ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

อย่าเพิ่งแชร์ ! "ดอกคิงโพรเทีย" ถูกเคลมเป็น "ดอกพญานาค"


Verify

21 พ.ย. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

อย่าเพิ่งแชร์ ! "ดอกคิงโพรเทีย" ถูกเคลมเป็น "ดอกพญานาค"

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1926

อย่าเพิ่งแชร์ ! "ดอกคิงโพรเทีย" ถูกเคลมเป็น "ดอกพญานาค"
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

โพสต์ภาพดอกไม้สีขาวซึ่งมียอดผู้เข้าชมเกือบ 300,000 ครั้งบนติ๊กตอก ถูกแชร์พร้อมกับคำกล่าวอ้างเท็จ ว่าเป็นภาพของดอกพญานาคที่จะบานทุก ๆ 36 ปี อย่างไรก็ตาม ที่จริงแล้วภาพนี้เป็นภาพของดอกคิงโพรเทียสีขาว ดอกไม้ประจำชาติของสาธารณรัฐแอฟริกาใต้

ผู้ใช้งานติ๊กตอกบัญชีหนึ่งโพสต์วิดีโอแสดงรูปภาพดอกไม้ตูมสีขาว 2 ดอก ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2566

ข้อความบนรูปภาพดอกไม้ระบุว่า "ดอกพญานาค 36 ปี บานครั้งหนึ่ง ถ้าส่งต่อจะมีแต่โชคดีเข้ามาตลอดไปจ้า"

ภาพบันทึกหน้าจอแสดงโพสต์เท็จ

โพสต์ดังกล่าวมียอดผู้เข้าชมมากกว่า 263,000 ครั้ง

คำกล่าวอ้างลักษณะคล้ายกันถูกแชร์บนสื่อสังคมออนไลน์อย่างน้อยตั้งแต่ปี 2559 ทั้งในภาษาไทยและอังกฤษ

อย่างไรก็ตาม นี่คือภาพของดอกคิงโพรเทีย ไม่ใช่ 'ดอกพญานาค' ตามคำกล่าวอ้างเท็จ

คิงโพรเทีย

การค้นหาภาพย้อนหลังและการค้นหาด้วยคำสำคัญบนกูเกิล พบภาพเดียวกันบนเว็บไซต์ภาษาจีนที่เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับดอกคิงโพรเทียสีขาวของแอฟริกาใต้ (ลิงก์บันทึก)

การค้นหาด้วยคำสำคัญบนกูเกิลและเว็บไซต์คลังภาพต่าง ๆ พบภาพของคิงโพรเทีย ซึ่งมีดอกไม้สีขาวเหมือนที่ปรากฏในโพสต์เท็จและเว็บไซต์ภาษาจีน เช่น ที่นี่ นี่ และ นี่ (ลิงก์บันทึก ที่นี่ นี่ และ นี่)

เปรียบเทียบภาพถ่ายหน้าจอระหว่างคลิปวิดีโอติ๊กตอกที่แชร์คำกล่าวอ้างเท็จ (ซ้าย) และภาพดอกไม้ในเว็บไซต์ภาษาจีน (ขวา)

คิงโพรเทีย (Protea cynaroides) เจริญเติบโตทั่วบริเวณทางใต้ของแอฟริกาใต้ ส่วนดอกมีหลากหลายสีสัน ส่วนใบมีหลายรูปทรงขึ้นอยู่กับชนิดย่อยของสายพันธุ์ และยังเป็นดอกไม้ประจำชาติของแอฟริกาใต้อีกด้วย

สถาบันความหลากหลายทางชีวภาพแห่งแอฟริกาใต้ระบุว่า ดอกคิงโพรเทียจะบานในช่วงเวลาต่าง ๆ ตลอดทั้งปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมและสภาพอากาศ

ต้นพญานาคราช ไม่ใช่ดอกพญานาค

แม้ว่า 'ดอกพญานาค' จะไม่มีอยู่จริง แต่ว่ามีพืชที่ชื่อคล้ายกันว่า 'ต้นพญานาคราช'

ต้นพญานาคราช (Euphorbia ritchiei) เป็นพืชไม้อวบน้ำที่มีต้นกำเนิดมาจากเขตร้อนทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา (ลิงก์บันทึก)

ลำต้นของต้นพญานาคราชมีลักษณะยาวเป็นรูปทรงกระบอก มีตารูปหกเหลี่ยมรอบลำต้น ลักษณะคล้ายลำตัวของพญานาคตามความเชื่อของไทย

ภาพถ่ายหน้าจอของรูปต้นว่านพญานาคราช (ภาพจากชมรมคนปลูกว่านพญานาคราช)

ข้อมูลจาก : AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ข่าวปลอมพญานาคต้นพญานาคราชคิงโพรเทียหลอกกดลิงก์หลอกลวง
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด