ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครบ 80 ปี "การประชุมยัลตา" จุดตัดสองสงคราม


ประวัติศาสตร์

4 ก.พ. 68

Thai PBS Digital Media

Logo Thai PBS
แชร์

ครบ 80 ปี "การประชุมยัลตา" จุดตัดสองสงคราม

https://www.thaipbs.or.th/now/content/60

ครบ 80 ปี "การประชุมยัลตา" จุดตัดสองสงคราม
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

“การประชุมยัลตา” ถือเป็นหมุดหมายที่ดีของฝ่ายสัมพันธมิตรก่อนที่จะชนะฝ่ายอักษะได้เบ็ดเสร็จในสงครามโลกครั้งที่ 2 ขณะเดียวกัน การปะทะกันของอุดมการณ์  “เสรีนิยม” และ “คอมมิวนิสต์” ก็ค่อย ๆ ก่อตัวขึ้นโดยมีสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตเป็นตัวละครสำคัญ

การประชุมยัลตา (Yalta Conference) จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 4-11 กุมภาพันธ์ 1945 ที่พระราชวังลีวาเดีย ซึ่งเคยเป็นพระราชวังแห่งหนึ่งของจักรพรรดิรัสเซียในเมืองยัลตา ไครเมีย การประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วย 3 ผู้นำประเทศมหาอำนาจในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แฟรงคลิน ดี. โรสเวลต์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ, วินสตัน เชอร์ชิล นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และ โจเซฟ สตาลิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์และประธานาธิบดีสหภาพโซเวียต โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการโค่นล้มฝ่ายนาซีเยอรมนี 

อย่างไรก็ตาม ผู้นำทั้ง 3 คนต่างมีแรงจูงใจต่างกันในการประชุมครั้งนี้ นำมาสู่การแข่งขันทางอุดมการณ์และอิทธิพลโลกในเวลาต่อมา 

ก่อนหน้าที่การประชุมยัลตาจะเกิดขึ้น เชอร์ชิลและสตาลินได้พูดคุยอย่างลับ ๆ เกี่ยวกับการแบ่งอิทธิพลของอังกฤษและสหภาพโซเวียตในดินแดนยุโรปตะวันออกโดยที่ไม่มีสหรัฐฯ อยู่ในสมการ ร่างข้อตกลงจากการพูดคุยครั้งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ “Percentages Agreement” แต่ไม่เคยมีข้อตกลงใด ๆ เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

ส่วนโรสเวลต์นั้นสนใจเกี่ยวกับการสร้างสันติภาพและความร่วมมือกันในระดับสากลมากกว่าเชอร์ชิลกับสตาลิน ขณะเดียวกัน เขา์ก็พยายามสงวนท่าทีต่อสหภาพโซเวียตและดำเนินนโยบายต่าง ๆ ไม่ชัดเจนมากพอ จนทำให้ไม่มีใครเข้าใจแผนการของเขาได้อย่างถ่องแท้ แม้แต่แฮร์รี เอส. ทรูแมน รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ณ ขณะนั้น

เมื่อ “ผู้นำ 3 ประเทศพี่เบิ้ม” มารวมตัวกัน ก็ได้หารือถึงการแบ่งดินแดนเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้แบ่งพื้นที่ของเยอรมนีเป็น 4 ส่วน และกรุงเบอร์ลินถูกแยกเป็นฝั่งตะวันตกและตะวันออก รวมไปถึงให้อิสรภาพกับประเทศที่นาซีเยอรมนีเคยควบคุม อีกทั้งการประชุมครั้งนี้ยังเป็นจุดกำเนิดของการพูดคุยเกี่ยวกับแนวคิด อุดมการณ์ และข้อกำหนดของการก่อตั้งสหประชาชาติขึ้นเพื่อรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศแทนสันนิบาตชาติที่ล้มเหลว โดยมีแฟรงคลินเป็น “ตัวตั้งตัวตี”  

หลังจากการประชุมยัลตาจบไปไม่นาน สตาลินก็เริ่มตีตัวออกห่างจากอังกฤษและสหรัฐฯ พร้อมทั้งทำสงครามกับญี่ปุ่น และเตรียมขยายอิทธิพลของโซเวียตในแถบยุโรปตะวันออกโดยเฉพาะโปแลนด์ สถานการณ์ถึงจุดพลิกผันครั้งใหญ่เมื่อโรสเวลต์ถึงแก่อสัญกรรมอย่างกะทันหันในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1945 

ทรูแมนได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากโรสเวลต์ แต่เขาไม่ได้มีความรู้ด้านการเมืองระหว่างประเทศมากนัก จึงมองข้ามนโยบายต่าง ๆ ในสมัยของโรสเวลต์รวมถึงข้อตกลงจากการประชุมยัลตา วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1947 ทรูแมนได้ลงนามในลัทธิทรูแมน (Truman Doctrine) เพื่อช่วยเหลือประเทศประชาธิปไตยต่าง ๆ “จากภัยคอมมิวนิสต์” 

ท้ายที่สุด ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียตต่างนำโลกเข้าสู่ความขัดแย้งครั้งใหม่ที่ชื่อว่า “สงครามเย็น” ถึงแม้สงครามเย็นและสหภาพโซเวียตดูเหมือนจะจบไปแล้วในเชิงทฤษฎี แต่การห้ำหั่นกันระหว่างรัสเซีย ยุโรป และอเมริกา รวมถึงสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ดำเนินอยู่จนถึงทุกวันนี้ ยิ่งตอกย้ำว่าความขัดแย้งระหว่างฝ่ายสัมพันธมิตรเก่านั้นไม่เคยหายไปไหน

#Didyouknow การพบกันระหว่าง 3 ผู้นำมหาอำนาจในครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 ที่พบกัน โดยครั้งแรกเกิดขึ้นที่ “การประชุมเตหะราน” ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 1943 กรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน 

เรื่องโดย: ธันยพร ศรีไพโรจน์

เรียบเรียงโดย: พีรชัย พสุทันท์

ภาพประกอบ: AFP

แท็กที่เกี่ยวข้อง

สงครามโลกครั้งที่ 2สงครามเย็นสหรัฐอเมริกาสหภาพโซเวียตอังกฤษประวัติศาสตร์
ผู้เขียน: Thai PBS Digital Media

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด