ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์" ทางรอดไทย "เลิกเร้นกาย" ในเวทีโลก

ต่างประเทศ
16 พ.ย. 67
20:23
842
Logo Thai PBS
"ฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์"  ทางรอดไทย "เลิกเร้นกาย" ในเวทีโลก
อ่านให้ฟัง
00:00อ่านข่าวให้ฟังโดย Botnoi Voice เว็บแอปพลิเคชันสำหรับสร้างเสียงจากข้อความด้วย AI (Text to Speech)

ผลพวงของความขัดแย้งทางการเมืองโลก ขั้วตรงข้ามทางการเมือง แม้กระทั่งการเมืองภายในประเทศต่างๆ เกิดแทบทุกทวีป ซึ่งทุกประเทศต้องเตรียมการรับมือ ขณะที่ประเด็นทางภูมิรัฐศาสตร์มีความท้าทายมากขึ้น เพราะประเทศที่เคยเป็นมหาอำนาจโลก อาจจะไม่ใช่ขั้วอำนาจเดิมอีกต่อไปแล้ว

ภูมิรัฐศาสตร์ หมายถึง การพิจารณาภูมิศาสตร์ว่าเป็นเงื่อนไขที่มีผลกระทบต่อการเมืองการปกครองอย่างไร เสมือน เป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ ในยุคโลกาภิวัตน์และ Digital Disruption ส่งผลให้ "พรมแดนใจ (Boundary)" ของผู้คนนั้นหดเล็กลง เชื่อมร้อยกันมากขึ้น บางทีสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกซีกโลกหนึ่ง ส่งผลต่ออย่างมหาศาลและคาดการณ์ได้ไม่ถึงได้เสมอ

จีนและสหรัฐอเมริกา สองมหาอำนาจที่กำลังห้ำหั่นประหัตประหารกัน คือ ภาพสะท้อนอย่างดีของภูมิรัฐศาสตร์โลกตอนนี้ ไม่ว่าสองมหาอำนาจจะดำเนินนโยบายอะไร โลกต้องจับตามองและคาดการณ์ถึง "แรงกระเพื่อม" ที่จะตามมาว่าเป็นผลดี ผลร้าย ได้เปรียบ เสียเปรียบ อย่างไร แน่นอน ประเทศไทยในฐานะหนึ่งในประชาคมโลก ต้องมีคำถามด้าน "จุดยืน" ท่ามกลางพายุหมุนภูมิรัฐศาสตร์นี้

"ภูมิรัฐศาสตร์" ต้นตอปัญหา "สังคมโลก"

ศ.ดร.สุรเกียรติ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เสนอในเสวนา LEADING IN TURBULENT TIMES: GEOPOLITICAL OUTLOOK 2025 ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ เป็นหนึ่งในความเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ต้องตระหนัก ไม่แตกต่างจากประเด็นด้านดิจิทัล โรคระบาด หรือการศึกษา เพราะสิ่งดังกล่าวสร้าง "วังวนวุ่นวาย (Turbulence)" ต่อสังคมโลกระดับมหาศาล

เช่น การเคลื่อนย้ายผู้เป็นเลิศด้านการศึกษา หากเป็นสมัยก่อน นักศึกษาจากจีนที่เรียนเก่ง มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯจะยื่นทุนการศึกษา สวัสดิการ รวมไปถึงสิทธิการเป็นพลเมือง ให้แทบจะทันที เพื่อสร้างทุนทรัพยากรมนุษย์ พัฒนาประเทศและเศรษฐกิจ แต่ปัจจุบัน ชาวจีนเก่ง ๆ ไม่สามารถไปเรียนที่สหรัฐฯ ได้ เพราะประเด็นทางการเมือง และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ล้วน ๆ

จะเห็นได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลกระทบมายังด้านการศึกษา ชาวจีนไปเรียนสหรัฐฯ ไม่ได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถสร้างเครือข่ายกับมหาวิทยาลัยในจีนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ ภูมิรัฐศาสตร์ก็สร้าง "ความไม่แน่นอน" ในแก่สังคมโลก โดยเฉพาะเรื่อง "ผู้นำทางการเมือง" ที่มีการผลัดอำนาจค่อนข้างบ่อย จึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายทางการระหว่างประเทศ ทำให้มีปัญหาขาดความต่อเนื่องและความมั่นคง

ที่เห็นได้ชัด คือ สหรัฐฯ ที่เปลี่ยนผู้นำจาก โดนัลด์ ทรัมป์ เป็น โจ ไบเดน และกลับมาเป็นทรัมป์ อีกรอบ ซึ่งมีแนวนโยบายต่างกันมาก ส่งผลให้สังคมโลกไม่สามารถ "อ่านทิศทางลม" ได้ว่าจะมาไม้ไหน และควรเตรียมตัวรับมืออย่างไร

ดังนั้น เราอาจเห็นอะไรที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน เช่น การรวมกลุ่ม BRICS ที่มีแนวทางชัดเจนว่าต้องการ "Dedollarisation" หรือ "ยกเลิกการใช้ดอลลาร์สหรัฐ" ในฐานะเงินค่ากลางในระบบโลก โดยจะหันมาใช้ระบบ Transaction หรือ ค่าธรรมเนียมแลกเปลี่ยน ด้วยตนเอง ซึ่งคาดหมายว่า จะเป็นเงินหยวน ของจีน นอกเหนือจากสร้างอำนาจต่อรองกับสหรัฐฯ โดยการสร้างพันธมิตรทางระบบการเงิน ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ดอลลาร์สหรัฐมีความผันผวน จึงยากแก่การถือครองเพื่อมูลค่าที่คงที่ได้

แม้จะมีสิ่งที่ไม่เคยได้เห็น แต่สิ่งที่ได้เห็นอยู่เป็นนิจ ก็ยังคงเดิม ไม่ว่าจะเป็น สงครามใหญ่ทั้งรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-โลกอาหรับ รวมทั้งปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี ทะเลจีนใต้ และไต้หวัน

ที่สำคัญ ปัญหาในเมียนมา สงครามกลางเมืองที่ยาวนานที่สุดในโลก (ตั้งแต่ปี 1948 รวม 76 ปี) ยังถือเป็นสงครามตัวแทนของมหาอำนาจจีน-สหรัฐ แบบย่อม ๆ หรือเรียกได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์แบบ "ข้างบ้าน" 

ศ.ดร.สุรเกียรติ เน้นว่า แม้ประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อการเมือง แต่กลับไม่กระทบ "เศรษฐกิจ" มากมายนัก เพราะไม่ว่าอย่างไร "สงครามการค้า" ระหว่างจีน-สหรัฐฯ ยังคงมีเหมือนเดิม เพียงแต่จะทวีความรุนแรงขึ้นจากกลับมาของทรัมป์ ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจมาเป็นอันดับ 1 โดยการปกป้องตลาดในประเทศให้ได้ดุลการค้า เพิ่มกำแพงภาษี ดึงทุนกลับประเทศตามแคมเปญ America First และ Make America Great Again

ทรัมป์มาในแนวทางแบบเดิม ซึ่ง BRICS ไม่ยอมแน่นอน โลกจะแบ่งขั้วมากยิ่งขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ก็ยังเหมือนเดิม เพียงแต่อาจจะรุนแรงขึ้น และไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้น ตอนนี้ ทรัมป์รอสาบานตน หุ้นธุรกิจพลังงานแบบดั้งเดิมของสหรัฐฯ ขึ้นสูง แต่วันดีคืนดี ทรัมป์เลิกต่อต้านเศรษฐกิจสีเขียว หุ้นธุรกิจพลังงานทดแทนก็อาจจะกระเตื้องได้

เมื่อปัญหามีความมากมายและสลับซับซ้อน ยากแก่การประเมินและคาดการณ์ ศ.ดร.สุรเกียรติ ได้เสนอท่าทีและการวางตัวของประเทศไทย ว่าควรจะต้อง "เคลียร์ให้ชัด" ไม่สามารถจะมาเป็น "ไผ่ลู่ลม" หรือ "เป็นกลาง" อย่างในอดีตได้

"กับดักทูซิดีดีส"ความขัดแย้งของมหาอำนาจเดิม

อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์เป็นสิ่งที่มาคู่กับ "ความขัดแย้งของมหาอำนาจ" เสมอ หรือหากจะเข้าใจภูมิรัฐศาสตร์ ต้องเข้าใจส่ิงที่เรียกว่า "กับดักทูซิดีส" เสียก่อน

กับดักทูซิดีดีส หมายถึง การที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง ที่มีศักยภาพมากพอในการเป็นมหาอำนาจ แต่ไม่สามารถเป็นได้เพราะมหาอำนาจดั้งเดิมขวางทางอยู่ จึงต้องพยายามท้าทายและสร้างปมขัดแย้ง ในที่สุด จะกลายเป็น "สงคราม" ซึ่งเป็นส่ิงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวช่วงหนึ่งของการเสวนา GEOPOLITICAL FLASHPOINTS ว่า ความขัดแย้งและสงครามเป็นส่ิงที่เราเห็นมาโดยตลอด อาจจะเรียกได้ว่า "ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย" ย่อมได้ ในอดีต พบว่าสหรัฐฯ มักท้าทายอังกฤษ ฝรั่งเศส และสเปน จนก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าโลก หรือการแข่งขันของสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต ก็มีให้เห็น ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

เมื่อพิจารณาโลกจากหัวข้อข่าว จะเห็นแต่เรื่องของความขัดแย้ง เช่น ค่าใช้จ่ายด้านนิวเคลียร์มีมากขึ้น มีการสร้าง ระเบิดสุญญากาศ สร้างความร้อน ทำลายจากภายใน หรือจีนทดลองขีปนาวุธข้ามทวีป สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่

แต่สงครามเป็นสิ่งที่ผู้คนหวาดกลัวเสมอ ยิ่งปัจจุบัน สงครามประชิดตัวเรามากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวหรือไม่เป็นข่าวก็ตาม หรือเป็นสงครามแบบเงียบ ๆ เช่น การทะลักเข้ามาของสินค้าจีนที่ "ขายตัดราคา" สินค้าไทย โดยเฉพาะการขายผ่านแอปพลิเคชัน TEMU เพราะราคาผลิตต่อหน่วย (Economy of Scale) ของจีนต่ำกว่าไทย หรือการเข้ามาผ่าน "ทุนจีนสีเทา" หรือสงครามแบบดั้งเดิม เช่น การสู้รบกันในเมียนมา หรือการยิงขีปนาวุธข้ามทวีปของเกาหลีเหนือ ทำให้ผู้คนรู้สึกได้ว่า ภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สิน

ศ.ดร.สุรชาติ กล่าวว่า เนื่องจากสิ่งดังกล่าว รัฐศาสตร์จึงเป็นวิชาที่ได้รับความสนใจมากยิ่งขึ้น ผู้คนกลัวว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งที่ 3 กลัวความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งเดียวที่ประชาชนจะทำได้ คือ ใช้ชีวิตอยู่กับความผันผวน เก็บเงินเยอะ ๆ เที่ยวให้น้อยลง คิดถึงครอบครัวให้มาก ๆ ส่วนในระดับประเทศ เป็นโจทย์ใหญ่ให้รัฐบาลไทยตอบคำถามให้ได้ว่า จะดำเนินการอย่างไร เพื่อที่จะ "อยู่รอด" ในภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยความวุ่นวายเป็นแก่นแกน

รักษาผลประโยชน์ชาติ "เลิกเร้นกาย"ทางออกไทย

เมื่อภูมิรัฐศาสตร์มาพร้อมๆ กับความขัดแย้งเป็นแพคเกจ ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งในด้านสังคมและการเมือง อาจรวมถึงเศรษฐกิจบ้าง แต่ไทย ควรมี "จุดยืน" ในวังวนอลม่านที่เกิดขึ้นประจำอย่างไร เพื่อเป็นหลักประกันหรือทุเลาความรุนแรงให้ประชาชนในประเทศสบายใจขึ้น

ศ.ดร.สุรชาติ เสนอแนวทางการรับมือวังวนดังกล่าวของไทยว่า แบ่งออกเป็น 8 ประเภท ดังนี้

  1. เป็นกลางไม่เลือกข้าง (Optimism)
  2. ไผ่ลู่ลม (Traditionalism)
  3. ต่อต้านตะวันตก (Untra-conservativism)
  4. ยืนข้างโลกเสรี (Liberalism)
  5. ไม่สนใจโลก (Isolationism)
  6. ตามกระแสโลก (Globalism)
  7. ไปได้กับทุกฝ่าย (Pragmatism)
  8. เลือกข้างมหาอำนาจ (Clientelism)

ซึ่งส่วนใหญ่แล้ว ไทยมักจะเลือกดำเนินแนวทางแบบ "ผสมผสาน" และ "ไปเรื่อยเปื่อย" เช่น เราอยากเข้าทั้ง OECD และ BRICS ทั้งที่ทั้งสองความร่วมมือนั้นมาจากมหาอำนาจคนละขั้ว

การกระทำเช่นนี้ ศ.ดร.สุรชาติ มองว่า เป็นการ "เร้นกาย" ของไทยต่อเวทีนานาชาติ ไม่มีจุดยืน ไม่มีตัวตน ไม่มี "สถานภาพ" ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำและจะสร้างผลกระทบต่อไทยในระยะยาวได้

ไทยไม่ควรดำเนินนโยบายแบบเครื่องบิน F-117 เร้นกายตนเองในจอเรดาร์ เพราะจะทำให้เราขาดบทบาทในเวทีโลก เราต้องมีนโยบายเชิงรุกมากกว่านี้ เพื่อให้เกิดเกียรติยศแก่ประเทศ

ทั้งนี้ แม้จะต้องการให้เลือกข้าง แต่ต้องมาพร้อมกับการรักษา "ผลประโยชน์แห่งชาติ" ของไทย ไม่สร้างเงื่อนไขที่จะมาบีบบังคับเราเองในภายหลัง ดังนั้น เราจึงต้อง "จัดวางตนเอง (Positioning)" ในภูมิรัฐศาสตร์ให้ดี ๆ ว่าจะเล่นบทบาทใด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการระหว่างประเทศ

นี่เป็นเหตุผลที่ผู้นำประเทศต้องเข้าใจการเมืองโลก ต้องเรียนรัฐศาสตร์ การเมืองระหว่างประเทศ จะได้ไม่ตัดสินใจในกระบวนการกำหนดนโยบายให้มาขังตนเอง ต้องเลือกข้างแต่ให้ตนเองมีอิสระ

สำหรับประเด็นดังกล่าว ดร.สุรเกียรติ เสนอว่า การเอาตัวรอดของไทยในการเจรจา จำเป็นต้องมีจุดยืน กล้าเสนอจุดยืน เช่น สิงคโปร์ กล้าที่จะเลือกข้าง มีจุดยืน ไทยกล้าทำหรือไม่ เราจะดำเนินการแบบไผ่ลู่ลมไปตลอดไม่ได้ เพราะตอนนี้ลมมีหลายทิศทาง หากรับมือแบบเดิม ๆ ย่อมหัวทิ่มหัวตำ

ดังนั้นจึงต้องอ่านวิธีการเจรจาของสหรัฐฯ โดยเฉพาะ สมัยสองของทรัมป์ให้ออก ซึ่งจะเห็นว่า สหรัฐฯ มักจะ "คุยประเด็นเล็กในเวทีใหญ่ และคุยประเด็นใหญ่ในเวทีเล็ก" เช่น สหรัฐฯ ขัดแย้งไทยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา กลับเปิดเจรจาทวิภาคี ทั้งที่กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องการระหว่างประเทศ ส่วนสหรัฐฯ กีดกันสินค้าไทย คุยในเวทีพหุภาคี ซึ่งมีหลายระเบียบวาระที่ต้องเจรจา ทำให้ไทยไม่ได้คำตอบจากสหรัฐฯ มากนัก

นอกจากนี้ ไทยต้องสร้างวิถีแบบ "พหุภาคี" ให้มากยิ่งขึ้น เช่น หากมีการบีบบังคับให้เลือกข้าง ไทยต้องกล่าวอ้าง ASEAN เราจะดำเนินนโยบายตามอาเซียนอย่างเคร่งครัด ตรงนี้ สหรัฐฯ จะยอมรับได้มากกว่าการอ้างไผ่ลู่ลมหรือไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด และจะไม่เป็นการผูกมัดตนเอง เพราะเป็นการ "ยืมปาก ASEAN" มาช่วยอ้างจุดยืนของเรา

จุดยืนของไทย ต้องรู้ทันความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ ทางเลือกระบบเศรษฐกิจ อ่านภูมิรัฐศาสตร์ให้ออก ต้องมีหลักการ ทำอะไรต้องไม่ไปขัดแย้งกับหลักการที่เลือก เข้าข้างหลักการที่ถูกต้อง เราต้องเป็นประเทศเจรจาสันติภาพ เราทราบว่ามีความรุนแรงในเวทีโลก แต่ต้องรับมือความรุนแรงให้เป็น รู้ทันความรุนแรง อ่านสัญญาณให้ออก

ปัจจุบัน ASEAN หมดพลังไปมาก จากปัญหาความขัดแย้งของประเทศสมาชิก และผลประโยชน์ที่แตกต่างกัน เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเพิ่มอำนาจต่อรองมากยิ่งขึ้น อาจจะเข้าหากลุ่ม BRICS หรือกลุ่มอื่น ๆ เพื่อให้เกิด "บทบาทเชิงรุกอย่างแท้จริง" ไม่ได้เป็นถ้อยคำลอย ๆ

เราพูดมาตลอดว่าอยากดำเนินบทบาทเชิงรุก ผมสงสัยรุกอะไรของท่าน เราเป็นประเทศเล็ก อยากรุกแต่ไม่กล้าสังฆกรรมกับโลก สิ่งที่คิดและสิ่งที่ทำไม่ไปด้วยกัน แบบเสียประโยชน์มหาศาล

ศ.ดร.สุรชาติ ทิ้งท้ายว่า สิ่งที่ยากที่สุดในการศึกษาวิชาทางทหาร ไม่ได้อยู่ที่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ แต่อยู่ที่ "การล้างบางองค์ความรู้เดิม ๆ" ที่ฝังแน่น ไทยจึงต้องการ "ชิปใหม่" เพื่อประมวลผลวิธีคิดด้านภูมิรัฐศาสตร์ สร้างแนวทางนโยบายใหม่ ๆ ที่สามารถสร้างจุดยืนและรักษาผลประโยชน์แห่งชาติได้อย่างแนบเนียน ในความโกลาหลของการเมืองโลกในปัจจุบัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลอกคราบ "ทรัมป์" สมัยสอง "เอเชียตะวันออก-ไทย" กระอัก

"เกรียงศักดิ์" ชำแหละ "ทรัมป์" ผลประโยชน์เป็นใหญ่ ไทยต้องรับมือ

"เศรษฐกิจไทย 2025" มรสุมรอบใหม่ โจทย์ใหญ่ "สงครามการค้า"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง