ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

11.11 Double day sale “ซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก” ต้องปฏิบัติอย่างไร ?


Lifestyle

9 พ.ย. 67

อธิเจต มงคลโสฬศ

Logo Thai PBS
แชร์

11.11 Double day sale “ซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก” ต้องปฏิบัติอย่างไร ?

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1869

11.11 Double day sale “ซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปก” ต้องปฏิบัติอย่างไร ?
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

วันที่ 11 เดือนที่ 11 หรือ Double day ที่มีจัดขึ้นแทบทุกเดือนโดยเฉพาะตามแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ โปรโมชั่นที่ดึงดูดทั้งราคา และช่วงเวลาที่กำจัด เร่งรัดให้ผู้ซื้อต้องตัดสินใจอย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้หลายกรณี โดยเฉพาะกรณี “สินค้าไม่ตรงปก”

Thai PBS ชวนดูขั้นตอนและข้อกฎหมาย คุณสามารถคืนสินค้าเหล่านี้ได้ไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด

สินค้าไม่ตรงปก ขนาดไม่ตรงกับภาพที่ลงไว้ จนถึงร้านค้าบางร้านอาจจงใจหลอกลวง ขายสินค้าปลอม ซึ่งโดยมากแล้วด้วยตัวเงินที่ไม่มากนัก ทำให้หลายคนเลือกที่จะเสียค่าโง่ ยิ่งทำให้ร้าน “ลวง” เหล่านี้เติมโต บางร้านถึงขั้นซื้อแอดยิงโฆษณาเพิ่มความน่าเชื่อถือ

จากต้นกำเนิดวันที่ 11 เดือน 11 ที่เป็นวันคนโสด (Single day) สู่วันแห่งการตลาดที่ร้านค้าต่างจัดโปรให้คนโสดได้ซื้อของให้ตัวเอง นำมาสู่มหกรรมโปรโมชั่นที่ประสบความสำเร็จ กลายเป็นทำเนียมของร้านค้าใหญ่ออนไลน์ที่ต้องจัดโปร  Double day sale เป็นประจำทุกเดือน และเพราะมีขึ้นทุกเดือน มารับความรู้ติดตัวกัน เพราะบางเดือนคุณอาจตกเป็นเหยื่อของร้านลวงขายของไม่ตรงปกก็เป็นได้

“ของไม่ตรงปก โกงออนไลน์” พุ่งสูง ต้องระวัง

การเติบโตขึ้นของร้านค้าออนไลน์โดยเฉพาะในช่วงโควิด - 19 ที่ผ่านมา กลายเป็นก้าวกระโดดครั้งใหญ่ที่ทำให้วัฒนธรรมการซื้อของออนไลน์หยั่งรากและแข็งแรงขึ้น หากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ คนไทยซื้อของออนไลน์กว่า 7 แสนล้านต่อปี คงเป็นอะไรที่ไม่น่าเชื่อ แต่ตัวเลขนี้ก็เกิดขึ้นแล้วในปี 2566 ที่ผ่านมา กินส่วนแบ่งตลาดการค้าปลีกกว่า 16 % และมีแนวโน้มที่จะโตขึ้นไม่หยุด

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การซื้อของออนไลน์มีช่องทางหลากหลายด้วยกัน ตั้งแต่ตามแพลตฟอร์มชื่อดัง จนถึงตามกลุ่มร้านค้าตามสื่อสังคมออนไลน์โดยใช้บัญชีส่วนตัว ไม่แปลกที่จะเกิดเหตุหลอกลวงจากการขายของออนไลน์เพิ่มมากขึ้น

โดยตัวเองจากหลายหน่วยงานชี้ตรงกันว่าเกิดกรณีร้องเรียนร้านค้าออนไลน์เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะกรณีสินค้าไม่ตรงปก โดยที่ผ่านมาในปี 2564 มีผู้ร้องเรียนกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มากกว่า 30000 ครั้ง ซึ่งเป็นช่วงปีที่ร้านค้าออนไลน์เติบโตสูงสุด และกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เกิดจากสาเหตุสินค้าไม่ตรงปก

ตัวเลขล่าสุดในปี 2567 นี้จากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ก็ยังชี้ว่า การได้รับสินค้าไม่ตรงปกยังคงเป็นสาเหตุหลักมากถึง 29.73 เปอร์เซ็นต์ การซื้อของแล้วได้ “สินค้าไม่ตรงปก” จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่หนึ่งของการซื้อของออนไลน์ที่เกิดได้กับทุกคน คุณจึงควรรู้วิธีรับมือเอาไว้
 

“ของไม่ตรงปก” คืนของต้องทำอย่างไร ? กรณีแพลตฟอร์มชื่อดัง

การคืนสินค้าตามแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์จะมีขั้นตอนในรายละเอียดที่แตกต่างกันบ้างเล็กน้อย สินค้าบางประเภทมีการกำหนดเงื่อนไขการคืนเอาไว้ แต่โดยส่วนใหญ่สินค้าจะมีการกำหนดให้สิทธิคืนสินค้าได้ ตั้งแต่ 7 – 30 วัน โดยรวมแล้วมีขั้นตอนดังนี้

1. เลือกคำสั่งขอคืนสินค้า จากรายการสินค้าที่ได้สั่งซื้อ โดยสามารถเลือกสาเหตุทั้งเรื่องคุณภาพของสินค้าไปจนถึงเกิดเปลี่ยนใจไม่รับสินค้าแล้ว จากนั้นจะมีการกรอกรายละเอียดของสาเหตุการคืน รวมถึงถ่ายรูปประกอบ ในบางแพลตฟอร์มอาจมีขั้นตอนการรอพิจารณาจากร้านค้า

2. ส่งสินค้าคืน สามารถเลือกช่องทางการจัดส่งสินค้าได้ โดยมีให้เลือกตั้งแต่ส่งคืนที่ร้านค้าด้วยตัวเอง ส่งที่จุดขนส่งย่อยของแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ หรือสามารถแจ้งขนส่งเพื่อรับจากที่พักที่รับสินค้าได้เลย บางแพลตฟอร์มอาจต้องปริ๊นใบส่งคืนสินค้าติดกับกล่องพัสดุเพื่อส่งคืน

3. รับเงินคืน การรับเงินคืนจะขึ้นอยู่กับแพลตฟอร์มและร้านค้า อาจคืนเงินทันทีหรือต้องส่งสินค้าคืนก่อน เงินที่ได้รับคืนจะเป็นเงินตามช่องทางที่ได้มีการจ่ายเข้าไปในร้านค้านั้น ๆ

หากเจอกรณีสินค้าไม่ตรงปกจะเห็นว่าสามารถทำเรื่องคืนของได้จากแพลตฟอร์ม และส่งคืนได้จากที่บ้านแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยากหากต้องการคืนสินค้า กับร้านค้าที่ขายของไม่ตรงปกรวมถึงร้านลวงที่หวังหลอกเงินจากช่วงโปรโมชั่นซึ่งมีมากขึ้นในยุคปัจจุบัน

การขายของออนไลน์เพิ่มขึ้นมาก

ข้อกฎหมาย เมื่อ “ของไม่ตรงปก – ไม่ได้คุณภาพ” 

กรณีร้านค้าออนไลน์ทั่วไป แม้จะไม่มีขั้นตอนการคืนสินค้าอย่างแพลตฟอร์มทั่วไป แต่ลูกค้าก็มีสิทธิคืนสินค้า ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 ชื่อนี้อาจฟังดูเหมือนเกี่ยวข้องกับเฉพาะธุรกิจขายตรง แต่ความจริงแล้ว การขายของออนไลน์ก็ถูกควบคุมอยู่ในกฎหมายนี้ด้วย โดยมีข้อกฎหมายระบุไว้ว่า ผู้ที่ขายของด้วยสื่อรวมถึงช่องทางออนไลน์จะต้องรับผิดชอบให้สิทธิลูกค้าคืนสินค้าได้ภายใน 7 วันหลังได้รับสินค้า

โดยต้องแจ้งคืนสินค้าใน 7 วัน และส่งของคืน สามารถใช้บริการส่งไปรษณีย์ให้เรียกเก็บเงินปลายทางได้ หากไม่คืนสินค้าหรือมีขั้นตอนที่ไม่สะดวก สามารถใช้สิทธิยึดสินค้าจนกว่าจะได้เงินคืน

นอกจากนี้ ในช่วงปี (2567) ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ยังมีการออกประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการขนส่งสินค้าโดยเรียกเก็บเงินปลายทางเป็นธุรกิจที่ควบคุมรายการในหลักฐานการรับเงิน พ.ศ. 2567 หรือ มาตรการส่งดี (Dee – Delivery) มีใจความเพื่อป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ ให้ผู้บริโภคที่สั่งซื้อของแบบเก็บเงินปลายทางสามารถเปิดตรวจดูสินค้าก่อนได้ หากไม่ตรงปกสามารถเรียกเงินคืน โดยมีผลบังคับให้คืนเงินภายใน 15 วัน

ทั้งนี้ หากเจอกรณีปัญหาสามารถร้องเรียนกับทาง สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ผ่านช่องทาง แอพพลิเคชั่น OCPB Connect และช่องทางออนไลน์ complaint.ocpb.go.th สายด่วน สคบ. 1166

กรณี “ซื้อออนไลน์ของไม่ได้ของ” ทำอย่างไรได้บ้าง ?

การโกง (scam) ก่อนทำธุรกรรมทางการเงินในการซื้อ - ขายของออนไลน์ สามารถตรวจสอบเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ www.chaladohn.com  โดยหน่วยงานภาครัฐ และเว็บไซต์ www.blacklistseller.com  จัดทำโดยกลุ่มผู้บริโภคที่ถูกโกง มีการใช้หลักฐานเช่น ใบแจ้งความ หลักการโอนเงิน เพื่อสร้างฐานข้อมูลผู้ขายของทุจริตขึ้น สามารถตรวจสอบอย่างง่าย ๆ เพื่อป้องกันการโกงเบื้องต้นได้ แต่หากการซื้อออนไลน์แล้วไม่ได้ของเกิดขึ้น ผู้ซื้อต้องเร่งดำเนินการทันที

1. โทรแจ้งธนาคารเพื่ออายัดบัญชีของมิจฉาชีพ โดยติดต่อกับศูนย์รับแจ้งภัยทางการเงินของแต่ละธนาคารที่แตกต่างกันดังนี้
ธนาคารกสิกรไทย 02-888-8888 กด 001
ธนาคารกรุงไทย 02-111-1111 กด 108
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5
ธนาคารกรุงเทพ 1333 หรือ 02-645-5555 กด *3
ธนาคารไทยพาณิชย์ 02-777-7575
ธนาคารทหารไทยธนชาต 1428 กด 03
ธนาคารออมสิน 1115 กด 6
ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย 02-626-7777 กด 00
ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 02-694-5454
ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 02-359-0000 กด 8
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 02-645-9000 กด 33
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 02-5550555 กด *3
ธนาคารยูโอบี และซิตี้แบงก์ 02-344-9555
ธนาคารเกียรตินาคินภัทร 02-165-5555 กด 6
ธนาคารทิสโก้ 02-633-6000 กด *7

2. รวบรวมหลักฐาน ไม่ว่าจะเป็นแคปบทสนทนาการในซื้อ - ขาย สลิปโอนเงิน รายละเอียดชื่อ-เลขบัญชีธนาคาร อีเมลของผู้ก่อเหตุ

3. แจ้งความดำเนินคดี สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สถานีตำรวจหรือแจ้งความออนไลน์ที่ www.thaipoliceonline.com สายด่วนแจ้งความคดีอาชญากรรม 1441 หรือสามารถฟ้องร้องต่อศาลยุติธรรม ศาลแพ่ง แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ได้ที่ efiling3.coj.go.th/ นอกจากนี้ยังมีศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมช่องทางออนไลน์ที่ www.1212occ.com 

การซื้อของออนไลน์ไม่ตรงปกกำลังเป็นภัยใกล้ตัว การร่วมกันจัดการไม่ว่าจะเป็นการร้องเรียน แจ้งเหตุ รวมถึงการคืนสินค้า จะมีส่วนช่วยลดการก่อเหตุในลักษณะของมิจฉาชีพในสังคมลงได้

อ้างอิง

  • สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)
  • สำนักงานศาลยุติกรรม ศาลแพ่ง แผนกคดีซื้อขายออนไลน์
  • กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Double Day 11.11ผู้บริโภคของไม่ตรงปก11.11สินค้าไม่ตรงปก
อธิเจต มงคลโสฬศ
ผู้เขียน: อธิเจต มงคลโสฬศ

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล ไทยพีบีเอส สนใจเนื้อหาด้านสุขภาพจิต สาธารณสุข และความยั่งยืน รวมถึงประเด็นทันกระแสที่มีแง่มุมน่าสนใจซ่อนอยู่

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด