ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เพจปลอมอ้าง ปปง. คืนเงิน เตือนผู้เสียหายถูกหลอกไปแล้วอย่าโดนซ้ำ


Verify

6 พ.ย. 67

ณัฐพล ทุมมา

Logo Thai PBS
แชร์

เพจปลอมอ้าง ปปง. คืนเงิน เตือนผู้เสียหายถูกหลอกไปแล้วอย่าโดนซ้ำ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1851

เพจปลอมอ้าง ปปง. คืนเงิน เตือนผู้เสียหายถูกหลอกไปแล้วอย่าโดนซ้ำ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "Online social news" ปลอมเพจเฟซบุ๊กเป็นสำนักข่าว อาศัยการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก (ยิง Ads) อ้าง สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. เปิดยื่นคำร้องขอรับเงินคืน เพื่อหลอกผู้เสียหายให้ลงทะเบียนขอเงินคืน เบื้องต้นพบมีผู้เสียหายบางส่วนหลงเชื่อสอบถามเข้าไปจำนวนมาก

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอมโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก

จากการตรวจสอบพบว่า

เพจดังกล่าวใช้การโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก โดยใช้ข้อความว่า "ปปง. แถลงข่าว สามารถยื่นคำร้องเพื่อลงทะเบียนสิทธิขอรับเงินคืนได้แล้ว ติดต่อลงทะเบียนที่นี่เท่านั้น" โดยมีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวน 296 คน มีผู้แสดงความคิดเห็น 175 คน และแชร์โพสต์ดังกล่าวไป 14 ครั้ง

นอกจากนี้ยังพบว่า มีทั้งผู้ที่เข้าไปแสดงความคิดเห็น รวมถึงผู้เสียหายจำนวนหนึ่ง ที่เข้ามาเล่าถึงความเสียหายที่ได้รับ รวมถึงสอบถามช่องทางการขอเงินคืน

ตัวอย่างความคิดเห็น

-ดีใจด้วยที่ช่วยกันครับ
-สนใจครับ
-ผมโดนไป 28,000 บาทครับ
-ผมโดนไป 26,000 สองครั้ง ดีที่สติคืนซะก่อน ไม่เช่นนั้นคงเป็นหลักล้านแน่
-เราโดนไป 80,000 บาท ติดต่อยังไง

ภาพบันทึกหน้าจอประชาชนที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์ปลอม

แอบอ้างเป็นเพจสำนักข่าว

นอกจากนี้พบว่า มีการใช้ที่อยู่ของสำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ มาใช้หลอกประชาชนอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอมที่พบว่ามีการใช้ที่อยู่ของกรมประชาสัมพันธ์มาใช้แอบอ้าง
จากการตรวจสอบพบว่า

บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ระบุว่าเป็นองค์กรการกุศล ถูกสร้างเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมาเพียงเท่านั้น

ภาพบันทึกหน้าจอเพจปลอมพบว่าถูกสร้างขึ้นเมื่อ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา

ไม่มีเนื้อหาเน้นหลอกผ่านการโฆษณา

เนื้อหาภายในเพจมีการนำภาพข่าวที่เป็นที่สนใจของประชาชนมาใช้ประกอบการหลอกลวง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า เนื้อหาข่าวภายในไม่ได้เน้นการลงข่าวในเพจมากเท่าใดนั้น คาดว่าเป็นการสร้างมาเพื่อเน้นการหลอกลวงผ่านการลงโฆษณาผ่านเฟซบุ๊ก (ยิง Ads) เพื่อหลอกลวงให้ผู้เสียหายส่งหลักฐานในช่องทางข้อความมากกว่า

ภาพบันทึกหน้าจอเพจเฟซบุ๊กปลอม

อย่างไรก็ตาม Thai PBS Verify ทดลองติดต่อส่งข้อความสอบถาม โดยมีการตอบกลับจากข้อความอัตโนมัติของเพจ ระบุว่า "หากคุณคือผู้เสียหายจากการถูกฉ้อโกง โปรดแจ้ง ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ที่ติดต่อได้ และยอดเสียหายให้เจ้าหน้าที่ได้เลยครับ"

ภาพบันทึกหน้าจอ Thai PBS Verify ทดลองติดต่อส่งข้อความสอบถามกับเพจเฟซบุ๊กปลอม

เบื้องต้นหากพบเห็นเพจดังกล่าวโปรดอย่าหลงเชื่อ เพราะอาจมีการขอข้อมูลส่วนตัวเพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบ หรืออาจถูกหลอกลวงจนเกิดความเสียหาย และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ

หากประชาชนต้องการรับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน สามารถติดตามได้ที่ https://www.amlo.go.th/index.php/th/ หรือโทร. 02-219-3600

ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนพบเห็นบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ใด ลงโฆษณาอ้างว่า สามารถแจ้งความออนไลน์หรือลงทะเบียนรับเงินคืนได้ที่บัญชีสื่อสังคมออนไลน์ดังกล่าว สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 1599 เพื่อให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลต่อไป

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เพจปลอมหลอกกดลิงก์หลอกลงทะเบียนหลอกผู้สูงอายุหลอกลวงโฆษณาหลอกลวงโดนหลอกข่าวปลอมเพจปลอมเว็บไซต์สำนักข่าวปลอมแจ้งความออนไลน์ปลอมภัยออนไลน์คดีออนไลน์แจ้งความออนไลน์
ณัฐพล ทุมมา
ผู้เขียน: ณัฐพล ทุมมา

จากทหารถือปืน เปลี่ยนมาเป็นนักข่าวถือไมค์ สู่การเป็นนักเขียนถือปากกา

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด