ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

Parker Solar Probe ยานสำรวจดวงอาทิตย์แต่ถ่ายภาพพื้นผิวดาวศุกร์ได้อย่างไร


Logo Thai PBS
แชร์

Parker Solar Probe ยานสำรวจดวงอาทิตย์แต่ถ่ายภาพพื้นผิวดาวศุกร์ได้อย่างไร

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1900

Parker Solar Probe ยานสำรวจดวงอาทิตย์แต่ถ่ายภาพพื้นผิวดาวศุกร์ได้อย่างไร
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ยาน Parker Solar Probe ของ NASA เพิ่งบินเฉียดดาวศุกร์เป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่จะวกกลับไปเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่จะเคยมีสิ่งประดิษฐ์ของมนุษย์ชิ้นใดเคยทำได้มาก่อน ซึ่งในครั้งนี้มันได้ศึกษาและสำรวจพื้นผิวของดาวศุกร์กลับมาด้วย ทำให้เกิดคำถามว่าทำไมยานอวกาศสำรวจดวงอาทิตย์ลำนี้ถึงสามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดาวศุกร์กลับมาได้ทั้งที่ตัวกล้องก็ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อถ่ายภาพพื้นผิวของดาวศุกร์

เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2024 ยาน Parker Solar Probe ได้บินผ่านดาวศุกร์ครั้งสุดท้ายในภารกิจของมัน ซึ่งตัวยานอยู่ห่างจากพื้นผิวของดาวศุกร์เพียง 376 กิโลเมตร และตัวยานได้เปิดใช้งานอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานเพื่อสำรวจดาวศุกร์เป็นครั้งสุดท้าย

ภาพถ่ายจากยาน Parker Solar Probe ขณะบินโฉบผ่านดาวศุกร์แสดงให้เห็นพื้นผิวของดาวศุกร์ผ่านย่านอินฟราเรด โดยเป็นชุดภาพที่ถ่ายไว้เมื่อครั้งบินโฉบผ่านเมื่อปี 2021

การถ่ายภาพพื้นผิวของยาน Parker Solar Probe นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญเนื่องจากการบินโฉบผ่านดาวศุกร์ในครั้งที่สามในปี 2020 ในครั้งนั้นยาน Parker Solar Probe เปิดอุปกรณ์ที่มีชื่อว่า WISPR (Wide-Field Imager for Parker Solar Probe) เพื่อทดลองทำการจับภาพเมฆที่เปลี่ยนแปลงไปในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ เนื่องจากการบินโฉบผ่านในครั้งนั้นใกล้กับพื้นผิวของดาวศุกร์เพียง 834 กิโลเมตร และโฉบผ่านในด้านกลางคืนของดาวศุกร์

แต่เมื่อยานโฉบผ่านและถ่ายภาพกลับมานั้นนักวิทยาศาสตร์กลับสังเกตเห็นว่ารอยดำที่ดูคล้ายกับเมฆบนพื้นผิวของดาวศุกร์นั้นใหญ่เกินกว่าที่จะเป็นกลุ่มก้อนเมฆปกติได้ ซึ่งทำให้พวกเขาตั้งสมมติฐานว่าอาจจะเป็นภาพของพื้นผิวของดาวศุกร์ ทำให้พวกเขาศึกษาและเปรียบเทียบกับข้อมูลกับภาพเรดาร์ของยานแมกเจลลัน (Magellan) ก็พบว่ามันใกล้เคียงกันมาก

ภาพดาวศุกร์เปรียบเทียบภาพจากยาน Parker Solar Probe โฉบผ่านและแสดงให้เห็นถึงพื้นผิวที่มีอุณหภูมิที่ไม่เท่ากัน กับภาพจากเรดาห์ของยานแมกเจลลันที่สร้างภาพไว้ตั้งแต่ปี 2003 จะเห็นถึงรูปร่างทางภูมิประเทศ

ความบังเอิญของยาน Parker Solar Probe นั้นนับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ธรรมดาเนื่องจากตามปกติแล้วเราจะไม่สามารถมองเห็นพื้นผิวของดาวศุกร์ได้เลยเนื่องจากชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์นั้นหนาแน่นมาก การที่จะได้ภาพแผนที่พื้นผิวของดาวศุกร์นั้นต้องใช้เรดาร์ในการสร้างภาพพื้นผิวของดาวศุกร์ และที่สำคัญกล้องถ่ายภาพ WISPR ของยาน Parker Solar Probe นั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อที่จะถ่ายภาพพื้นผิวของดาวศุกร์เลยด้วยซ้ำ เป้าหมายหลักของกล้องตัวนี้คือถ่ายภาพอนุภาคพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์ที่ไหลรอบยานระหว่างมันเฉียดใกล้กับพื้นผิวของดวงอาทิตย์

การที่กล้องของยาน Parker Solar Probe ถ่ายภาพพื้นผิวได้นั้นเกิดจากการที่พื้นผิวของดาวศุกร์นั้นร้อนจัด และมันคายความร้อนในรูปแบบของคลื่นอินฟราเรดในช่วงที่ใกล้เคียงกับที่ตัวกล้อง WISPR จับได้ ทำให้มองเห็นภาพและรายละเอียดของพื้นผิวของดาวศุกร์ และรายละเอียดเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงพลังงานความร้อนที่พื้นผิวต่าง ๆ ได้รับ และเมื่อเอาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลเรดาร์ของยานแมกเจลลันก็พบว่า บนพื้นที่สูงจะมีอุณหภูมิสูงกว่าพื้นที่ต่ำ เห็นได้จากพื้นที่เป็นสีดำคือพื้นที่ที่เย็นกว่า ปล่อยพลังงานความร้อนมาได้น้อยกว่าพื้นที่ที่แสดงออกมาเป็นสีขาว

Venus-ParkerSolarProbe-July2020

การที่ยาน Parker Solar Probe ถ่ายภาพและเก็บข้อมูลของพื้นผิวดาวศุกร์กลับมาได้นั้นสร้างความตื่นเต้นให้กับแวดวงอวกาศเป็นอย่างมาก และความสนใจเกี่ยวกับการสำรวจดาวศุกร์ก็เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการบินโฉบผ่านในปี 2021 ตัวยาน Parker Solar Probe ก็สามารถถ่ายภาพพื้นผิวของดาวศุกร์กลับมาได้อีกครั้งด้วย

ในการบินโฉบผ่านดาวศุกร์ครั้งสุดท้ายในปี 2024 นี้ นักวิทยาศาสตร์คาดหวังว่าข้อมูลจากภาพถ่ายของกล้อง WISPR จะสามารถบันทึกข้อมูลที่สามารถนำกลับมาวิเคราะห์สารที่อยู่บนพื้นผิวตามภูมิประเทศต่าง ๆ ว่าแตกต่างอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการศึกษาเกี่ยวกับภูมิประเทศของดาวศุกร์เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งถึงแม้ว่ายานจะโฉบผ่านดาวศุกร์ไปแล้ว และคงไม่ได้กลับมาที่ดาวศุกร์อีก แต่การเดินทางของยาน Parker Solar Probe นั้นกำลังจะทำในสิ่งที่ไม่เคยมีสิ่งประดิษฐ์ของมนุษยชาติชิ้นไหนเคยทำได้มาก่อนคือการไปเฉียดใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ซึ่งตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติไม่เคยมีสิ่งประดิษฐ์ไหนของมนุษย์สามารถเดินทางไปใกล้กับดวงอาทิตย์ได้เท่านี้มาก่อน

ยาน Parker Solar Probe จะเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ครั้งต่อไปในวันที่ 27 ธันวาคม 2024 ซึ่งการเดินทางครั้งนี้ตัวยานอาจจะเข้าไปใกล้ในระยะเฉียดกับวงแหวนของโคโรน่าดวงอาทิตย์เลยก็ว่าได้

เรียบเรียงโดย จิรสิน อัศวกุล


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : NASA

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Parker Solar Probeยานสำรวจยานสำรวจดวงอาทิตย์ดวงอาทิตย์ดาวศุกร์พื้นผิวดาวศุกร์อวกาศนาซาองค์การนาซาNASAThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด