ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

พบคลิปเหตุการณ์ที่สวีเดนถูกอ้างว่า ตร.อิสราเอลทำร้ายเด็กปาเลสไตน์


Verify

19 พ.ย. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

พบคลิปเหตุการณ์ที่สวีเดนถูกอ้างว่า ตร.อิสราเอลทำร้ายเด็กปาเลสไตน์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1910

พบคลิปเหตุการณ์ที่สวีเดนถูกอ้างว่า ตร.อิสราเอลทำร้ายเด็กปาเลสไตน์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ขณะที่สงครามในฉนวนกาซาดำเนินเข้าสู่ปีที่สอง ผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ยังคงแชร์วิดีโอพร้อมคำกล่าวอ้างเท็จอย่างแพร่หลาย โดยหนึ่งในโพสต์เหล่านั้นได้แชร์วิดีโอฉบับหนึ่งและประณามตำรวจอิสราเอลว่าพวกเขาทำร้ายเด็กชาวปาเลสไตน์จนเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม วิดีโอดังกล่าวแสดงเหตุการณ์ในประเทศสวีเดนในปี 2558 และไม่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในอิสราเอล

คำเตือน: วิดีโอมีเนื้อหาความรุนแรง

"ตำรวจอิสราเอลคนหนึ่งนั่งอยู่บนร่างของเด็กชาวปาเลสไตน์ และรัดคอเด็กชาวปาเลสไตน์ในระหว่างการประท้วงต่อต้านสถานทูตอเมริกันในกรุงเยรูซาเลมเมื่อวันเสาร์ ทำให้เด็กชาวปาเลสไตน์หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในที่สุด" โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2567 เขียนคำบรรยายประกอบวิดีโอฉบับหนึ่ง

วิดีโอดังกล่าวแสดงภาพชายสวมเสื้อกั๊กสีเหลืองสะท้อนแสงกำลังกดใบหน้าของเด็กชายคนหนึ่งลงกับพื้น

เด็กชายคนดังกล่าวได้ยกนิ้วชี้ขึ้น และสวดคำปฏิญาณ "ชะฮาดะห์" (Shahada) ในศาสนาอิสลาม เพื่อแสดงความศรัทธาต่อพระอัลเลาะห์และการยอมรับศาสดามูฮัมหมัดในฐานะผู้ส่งสารของพระเจ้า

ภาพถ่ายหน้าจอของโพสต์เฟซบุ๊กที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ

โพสต์นี้ถูกเผยแพร่ในช่วงที่สงครามในกาซาทวีความรุนแรงขึ้น หลังกลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตจาก 1,206 ราย ส่วนมากเป็นพลเรือน AFP รายงานตัวเลขโดยอ้างอิงจากข้อมูลของทางการอิสราเอล (ลิงก์บันทึก)

จากตัวประกันทั้งหมด 251 คน ขณะนี้มี 97 คนที่ยังคงถูกคุมขังไว้ในฉนวนกาซา ส่วนตัวประกัน 34 รายได้รับการยืนยันว่าเสียชีวิตแล้ว แต่ศพของพวกเขายังคงอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว

การตอบโต้ของอิสราเอลทำให้มีผู้เสียชีวิตในกาซาอย่างน้อย 43,700 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน กระทรวงสาธารณสุขในเขตปกครองของกลุ่มฮามาสระบุ ซึ่งองค์การสหประชาชาติยืนยันว่าเป็นตัวเลขที่เชื่อถือได้

วิดีโอดังกล่าวยังถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างลักษณะเดียวกันโดยผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในบังกลาเทศ  อินเดีย  มาเลเซีย  ปากีสถาน  ออสเตรเลีย และ โรมาเนีย

ความคิดเห็นในโพสต์เหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า หลายคนเชื่อว่าวิดีโอนี้แสดงเหตุการณ์ตำรวจอิสราเอลทำร้ายเด็กชาวปาเลสไตน์

"ผมทนไม่ไหวแล้วที่อิสราเอลมันทำกับพี่น้องปาเลสไตน์" ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กรายหนึ่งแสดงความคิดเห็น

"ดูการกระทำของประชาชาติที่ชั่วช้าที่สุดไซออนิสต์ ที่กระทำต่อเด็กชาวปาเลสไตน์" อีกความคิดเห็นระบุ

เกิดเหตุประท้วงต่อต้านสงครามในอิสราเอลหลายครั้งในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านสงครามในกาซา และเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลดำเนินการให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันที่เหลือ (ลิงก์บันทึก)

AFP ไม่พบรายงานทางการใด ๆ ว่ามีเด็กชาวปาเลสไตน์ถูกตำรวจอิสราเอลทำร้ายจนเสียชีวิตระหว่างการประท้วงใกล้สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงเยรูซาเลมตามคำกล่าวอ้าง

วิดีโอดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์แต่อย่างใด โดย AFP เคยตรวจสอบวิดีโอนี้ซึ่งถูกแชร์พร้อมคำกล่าวอ้างเท็จคล้าย ๆ กัน และได้ตีพิมพ์รายงานในปี 2562 และ 2566

วิดีโอจากสวีเดน

การค้นหาภาพย้อนหลังโดยใช้คีย์เฟรมของวิดีโอพบว่า คลิปดังกล่าวถูกบันทึกในประเทศสวีเดนตั้งแต่ปี 2558

คลิปเดียวกันนี้ในรูปแบบที่มีความละเอียดสูงถูกเผยแพร่ในช่องยูทูบของหนังสือพิมพ์ของสวีเดนชื่อซีดสเวนกัน (Sydsvenkan) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 (ลิงก์บันทึก)

ชื่อวิดีโอในภาษาสวีเดนแปลเป็นไทยได้ว่า "รปภ. กดศีรษะเด็ก 9 ขวบกับพื้น"

หนังสือพิมพ์ซีดสเวนกันได้เผยแพร่รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวบนเว็บไซต์ด้วย (ลิงก์บันทึก)

ด้านล่างคือการเปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และช่องยูทูบของ Sydsvenkan ในปี 2558 (ขวา):
เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างโพสต์ที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และช่องยูทูบของ Sydsvenkan ในปี 2558 (ขวา)

ผู้สื่อข่าว AFP ระบุว่าได้ยินเสียงคนพูดภาษาสวีเดนในวิดีโอต้นฉบับว่า "เขาเป็นเด็กนะ" และ "เด็กอายุเท่าไหร่"

นอกจากนี้ สามารถสังเกตคำภาษาสวีเดนว่า "Ordnings Vakt" หรือ "ผู้ให้บริการสาธารณะ" อยู่ที่ด้านหน้าและด้านหลังของเสื้อกั๊กของเจ้าหน้าที่ในช่วงต้นคลิป ซึ่งตรงกับเครื่องแบบทั่วไปของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ปฏิบัติงานช่วยเหลือตำรวจในสวีเดน

ด้านล่างคือภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในช่องยูทูบ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญ:
ภาพถ่ายหน้าจอของวิดีโอในช่องยูทูบ โดย AFP ได้ทำเครื่องหมายเพื่อเน้นองค์ประกอบสำคัญเด็กชายชาวโมร็อกโก

 

AFP ได้ติดต่อเจนส์ มิกเคลเซน ผู้สื่อข่าวที่รายงานเหตุการณ์ดังกล่าวบนหนังสือพิมพ์ซีดสเวนกัน (ลิงก์บันทึก)

เขายืนยันกับ AFP ผ่านอีเมลเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ว่า คลิปดังกล่าวเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเมืองมัลโม ประเทศสวีเดน

"ใช่ครับ ผมเขียนเกี่ยวกับเด็กชายคนนี้ในรายงานหลายชิ้นของผม" มิกเคลเซนกล่าวกับ AFP

มิกเคลเซนเรียกเด็กชายคนนี้ว่า "อามิน" และระบุว่าเขาเกิดและเติบโตท่ามกลางความยากจนอย่างหนักในโมร็อกโก ก่อนจะหนีออกจากบ้านเมื่ออายุ 12 ปี และสุดท้ายก็เดินทางมาถึงเมลียา ซึ่งเป็นเมืองของประเทศสเปนที่ตั้งอยู่ชายฝั่งทางตอนเหนือของโมร็อกโก

"อามินพยายามทุกคืนเป็นเวลาหลายเดือนเพื่อที่จะขึ้นเรือข้ามฝั่งไปยังสเปน จนในที่สุดเขาก็ทำสำเร็จ เขาเดินทางกับเพื่อน ๆ ทั้งทางรถไฟ รถบัส และโบกรถไปยังสวีเดน" มิกเคลเซนกล่าว

เคเทีย แวกเนอร์ ผู้สื่อข่าวที่เขียนหนังสือเกี่ยวกับอามินและเด็กชาวโมร็อกโกคนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ตามท้องถนนในกรุงสตอกโฮล์ม ก็ได้พิจารณาวิดีโอเดียวกันนี้ด้วย (ลิงก์บันทึกที่นี่ และ นี่)

แวกเนอร์ระบุในอีเมลวันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 ว่า "เด็กชายในวิดีโอนี้คืออามินอย่างแน่นอน ฉันเดินทางไปพบเขาที่สถานสงเคราะห์หลังจากเหตุการณ์ในเมืองมัลโม และฉันก็ติดต่อกับเขาอยู่พักหนึ่ง"

AFP ได้ติดต่อไปยังหน่วยงานสังคมสงเคราะห์และสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในสวีเดนเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอามิน แต่ไม่ได้รับการตอบกลับ

สำนักข่าวฟรานซ์ 24 รายงานเหตุการณ์นี้เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 โดยระบุเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสองคนถูกตำรวจเรียกสอบสวนหลังเกิดเหตุ (ลิงก์บันทึก)

เว็บไซต์ข่าวท้องถิ่นชื่อเดอะโลคัลสวีเดน รายงานว่าเจ้าหน้าที่ทั้งสองไม่ถูกแจ้งข้อหาใด ๆ จากเหตุการณ์ดังกล่าว (ลิงก์บันทึก)

ข้อมูลจาก AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมคลิปปลอมหลอกลวงข้อมูลเท็จอิสราเอลปาเลสไตน์ฟีดคลิปวิดีโอ
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด