Thai PBS Verify พบเพจเฟซบุ๊กชื่อ "กรมการจัดหางาน" ปลอมเพจ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน" โฆษณารับสมัครคนแพ็กสบู่ ข้อความโฆษณาดังกล่าวระบุว่า รับสมัครคนแพ็กสบู่ ขนส่งฟรีบริษัทจัดส่งถึงหน้าบ้านพร้อมรายละเอียดรายได้ 450+ ต่อวัน สอบถามรายละเอียด"
ปลอมเพจหน่วยงานราชการ
จากการตรวจสอบพบว่า โพสต์ดังกล่าวมีผู้สนใจจำนวนมาก โดยมีผู้กดไลก์ 2,200 คน แสดงความคิดเห็นถึง 554 ครั้ง และแชร์โพสต์ดังกล่าวไปถึง 46 ครั้ง
นอกจากนี้บัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าว ระบุในช่องแนะนำตัวว่าใช้เวลาว่าง สร้างอาชีพ By. (ครูก้อย) นอกจากนี้ยังระบุว่าเป็นเพจงานประดิษฐ์ ถูกสร้างเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2565 ทั้งนี้หากเทียบกับเพจจริงของ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน" พบว่า เพจจริงของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ระบุในช่องแนะนำตัวว่า หน่วยงานราชการ และถูกสร้างเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2554 (ลิงก์บันทึก)
นอกจากนี้ยังพบว่า เพจปลอมมีการนำภาพโลโก้ของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน มาใช้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ (ลิงก์บันทึก)
เช่นเดียวกับภาพหน้าปกเฟซบุ๊กพบว่า เป็นการนำภาพจากเฟซบุ๊กจริงของกระทรวงแรงงานมาใช้ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือเช่นเดียวกัน
นำเนื้อหาจากเพจจริงมาใส่เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ยังพบว่า เพจปลอมมีการนำเนื้อหาข่าวของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มาโพสต์ในเพจเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และทำให้เพจปลอมดูเหมือนเพจจริงมากที่สุดอีกด้วย (ลิงก์บันทึก)
Thai PBS Verify ลองติดต่อสอบถามทางข้อความพบว่า เพจดังกล่าวได้ส่งข้อความอัตโนมัติ ระบุว่า
-เปิดรับสมัครคนขยัน
-งานเสริมหรืองานประจำรับหมด
-ง่ายไม่ยาก มีคนสอน
-รับอายุ20ปีขึ้นไป
-มีความรับผิดชอบ
พร้อมกับส่งช่องทางการติดต่อ โดยอ้างว่าเป็น ช่องทางติดต่อโดยตรงจากบริษัท ชื่อแอดมิน : ผู้ต้อนรับ พิมพา โดยให้กดเพิ่มผู้ติดต่อด้วยไอดีไลน์ และให้ผู้สมัครบันทึกหน้าจอส่งกลับ โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการเพิ่มผู้ติดต่อที่ผิดพลาด
ยืนยันว่าเป็นเพจปลอม
ทั้งนี้กระทรวงแรงงาน ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า เพจที่ปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์ที่ชื่อว่า "กรมการจัดหางาน" เป็นเพจปลอม ไม่ใช่เพจเฟซบุ๊กของ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน แต่อย่างใด แต่เป็นการคัดลอกภาพและข้อความจากเพจ facebook จริงมาใช้ พร้อมทั้งมีการซื้อโฆษณาเพื่อให้เข้าถึงประชาชนที่ต้องการหางานทำ โดยเฉพาะการรับงานไปทำที่บ้าน โดยใช้การจูงใจด้วยค่าจ้างรายวันที่สูง
วิธีตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น
หากประชาชนสงสัย สามารถตรวจสอบด้วยตนเองเบื้องต้น ด้วยการสังเกตที่เพจ facebook ของกระทรวงแรงงานที่ถูกต้องจะใช้ชื่อว่า "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" และมีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า (Blue Tick) หลังชื่อเพจ มีจำนวนผู้ติดตามกว่า 1.2 แสนคน และที่สำคัญกระทรวงแรงงาน ไม่มีการเชิญชวนรับงานไปทำที่บ้าน และไม่มีการเรียกเก็บค่ามัดจำ หรือโอนเงินทุกกรณี
หากประชาชนพบเจอเพจ facebook ที่ไม่ใช่ลักษณะข้างต้น ให้คิดไว้เสมอว่า นั่นคือ "เพจปลอม" โปรดอย่าหลงเชื่อ และขอให้ช่วยกันกดรีพอร์ตเพจปลอม พร้อมบล๊อคทันที หรือหากท่านไม่แน่ใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 4 หรือส่งข้อความสอบถามทางเพจ "กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน" ที่มีเครื่องหมายติ๊กถูกสีฟ้า หรือที่ https://www.facebook.com/dsdgothai