ปรากฏการณ์แปลกประหลาดไม่เคยมีมาก่อนนับตั้งแต่มีการบันทึกในปี 1951 (พ.ศ. 2494) เมื่อ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น เปิดเผยว่า มีพายุไต้ฝุ่น (Typhoon) 4 ลูกก่อตัวพร้อมกันในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกในเดือน พ.ย. 67 พัดถล่ม “ฟิลิปปินส์” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ
กล้อง “EPIC” (Earth Polychromatic Imaging Camera) ของ NASA ซึ่งติดตั้งบนดาวเทียม DSCOVR (Deep Space Climate Observatory) ได้ถ่ายภาพเมื่อเวลา 08.55 น. ตามเวลาฟิลิปปินส์ (07.55 น. เวลาประเทศไทย) ของวันที่ 11 พ.ย. 67 โดยสังเกตเห็นพายุไต้ฝุ่น (Typhoons) 4 ลูกดังกล่าว ซึ่งมีชื่อภายหลังว่า หยินซิ่ง (Yinxing), โทราจี (Toraji), อุซางิ (Usagi) และ หม่านหยี่ (Man-Yi) (ไต้ฝุ่นลูกนี้เปลี่ยนความเร็วเป็นซูเปอร์ไต้ฝุ่นพัดถล่มฟิลิปปินส์เมื่อวันที่ 17 พ.ย. ที่ผ่านมา) ซึ่งในขณะถ่ายภาพ พายุไต้ฝุ่น (Typhoons) 4 ลูกดังกล่าวอาจกำลังเข้าใกล้ฟิลิปปินส์หรือเคลื่อนตัวผ่านหมู่เกาะและพื้นที่โดยรอบไปแล้ว
องค์การนาซา (NASA) เผยว่า ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น (Typhoons) ในมหาสมุทรแปซิฟิกมากที่สุดในปีนี้ (พ.ศ. 2567) โดยพายุที่ผ่านมาได้แก่ “พายุโซนร้อนจ่ามี” และ “พายุไต้ฝุ่นกองเร็ย” ได้ทำให้เกิดน้ำท่วมและดินถล่มรุนแรงในลูซอนเมื่อปลายเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์เผชิญกับพายุไปแล้วอย่างน้อย 15 ลูก ซึ่งทาง NASA ตั้งข้อสังเกตว่า แม้ฤดูไต้ฝุ่น (Typhoons) ในแปซิฟิกตะวันตกสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีก็ตาม แต่พายุส่วนใหญ่มักจะก่อตัวขึ้นในระหว่างเดือน พ.ค. - ต.ค. เท่านั้น ดังนั้น การเกิดพายุในเดือนนี้ (พ.ย.) 4 ลูกพร้อม ๆ กัน จึงเป็นเหตุการณ์ที่ “ไม่ปกติ” อย่างมาก
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : NASA
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech