ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รีวิวปลอมก็มา ! อย่าเชื่อเพจอ้างทำใบขับขี่ออนไลน์


Verify

7 พ.ย. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

รีวิวปลอมก็มา ! อย่าเชื่อเพจอ้างทำใบขับขี่ออนไลน์

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1855

รีวิวปลอมก็มา ! อย่าเชื่อเพจอ้างทำใบขับขี่ออนไลน์
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "Business 811" ปลอมเพจเฟซบุ๊กเป็นกรมการขนส่ง อาศัยการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก (ยิง Ads) อ้าง กรมการขนส่ง เปิดทำใบขับขี่ออนไลน์ เบื้องต้นพบมีผู้หลงเชื่อสอบถามเข้าไปจำนวนมาก

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอมโฆษณาทำใบขับขี่ออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก

จากการตรวจสอบพบว่า

เพจดังกล่าวใช้การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก โดยใช้ข้อความว่า "กรมการขนส่ง เปิดทำใบขับขี่ออนไลน์ สำหรับบุคคลที่ไม่เคยมีใบขับขี่มาก่อน หรือ ต่ออายุใบขับขี่ สำหรับท่านที่ต้องการทำใบขับขี่ใหม่ หรือต่ออายุ 1.ทำใบขับขี่ใหม่ ทำได้ทันที 2.ใบขับขี่หมดอายุหลายปี ต่อได้ทันที 3,ต้องการต่อใบขับขี่ แบบเร่งด่วนไม่ต้องรอนาน 4,ทำหายหรือต้องการทำใหม่ ก็ทำได้ทันที พร้อมกับระบุว่ามีผู้ทำใบขับขี่ 87,474 คน" โดยมีผู้เข้ามากดถูกใจถึง 4,700 ครั้ง แสดงความคิดเห็นจำนวน 349 คน  และแชร์โพสต์ดังกล่าวไป 91 ครั้ง

แอบอ้างเป็นเพจกรมการขนส่งทางบก

นอกจากนี้พบว่า มีการใช้ที่อยู่จากเพจของกรมการขนส่งทางบก มาใช้หลอกประชาชนอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงการปลอมที่อยู่โดยใช้ที่อยู่ของกรมการขนส่งทางบก เพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบ เพจกรมการขนส่งทางบก (ขวา)

นอกจากนี้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ระบุว่าเป็นเพจกฎหมาย ถูกสร้างเมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา ขณะที่เพจจริงของกรมการขนส่งทางบก ถูกสร้างมาตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพบันทึกเฟซบุ๊กของกรมการขนส่งทางบก (ขวา)

ใช้หน้าม้ามารีวิวในโฆษณาและปลอมข่าวในเพจ

เนื้อหาภายในเพจมีการนำภาพข่าวจากเพจเฟซบุ๊กของกรมการขนส่งทางบก มาใช้ประกอบการหลอกลวง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (ลิงก์บันทึก

ภาพบันทึกหน้าจอเพจเฟซบุ๊กปลอม (ซ้าย) เปรียบเทียบกับ ภาพบันทึกเฟซบุ๊กของกรมการขนส่งทางบก (ขวา)

รวมถึงใช้การสร้างรีวิวปลอมในโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก (ยิง Ads) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และหลอกล่อให้เหยื่อหลงเชื่อติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

ภาพการแสดงความคิดเห็นในโฆษณา ที่ใช้รีวิวปลอมเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

อย่างไรก็ตาม Thai PBS Verify ทดลองติดต่อส่งข้อความสอบถามเข้าไปยังเพจดังกล่าว พบว่ามีการตอบกลับจากข้อความอัตโนมัติของเพจ ระบุว่า "ขั้นตอนทำใบขับขี่ใหม่ กรอกชื่อ / นามสกุล ถ่ายบัตรประชาชนตัวจริง หรือสำเนา 1 รูป ถ่ายรูปครึ่งตัว หรือ เต็มตัว 1 รูป เบอร์โทรติดต่อ โปรดระบุว่ารถยนต์ หรือ รถจักรยานยนต์ หรือประเภทไหน กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม หมายเหตุ : ถ้าหากเสร็จจะทำการขอที่อยู่ของคุณและจะจัดส่งตามที่อยู่นะคะ"

ภาพบันทึกหน้าจอ Thai PBS Verify ทดลองติดต่อส่งข้อความสอบถามกับเพจเฟซบุ๊กปลอม

ยืนยันว่าเป็นเพจปลอม

ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Business 811 ไม่ใช่เพจของกรมการขนส่งทางบก และไม่สามารถทำใบขับขี่ไม่ว่ารูปแบบใดได้ทั้งสิ้น เนื่องจากการขอรับใบอนุญาตขับรถทุกชนิดมีมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ คือ ผู้ขอรับใบอนุญาตขับรถต้องดำเนินการด้วยตนเองทุกขั้นตอนที่สำนักงานขนส่ง ตั้งแต่การตรวจสอบเอกสาร การทดสอบสมรรถภาพของร่างกาย การอบรม การทดสอบข้อเขียน การทดสอบขับรถ และการถ่ายรูปเพื่อออกใบอนุญาตขับรถ ไม่มีการรับทำใบขับขี่ออนไลน์ทั้งสิ้น การโฆษณารับทำใบอนุญาตขับรถ โดยไม่ต้องมีขั้นตอนการอบรมหรือทดสอบ ขอให้สันนิษฐานว่าเป็นมิจฉาชีพ และอย่าหลงเชื่อโอนเงินไปให้กลุ่มมิจฉาชีพโดยเด็ดขาด (ลิงก์บันทึก ที่นี่ และนี่)

กรมขนส่งทางบกโพสต์เตือนอย่าหลงเชื่อทำใบอนุญาตขับขี่ออนไลน์

เบื้องต้นหากพบเห็นเพจดังกล่าวโปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจมีการขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบ หรืออาจถูกหลอกให้โอนเงินจนเกิดความเสียหาย และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจาก กรมการขนส่งทางบก สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์กรมการขนส่งทางบก  https://web.dlt.go.th/revolving/ หรือเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/PR.DLT.NEWS/ หรือโทร. 0-2271-8888 และ call center 1584

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด ลงโฆษณาเป็นที่น่าสงสัย หรือพบว่าเป็นการหลอกลวงประชาชน สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมเพจปลอมหลอกกดลิงก์หลอกลงทะเบียนหลอกลวงโฆษณาหลอกลวงโดนหลอกหลอกโอนเงินแนบลิงก์ปลอมโฆษณาปลอม
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด