ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

“ฝันร้าย” ทำไม ? อันตรายต่อสุขภาพ


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

18 พ.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

“ฝันร้าย” ทำไม ? อันตรายต่อสุขภาพ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1906

“ฝันร้าย” ทำไม ? อันตรายต่อสุขภาพ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

“ฝันร้าย” คือ “ความฝัน” ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ด้านลบ มีภาพชัดเจน ผู้ที่ฝันสามารถจำเนื้อหาได้ เนื้อหาความฝันมักน่ากลัว และส่งผลให้การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในช่วงการนอนที่มีการเคลื่อนไหวไปมาของตาอย่างรวดเร็ว (rapid eye movement sleep) บางคนมักจะฝันร้ายตอนเช้าส่งผลให้เกิดความรู้สึกวิตกกังวล หวาดกลัว หรือโศกเศร้า จนเป็นอันตรายกับสุขภาพของเราได้

young-woman-sleeps-white-bed

สาเหตุของ “ฝันร้าย”

ความรู้ในเรื่อง “ฝันร้าย” อาจารย์ นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่า ฝันร้ายไม่ใช่ความผิดปกติเสมอไป แต่หากเกิดขึ้นบ่อยจนรบกวนชีวิตประจำวัน พบว่ามักมีสาเหตุบางอย่างที่ควรได้รับการบำบัดรักษา เช่น

     - สาเหตุที่พบบ่อยของฝันร้ายมาจากความวิตกกังวลและความเครียด
     - การสูญเสียบุคคลที่รักหรือ การถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจอย่างรุนแรง
     - ผลข้างเคียงของยา เช่น ยานอนหลับ
     - ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่มากเกินไป
     - ความผิดปกติของการหายใจขณะหลับหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
     - การรับประทานอาหารที่ย่อยยากก่อนนอน เช่น เนื้อสัตว์
     - มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล และภาวะผิดปกติทางจิตใจที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ร้ายแรง (PTSD) ซึ่งภาวะอย่างหลังนี้มักจะมี ความฝัน ถึงเหตุการณ์ร้าย ๆ ที่เคยพบเจอมา เป็นภาพฉายซ้ำ ๆ บางครั้งอาจเห็นภาพแค่บางส่วน

little-girl-bed-with-toy

เด็ก “ฝันร้าย” ได้ไหม ?

เด็กเล็ก 1-2 ปี จะเริ่มมีอาการฝันร้าย คือ การสะดุ้งตื่นกลางดึกและร้องไห้ แต่ในเด็กเล็กอาจจะยังไม่รู้ว่าคือฝันร้าย แต่เมื่ออายุ 3-4 ปี จะเริ่มสื่อสารถึงเรื่องราวที่ฝันได้ และรับรู้ว่าสิ่งนั้นคือฝันร้าย

ผู้หญิงนอนหลับโดยเอาผ้าห่มปิดตา

เด็ก “ฝันร้าย” เพราะอะไร

ฝันร้ายในเด็กเล็กอาจเกิดจากความเหนื่อยล้าหรือเกิดจากสถานการณ์ เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมที่เด็กได้รับก่อนเข้านอนหรือได้รับในแต่ละวัน เช่น ดูภาพยนตร์ โทรทัศน์ หรือคลิป Youtube ที่มีภาพ เสียงที่น่ากลัวหรือมีความรุนแรง พอถึงเวลานอนตอนกลางคืนเด็กก็มักจะฝันร้าย

woman-stressed-bed-bedroom

วิธีลดอาการ “ฝันร้าย” ของเด็ก

     - เข้านอนอย่างเป็นเวลา เด็กเล็กควรเข้านอนแต่หัวค่ำฝึกเป็นนิสัยและห้องนอนของเด็กอาจจะมีตุ๊กตาที่ชอบไว้เป็นเพื่อนแก้เหงาเพื่อให้เด็ก ๆ มีจิตใจสงบลดฝันร้าย

     - กิจกรรมก่อนเข้านอน หากิจกรรมที่เบา ๆ ไม่ควรเล่นกีฬาหนัก ๆ หรือดูทีวี ดูหนังที่มีฉากน่ากลัวหรือสยองขวัญ งดรับประทานอาหารที่หนักมาก เพราะจะส่งผลต่อระบบย่อยอาหารทำให้หลับยากและเสี่ยงต่อฝันร้าย

young-person-suffering-from-anxiety

“ฝันร้าย” แบบไหนบอกว่ากำลังป่วย

แต่ละคนมีเรื่องราวฝันร้ายที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ฝันร้ายที่บอกถึงปัญหาหรือความผิดปกติของสภาพจิตใจมีลักษณะ ดังนี้

     - เกิดขึ้นบ่อยครั้ง
     - ทำให้สะดุ้งตื่นจากฝันร้ายอยู่เสมอ จนรบกวนการนอนหลับเป็นประจำ
     - ส่งผลให้ไม่มีความสุขในการใช้ชีวิต ทำกิจกรรม การงาน หรือเข้าสังคม

young-woman-dealing-with-anxiety

“ฝันร้าย” ทุกคืนมีวิธีป้องกันอย่างไร ?

     - ควรงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนนอน เช่น ชา กาแฟ ช็อกโกแลต น้ำอัดลม
     - พยายามทำกิจกรรมผ่อนคลายก่อนนอน เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง ดูหนัง
     - รักษาอุณหภูมิในห้องไม่ให้ร้อนหรือเย็นเกินไป
     - ทำให้ห้องมืดสนิทช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
     - ออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 20-30 นาทีในช่วงเย็นหรือประมาณ 3-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอน
     - กำหนดเวลานอนให้เหมือนกันในทุกวันให้ร่างกายได้จดจำเวลาเข้านอนและตื่นนอน
     - หลีกเลี่ยงการเล่นโซเชียลมีเดียหรือติดตามข่าวเครียด ๆ ก่อนนอน

การนอนหลับแล้ว “ฝันร้าย” เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากนอนหลับฝันร้ายจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อให้การนอนมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

SciAndTechMovie พาไปไขความลับเกี่ยวกับสมองในหนังเรื่อง “Inception” จิตพิฆาตโลก พร้อมคุยเรื่องทฤษฎีฝันซ้อนฝัน "Lucid Dream" และ "การปลูกฝัน" ทำได้จริงหรือ ความฝันกับความจริง...อะไรคือเส้นแบ่ง

ชมคลิป SciAndTechMovie : Inception

 

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : อาจารย์ นพ.กานต์ จำรูญโรจน์ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ฝันร้ายความฝันฝันนอนนอนหลับSleepวิทยาศาสตร์วิทยาศาสตร์น่ารู้Thai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Science
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

(เซบา บาสตี้ : 0854129703) : เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด