ฤดูของการสอบ ก.พ. กำลังจะมาถึงอีกครั้ง
จากที่เมื่อปีก่อน กรณีเว็บไซต์สำนักงาน ก.พ. ล่ม เนื่องจากมีผู้เข้ามาลงสมัครสอบ ก.พ. ประจำปี 2567 เป็นจำนวนมาก ปรากฏการณ์นี้สะท้อนได้ถึงความต้องการ “งาน” โดยเฉพาะงานในสาย “ราชการ” มาถึงปีนี้ การสอบ ก.พ. 2568 กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง
Thai PBS ชวนเจาะข้อมูลเชิงลึก เหตุใดคนไทยนิยมงาน “ข้าราชการ” และตัวแปรที่ทำให้งานด้านนี้มีความต้องการสูงนั้น มีผลมาจากเรื่องใด
รู้จัก “การสอบ ก.พ.” คืออะไร ?
ก.พ. ย่อมาจาก สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน เป็นองค์กรกลางด้านการบริหารทรัพยากรบุคคลในราชการพลเรือน ทำหน้าที่ส่งเสริมการพัฒนาข้าราชการและบุคลากรภาครัฐ ให้มีคุณภาพชีวิตและการทำงานที่ดี และพัฒนาระบบการบริหารกำลังคนในราชการ ให้เป็นกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติอย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วน การสอบ ก.พ. คือ กระบวนการคัดเลือกบุคคลที่มีความสนใจอาชีพข้าราชการ ให้เข้ามาทำงานในหน่วยงานราชการ ซึ่งจะมีการจัดสอบเป็นประจำทุกปี มีทั้งแบบ Paper & Pencil (สอบแบบกาข้อสอบในกระดาษ) และ e-Exam (สอบในรูปแบบอิเลกทรอนิกส์)
การสอบ ก.พ. แบ่งออกเป็น 3 ภาค คือ
- สอบภาค ก. เป็นการสอบภาคความรู้ ความสามารถทั่วไป ที่มีการจัดสอบประจำทุกปี ถือเป็นด่านแรกที่ต้องสอบให้ผ่านเพื่อไปสู่ขั้นต่อไป
- สอบภาค ข. เป็นการสอบที่เน้นใช้ความรู้และความสามารถเฉพาะตำแหน่ง ผู้ที่จัดสอบในภาคนี้ เป็นหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เปิดรับสมัคร ผู้สมัครสอบจะต้องนำหนังสือรับรองการสอบผ่านภาค ก. มายืนยัน จึงจะสามารถสมัครได้
- สอบภาค ค. เป็นการสอบสัมภาษณ์ มีผู้สัมภาษณ์เป็นหน่วยงานต้นสังกัดนั้น ๆ มาร่วมทำการทดสอบ ผู้ที่สามารถสอบภาคนี้ได้ ต้องผ่านการสอบทั้งภาค ก. และภาค ข. นอกจากนี้อาจมีการทดสอบเพิ่มเติม เช่น การทดสอบร่างกาย จิตวิทยา ร่วมด้วย
ย้อนดูสถิติการสอบ ก.พ.
ในที่นี้ เป็นสถิติการสอบ ก.พ. (ภาค ก.) ซึ่งเป็นด่านแรกของการสอบเข้าทำงานราชการ พบว่า มีจำนวนผู้สมัครจำนวนหลักแสน โดยมีตัวเลขรายงาน ดังนี้
- ปี 2562 จำนวนผู้สมัคร 470,385 คน
- ปี 2563 จำนวนผู้สมัคร 500,000 คน
- ปี 2564 จำนวนผู้สมัคร 719,805 คน
- ปี 2565 จำนวนผู้สมัคร 500,000 คน
- ปี 2566 จำนวนผู้สมัคร 333,500 คน
- ปี 2567 จำนวนผู้สมัคร 384,906 คน
จะเห็นได้ว่า ตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวนผู้สมัครสอบ ก.พ. มากขึ้นเป็นลำดับ และเป็นที่น่าตั้งข้อสังเกตว่า ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่มีการระบาดของโรคโควิด – 19 จำนวนผู้สมัครสอบสูงถึง 500,000 คน และต่อมาในปี 2564 ที่สถานการณ์การระบาดยังต่อเนื่อง จำนวนผู้สมัครสอบ ก.พ. กระโดดสูงถึง 719,805 คน ซึ่งแปรผันกับอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ที่สูงถึงกว่า 9 แสนคน
อย่างไรก็ตาม ในปี 2565 จำนวนผู้สมัครสอบ ก.พ. ลดลงมาเหลือ 500,000 คน และลดลงมาอีกเมื่อปี 2566 เหลือเพียง 333,500 คน แต่ถึงอย่างนั้น หากคิดค่าเฉลี่ยจำนวนผู้สมัครในรอบ 5 ปี อยู่ที่ราว 504,738 คน ถือว่าเป็นจำนวนที่สูงไม่น้อย
จำนวนผู้สมัครสอบมาก แต่จำนวนผู้สอบผ่านกลับไม่ได้มากตาม
แม้จะมีจำนวนผู้สมัครสอบ ก.พ. สูงอย่างต่อเนื่อง แต่หากพิจารณาจำนวนผู้ที่สอบผ่านในรอบแรกนี้ พบว่า…
- ปี 2567 ผู้สมัคร 384,906 คน มีผู้สอบผ่านจำนวน 28,571 คน
- ปี 2566 ผู้สมัคร 333,500 คน มีผู้สอบผ่านจำนวน 15,485 คน
- ปี 2565 ผู้สมัคร 500,000 คน มีผู้สอบผ่านจำนวน 4,744 คน
- ปี 2564 ผู้สมัคร 719,805 คน มีผู้สอบผ่านจำนวน 11,349 คน
- ปี 2563 ผู้สมัคร 500,000 คน มีผู้สอบผ่านจำนวน 13,604 คน
- ปี 2562 ผู้สมัคร 470,385 คน มีผู้สอบผ่านจำนวน 21,085 คน
จากสถิติที่พบ จำนวนผู้ที่สอบผ่าน ลดลงตั้งแต่ปี 2562 และลดต่ำสุดในปี 2565 เหลือแค่เพียง 4,744 คน กระทั่งในปีต่อมา 2566 ซึ่งเป็นปีที่มีที่นั่งผู้สมัครสอบน้อยที่สุดในรอบ 5 ปี แต่กลับมีจำนวนผู้ที่สอบผ่านเพิ่มสูงขึ้นเป็น 15,485 คน สะท้อนได้ประการหนึ่งว่า แม้ที่นั่งผู้สมัครสอบจะลดน้อยลง แต่สามารถคัดเลือกผู้สมัครที่มีคุณภาพได้มากขึ้น
เปิดปฏิทินสอบ ก.พ. 2568
การสอบ ก.พ. เปิดรัยสมัครสอบภาค ก. ประจำปี 2568 รอบ Paper & Pencil แล้วจำนวนกว่า 450,000 ที่นั่งสอบ สามารถสมัครสอบได้ที่เว็บ สำนักงาน ก.พ. https://job3.ocsc.go.th โดยมีกำหนดการดังนี้
- เปิดรับสมัครสอบ ก.พ. 2568 (หรือจนกว่าที่นั่งสอบจะเต็ม) 30 มกราคม 2568
- ปิดรับสมัครสอบ 20 กุมภาพันธ์ 2568
- ประกาศรายชื่อผู้สมัครสอบ ก.พ. 2568 19 มีนาคม 2568
- ประกาศวัน เวลา สถานที่สอบ เปิดให้พิมพ์บัตรประจำตัวผู้สอบก.พ. 2568 ภายในวันที่ 26 มิถุนายน 2568
- สอบข้อเขียน (Paper & Pancil) วันที่ 3 สิงหาคม 2568
- ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่าน ภายในวันที่ 9 ตุลาคม 2568
- พิมพ์หนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ตั้งแต่วันที่ 9 ตุลาคม เป็นต้นไป
เปิดปัจจัย ทำไมผู้สมัครสอบ ก.พ. ถึงจำนวนสูงขึ้น
จากปรากฏการณ์ที่ผู้คนแห่แหนสมัครเก.พ. จนเกิดเหตุเว็บไซต์ล่มเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ชวนให้เกิดข้อสงสัย เหตุใดผู้คนจึงต้องการเข้ารับราชการมากเป็นพิเศษในปีนี้ Thai PBS มีโอกาสพูดคุยกับ ธนาศาน สุภาษี หรือที่รู้จักกันในวงการติวเตอร์สอบข้าราชการในชื่อ “ติวเตอร์นอร์ท” ที่ช่วยสะท้อนถึงปรากฏการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ซึ่งมีที่มาจากหลากหลายสาเหตุด้วยกัน
ไล่เรียงตั้งแต่ จากมติ ครม.ที่ประกาศเรื่องสวัสดิการข้าราชการ อัตราเงินเดือนที่ 18,000 บาท รวมถึงเวลาการทำงานที่ยังคงได้หยุดเสาร์ - อาทิตย์ โดยเข้างานเวลา 8 โมงเช้า เลิกงาน 4 โมงเย็น ซึ่งเมื่อเทียบกับบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัด ถือว่าเป็นสวัสดิการที่ตอบโจทย์คนทำงาน จนทำให้หลายคนเลือกที่จะมาสอบเข้ารับราชการอย่างที่เห็น
“เดิมทีงานข้าราชการมีคนสนใจสอบเข้าเยอะอยู่แล้วทุกปี แต่ปีนี้ที่คนเข้าสอบมากขึ้น มาจากปัจจัยหลายด้าน โดยคนเข้าสอบข้าราชการส่วนใหญ่เป็นคนต่างจังหวัด งานราชการจึงตอบโจทย์มากกว่าเอกชน ในพื้นที่ที่ไม่ได้มีบริษัทใหญ่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเดือนที่มีการปรับขึ้นมา รวมถึงเวลาการทำงานที่ไม่ต้องทำวันเสาร์”
“นอกจากนี้ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีน้อง ๆ หลายคนต้องเผชิญกับความไม่มั่นคงจากการออกจากงานในช่วงวิกฤตที่ผ่านมา จึงมองหาความมั่นคงของงานราชการมากขึ้น พร้อมกันนั้นในปีนี้ หลายหน่วยงานมีการเปิดรับบรรจุคนกันเยอะ จึงอาจเป็นโอกาสที่ดีที่สุดในหลายรอบปีที่จะสอบเข้ารับราชการ ก่อนที่ตำแหน่งจะหมดไป แล้วต้องรออีกหลายปี ถึงจะมีตำแหน่งว่างรับบรรจุ”
“โควิด-19” อีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้คนสมัครสอบ ก.พ. เพิ่มขึ้น
ติวเตอร์นอร์ท เสริมต่อว่า กรณีที่มีคนเข้ามาสมัครจำนวนมาก จนทำให้เกิดเว็บล่มขึ้น เหตุการณ์ลักษณะดังกล่าว เกิดขึ้นเป็นปกติ โดยเฉพาะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงหลังโควิด-19 ระบาด ซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวแปรที่ทำให้จำนวนผู้สมัครเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ตั้งแต่วิกฤตโควิดที่ผ่านมา คนต้องการเข้าสอบรับราชการเพิ่มขึ้นมาก มีคนแย่งกันเข้าเว็บเพื่อสมัครสอบ 2 - 3 แสนคนพร้อมกันทุกปี ปัญหาเว็บล่มจึงเกิดขึ้นได้ ที่ผ่านมา ก.พ. มีความพยายามแก้ไขปัญหาอยู่หลายวิธี ตั้งแต่การกระจายที่สอบไปในหลากหลายพื้นที่ แบ่งรอบการสอบให้มากขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา มีทั้งสอบรอบคอมพิวเตอร์ (e-Exam) สอบรอบกระดาษ (แบบ Paper & Pencil) รวมถึงการสอบ ก.พ. ภาค ก. พิเศษ”
“การที่คนมีสิทธิ์สอบได้หลายรอบ ผมมองว่าเป็นเรื่องดี แต่คนที่ยังไม่ทราบผลสอบ อาจมาสมัครสอบอีกครั้ง ทำให้แม้จะมีการกระจายการสอบเพิ่ม แต่ก็ยังไม่เพียงพออยู่ดี ดังนั้น หากรอบการสอบเลื่อนออกไปเป็นหลังทราบผลสอบของสนามก่อนหน้า ก็อาจทำให้คนเข้ามาสมัครน้อยลงไปได้”
ในส่วนของความยากง่ายของการสอบ ในฐานะติวเตอร์ที่อยู่ในแวดวงการติวสอบเข้าทำงานในหลายหน่วยงาน มองว่า ข้อสอบของ ก.พ. ถือว่ามีมาตรฐานสูงที่สุด โดยมีอัตราผู้ผ่านเกณฑ์อยู่ที่ประมาณ 4 เปอร์เซนต์ สะท้อนได้ว่า ข้อสอบไม่ยากและง่ายเกินไป
โดยในแต่ละปี มักจะมีข้อสอบที่แตกต่างไปจากปีก่อน ๆ ถือเป็นการพัฒนาทีละเล็กทีละน้อยเพื่อไม่ให้ข้อมูลล้าสมัย ข้อสอบจึงจะยากขึ้นอย่างเป็นมาตรฐานทุกปี ตามวิชาความรู้ต่าง ๆ ที่มีเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ติวเตอร์นอร์ท มองว่า อาชีพข้าราชการจะยังคงเป็นอาชีพยอดฮิตไปอีกนาน ตราบที่การจ้างงานยังคงกระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เมืองอย่างกรุงเทพฯ ถึงตอนนี้แนวโน้มความต้องการสอบเข้ารับราชการยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
“อาชีพข้าราชการ ยังเป็นอาชีพยอดฮิต ตราบใดที่การจ้างงานยังกระจุกตัวในกรุงเทพฯ แต่ถ้าการจ้างงานกระจายตัวไปอยู่ในต่างจังหวัดมากขึ้น คนอาจจะอยากไปอยู่กับเอกชนก็ได้ ถึงตอนนี้สวัสดิการต่าง ๆ ทั้งสิทธิการกู้เงิน สิทธิรักษาพยาบาล รวมถึงเงินเดือนเริ่มต้นที่ 18,000 บาท สำหรับเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานเลยในต่างจังหวัด แทบไม่มีเอกชนแห่งไหนจะสามารถให้ได้”
ไม่ว่าอาชีพใด ล้วนมีความสำคัญ การหันมาดูแล ใส่ใจเรื่องสิทธิพื้นฐาน ตลอดจนเรื่องรายได้ ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งหมดล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญ ให้วิถีคนทำงานได้มี “ทางเลือก” ที่มากยิ่งขึ้น...
อ้างอิง
-ส่องอัตราการว่างงานในประเทศไทย หลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19
-สำนักงาน ก.พ.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เช็กขั้นตอน สมัครสอบ ก.พ. ประจำปี 2567 ภาค ก. แบบ Paper & Pencil จำนวน 380,000 ที่นั่ง
-เปิดสมัครสอบ ก.พ.67 วันแรก เว็บล่ม – เร่งแก้ไข
-สมัครสอบ ก.พ.67 อัปเดตจำนวนคนสมัคร ล่าสุดเหลือ 2 แสนที่นั่ง
ดูวิดีโอที่เกี่ยวข้อง
-สมัครสอบ ก.พ. วันแรกเว็บล่ม ! คนแห่สมัครพร้อมกันกว่า 300,000 คน | จับตาสถานการณ์ | 19 มี.ค. 67