"ดื่มบนเครื่องบิน" หลายคนเชื่อกันว่าจะช่วยให้นอนหลับง่ายขึ้น แต่ความจริงแล้วผลระยะยาว กลับแย่กว่าที่คิด
Thai PBS ชวนมาดูงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Thorax ผลจากการการดื่มแอลกอฮอล์บนเครื่องบินนั้น แม้จะช่วยให้หลับได้ แต่กลับมีคุณภาพการนอนที่ย้ำแย่ และส่งผลเสียต่อคุณภาพในระยะยาว ในทริปการเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่ คุณอาจต้องเดินทางไกลด้วยเครื่องบิน การดื่มบนเครื่องอาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?
“ดื่มเพื่อหลับ” ช่วยได้จริงหรือไม่ ?
การดื่มเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ ไม่ว่าจะเป็นเหล้า ไวน์ เบียร์ ระหว่างเดินทางระยะไกลด้วยเครื่องบิน หลายคนคาดหวังให้เครื่องดื่มเหล่านั้นออกฤทธิ์ให้หลับสบายขึ้น หลับง่ายขึ้น ทว่าความจริงแล้วเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ?
เอวา-มาเรีย เอลเมนโฮรสท์ (Eva-Maria Elmenhorst) นักวิจัยเผยว่า การเดินทางด้วยเครื่องบินโดยปกติแล้วจะทำให้ร่างกายรู้สึกเครียดจากทั้งประสบการณ์การเดินทาง การต้องขึ้นไปในระดับความสูงที่มีความกดอากาศต่างจากบนพื้นโลกปกติ ยิ่งระดับความสูงมาก ความเบาบางของปริมาณออกซิเจนจะส่งผลต่อระดับการเต้นของหัวใจที่มากขึ้น ทำให้เครียดมากขึ้น ยังไม่นับรวมการสั่นไหวของเครื่องบินทั้งจากการเปลี่ยนระดับความสูงหรือการตกหลุมอากาศ รวมถึงการนั่งในที่คับแคบ และต้องนอนในท่านั่งที่ผิดจากปกติ เหล่านี้ส่งผลให้การนอนบนเครื่องบินทำได้ยาก
แล้วการดื่มแอลกอฮอล์ช่วยได้หรือไม่ ? การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากจะมีฤทธิ์กดประสาทจึงส่งผลให้รู้สึกง่วงนอน และช่วยให้นอนหลับได้ ทว่าแอลกอฮอล์ก็ส่งผลให้หัวใจเต้นแรงขึ้นเช่นกัน ผลที่เกิดขึ้นสุดท้ายจึงเป็นการนอนหลับได้ง่ายขึ้น แต่ก็มีคุณภาพการนอนย้ำแย่ หลับไม่ลึก และตื่นได้ง่ายเพราะอัตราการเต้นของหัวใจที่สูงขึ้นมาก การดื่มเพื่อหลับบนเครื่องจึงมีผลให้คุณตื่นระหว่างคืนได้หลายครั้ง ส่งผลให้เกิดความเครียดตามมาแทนได้
ดื่มระหว่างขึ้นเครื่องส่งผลระยะยาวอย่างไร ?
งานวิจัยพบว่า การดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเพิ่มภาระการทำงานของหัวใจ จากเดิมที่หัวใจทำงานหนักจากความกดดันอากาศที่เบาบางลง แอลกอฮอล์เข้ามาทำให้หัวใจเต้นแรงขึ้น นอกจากนี้ยังมีส่วนลดระดับออกซิเจนในเลือด ทำให้เมื่ออยู่บนเครื่องบิน ระดับออกซิเจนที่น้อยอยู่แล้ว จึงยิ่งทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดต้องทำงานหนักขึ้นไปอีก ซึ่งประเด็นนี้ส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว
เนื่องจากการนอนที่ไม่มีคุณภาพ การสร้างภาระที่มากเกินไปต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด หากดื่มระหว่างขึ้นเครื่องบินเป็นประจำอาจนำไปสู่การป่วยเกี่ยวกับโรคหัวใจหรือโรคปอดได้
ทั้งนี้ มีข้อควรระวังในกลุ่มผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีอาการของโรคหัวใจหรือปอดอยู่แล้ว ผู้เชี่ยวชาญมองว่าในทางทฤษฎีแล้ว การเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจที่มากเกินไปในขณะที่ระดับออกซิเจนลดลง ทำให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกายอย่างกะทันหัน เช่น ภาวะหัวใจล้มเหลวได้
ไม่ดื่มแล้วจะนอนหลับบนเครื่องอย่างไร ?
การเปลี่ยนระดับความสูงจากการเดินทางด้วยเครื่องบิน ทำให้ร่างกายต้องปรับตัวจากระดับออกซิเจนที่น้อยลง ทว่าใช้เวลาไม่นานนัก ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวได้ การดื่มแอลกอฮอล์จะเข้าไปทำให้การปรับตัวเกิดขึ้นได้ยากขึ้น ผู้เชี่ยวชาญจึงมีข้อแนะนำดังนี้
1. พยายามทำร่างกายให้ปกติที่สุดเท่าที่จะทำได้ พิจารณาเลือกช่วงเวลาของไฟท์บินในสอดคล้องกับเวลานอนจะมีส่วนช่วยให้นอนหลับได้ง่ายขึ้น
2. หลีกเลี่ยงการพยายามนอนหรือตื่นที่ต่างจากปกติ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์หรือยานอนหลับเพื่อให้หลับ การดื่มกาแฟหรือเครื่องดื่มชูกำลังเพื่อหวังให้ตื่นตามเวลา (โดยมีจุดประสงค์ให้นอนหลับในตอนกลางคืน)
3. หลีกเลี่ยงภาวะขาดน้ำ ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ เพราะอากาศในเครื่องบินระหว่างบินมักจะมีการหมุนเวียนของอากาศที่แห้งและเย็น ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำได้เช่นกัน
4. งดการเล่นมือถือหรือแท็บเล็ต ระหว่างบิน เพราะแสงสีฟ้าจากหน้าจออุปกรณ์เหล่านี้รบกวนการนอนหลับได้
5. สวมหูฟังตัดเสียงรบกวน เป็นอีกตัวช่วยเพื่อให้คุณนอนหลับได้ดีขึ้น
การพยายามนอนหลับหรือใช้ชีวิตอย่างปกติในวันที่ต้องเดินทางด้วยเครื่องบินอาจเป็นเรื่องยากสักนิด แนวทางเหล่านี้อาจมีส่วนช่วยให้คุณมีสุขภาพและใช้ชีวิตหลังการเดินทางด้วยเครื่องบินได้ดีขึ้น
อ้างอิง
- Don’t drink before your nap on the plane. It could hurt you now and later – CNN
- Effects of moderate alcohol consumption and hypobaric hypoxia: implications for passengers’ sleep, oxygen saturation and heart rate on long-haul flights - journal Thorax