรคลอริก (HCl) ที่เป็นหนึ่งในส่วนประกอบในน้ำยาล้างห้องน้ำ กรดทั้งสองจะทำปฏิกิริยากันแล้วทำให้ได้ก๊าซคลอรีนซึ่งเป็นก๊าซพิษเกิดขึ้น
NaOCl (น้ำยาซักผ้าขาว) + H2O ® HOCl + Na+ + OH-
HOCl + HCl (น้ำยาล้างห้องน้ำ) ® H2O + Cl2 (ก๊าซคลอรีน)
ก๊าซคลอรีนนั้นมีสีเหลืองอมเขียวจางมาก ๆ กลิ่นฉุน หากสูดดมเข้าไปปริมาณน้อยจะทำให้มีอาการระคายเคืองเยื่อบุตา เยื่อบุโพรงจมูก ทางเดินหายใจและลำคอ แสบจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก เวียนหัว น้ำตาไหล ไอ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น และหากสูดดมเข้าไปในปริมาณมากอาจเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมปอดและภาวะระบบหายใจล้มเหลวเฉียบพลันได้ ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงอาจพบภาวะขาดออกซิเจนและภาวะเลือดเป็นกรด ส่งผลให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
2. ไม่ควรผสม “น้ำยาซักผ้าขาว” กับ “น้ำส้มสายชู” หรือกับกรดอื่น ๆ
เช่นเดียวกัน หากผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับน้ำส้มสายชูที่เป็นกรดอะซิติก (CH3COOH) เจือจางในน้ำ หรือกับกรดชนิดอื่น ๆ ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดก๊าซพิษคลอรีนขึ้นได้
2HOCl + 2CH3COOH (น้ำส้มสายชู) ® Cl2 (ก๊าซคลอรีน) + 2H2O + 2CH3COO-
ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาซักผ้าขาวร่วมกันกับผลิตภัณฑ์หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นกรดทุกชนิด
3. ไม่ควรผสม “น้ำยาซักผ้าขาว” กับ “ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด” ที่มีส่วนผสมของ “แอมโมเนีย”
แอมโมเนีย (NH3) เป็นสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็นด่าง พบว่าเป็นส่วนประกอบในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลายชนิด เช่น น้ำยาล้างจานบางสูตร น้ำยาเช็ดกระจกและน้ำยาถูพื้น เป็นต้น ไม่ควรนำมาผสมกับน้ำยาซักผ้าขาวเพื่อหวังผลให้มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดที่ดีขึ้น หากแต่จะผลิตก๊าซพิษคลอรามีนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพขึ้นแทน
HOCl + NH3 ® NH2Cl (ก๊าซคลอรามีน) + H2O
คลอรามีนเป็นก๊าซที่ไม่มีสี มีกลิ่นฉุน หากสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการระคายเคืองตา จมูกและลำคอได้ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ไอ และอาจอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ในกรณีที่สูดดมเข้าไปในปริมาณมาก
4. ไม่ควรผสม “น้ำยาซักผ้าขาว” กับ “แอลกอฮอล์” หรือ “อะซิโตน”
ไม่ควรผสมน้ำยาซักผ้าขาวกับแอลกอฮอล์ล้างมือหรือแอลกอฮอล์ทำความสะอาดพื้นผิว หรือกับผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีส่วนประกอบของอะซิโตน (Acetone) เช่น น้ำยาล้างเล็บ น้ำยาล้างกาว น้ำยาเช็ดล้างเครื่องมือช่าง น้ำยาล้างแปรงทาสีและลูกกลิ้งทาสี เป็นต้น เนื่องจากทั้งแอลกอฮอล์และอะซิโตนเมื่อเจอกับโซเดียมไฮโปคลอไรท์ (NaOCl) ในน้ำยาซักผ้าขาวจะทำปฏิกิริยากันได้คลอโรฟอร์ม (CHCl3) เกิดขึ้น
3NaOCl (น้ำยาซักผ้าขาว) + CH3-CO-CH3 (อะซิโตน) ® CHCl3 (คลอโรฟอร์ม) + 2NaOH + NaO-CO-CH3
โดยคลอโรฟอร์มเป็นของเหลวที่ระเหยง่าย ไม่มีสี มีคุณสมบัติเป็นยาสลบ หากได้รับและสูดดมไปในปริมาณมากจะทำให้ระคายเคืองดวงตา ทำลายตับ ไตและระบบประสาท มีโอกาสทำให้หมดสติได้
5. ไม่ควรผสม “น้ำส้มสายชู” กับ “ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์”
ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ (H2O2) มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรค ดังนั้นจึงสามารถเจออยู่ในผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์สำหรับล้างผักผลไม้และสำหรับล้างบาดแผล นอกจากนี้ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ยังเป็นส่วนผสมหนึ่งในผลิตภัณฑ์ซักผ้าและผลิตภัณฑ์เปลี่ยนสีผมอีกด้วย ด้วยคุณสมบัติการฆ่าเชื้อจุลชีพนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่าหากนำไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์มาผสมกับน้ำส้มสายชูแล้วจะทำให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคได้ดียิ่งขึ้น แต่ความเป็นจริงคือเมื่อสารทั้งสองผสมกันจะทำให้ได้กรดเปอร์อะซิติก (CH3COOOH) ที่เป็นพิษและก่อให้เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตา และระบบทางเดินหายใจได้ อีกทั้งยังมีฤทธิ์กัดกร่อนพื้นผิววัสดุอีกด้วย
CH3COOH (น้ำส้มสายชู) + H2O2 (ไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์) ® CH3COOOH (กรดเปอร์อะซิติก) + H2O
ดังนั้นจึงไม่ควรผสมสารทั้งสองด้วยกันโดยตรง ควรเจือจางในน้ำสะอาดโดยแยกภาชนะกัน
6. ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ “ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้ง” ร่วมกัน
ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งมีหลายประเภท มีส่วนประกอบทางเคมีและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน บางคนอาจคิดว่าการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งร่วมกันจะทำให้ได้ประสิทธิภาพในการชำระล้างดีขึ้น แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น หากแต่จะทำให้เกิดอันตรายมากขึ้นอีกด้วย ยกตัวอย่างเช่นโซดาไฟหรือโซเดียมไฮดรอกไซด์ (NaOH) ที่มีฤทธิ์เป็นเบสแก่ ควรใช้เดี่ยว ไม่ควรใช้ร่วมกับผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของกรด เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยาคายความร้อนอย่างรุนแรง น้ำร้อนอาจจะกระเด็นมาโดนผิวหนังและเป็นอันตรายได้ ส่วนผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดท่อน้ำทิ้งที่มีส่วนประกอบของกรดแก่ เช่น กรดซัลฟิวริก (H2SO4) ก็ควรใช้ในลักษณะที่เจือจางและปริมาณที่เหมาะสม ไม่มากจนเกินไป ในขณะรอให้เกิดการชะล้างก็ไม่ควรอยู่ในบริเวณนั้น และควรเปิดประตู หน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการหายใจเอาก๊าซพิษเข้าสู่ร่างกายได้
การใช้ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือนที่มีส่วนประกอบของสารเคมีจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมาก ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน อย. และมีฉลากชัดเจน ควรทราบส่วนประกอบทางเคมีของผลิตภัณฑ์เหล่านั้น และควรศึกษาถึงวิธีการใช้ คำเตือน รวมถึงวิธีแก้พิษเบื้องต้นอย่างละเอียด
นอกจากนี้ควรต้องป้องกันตัวเองโดยการสวมใส่ถุงมือ รองเท้า เสื้อคลุมและแว่นตาป้องกันสารเคมี และควรใช้ผลิตภัณฑ์สารเคมีเหล่านี้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ไม่ผสมสารเคมีรวมกันหากไม่จำเป็นเพราะอาจทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างไรก็ดีหากได้รับสารพิษหรือได้รับอันตรายเมื่อสัมผัสกับสารเคมีควรไปพบแพทย์ทันที
อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : อาจารย์ ดร.ธีรวัฒน์ สงสีจันทร์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech