นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิจัยสาธารณะ Sant'Anna School of Advanced Studies ในเมืองปิซา ประเทศอิตาลี พัฒนามือเทียมที่ควบคุมด้วยแม่เหล็ก ช่วยให้คนพิการสามารถขยับมือได้สะดวกยิ่งขึ้น
การพัฒนามือเทียมด้วยเทคโนโลยีการควบคุมด้วยแม่เหล็กเป็นความก้าวหน้าล่าสุดทางการแพทย์และวิศวกรรม ที่ช่วยให้คนพิการสามารถควบคุมการเคลื่อนไหวของมือเทียมได้อย่างแม่นยำและเป็นธรรมชาติ ระบบนี้ใช้แม่เหล็กที่ฝังในกล้ามเนื้อเพื่อสั่งการ ทำให้การควบคุมมือเทียมเป็นไปอย่างง่ายดาย และรวดเร็ว ผู้ใช้สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกขึ้น เทคโนโลยีนี้มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการความคล่องตัวและความแม่นยำในการใช้งาน โดยบทความเกี่ยวกับการศึกษาเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ MYTI ของสภาวิจัยยุโรป ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Science Robotics
นักวิทยาศาสตร์ทดลองใช้งานมือเทียมกับผู้เข้ารับการทดสอบวัย 34 ปีที่สูญเสียมือข้างซ้ายไปด้วยอุบัติเหตุเมื่อเดือนกันยายน 2022 โดยเริ่มจากการสแกน MRI และการตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ เพื่อตรวจสอบว่ากล้ามเนื้อที่ต้นแขนซ้ายของผู้เข้ารับการทดสอบหดตัวอย่างไรเมื่อเขาคิดจะขยับนิ้วมือที่หายไปจากการสังเกต นักวิจัยได้ฝังแม่เหล็กขนาดเล็ก 6 ชิ้น ซึ่งแต่ละชิ้นมีขนาดเพียงไม่กี่มิลลิเมตร เข้าไปในกล้ามเนื้อสำคัญบางส่วน จากนั้นจึงใส่มือเทียมที่มีปลอกแขนคาร์บอนไฟเบอร์ให้กับผู้เข้ารับการทดสอบ
เมื่อกล้ามเนื้อหดตัวและตอบสนองต่อความคิดที่เคลื่อนไหวด้วยนิ้ว เซนเซอร์สนามแม่เหล็กในปลอกแขนจะทำการตรวจจับการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกันของแม่เหล็กที่ฝังไว้ ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าแม่เหล็กหรือกล้ามเนื้อตัวใดเคลื่อนไหวในลักษณะใด นิ้วมือจะถูกกระตุ้นให้เคลื่อนไหวในลักษณะที่เกี่ยวข้อง
มือเทียมสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องใช้สายหรือการเชื่อมต่อทางไฟฟ้า อาศัยเพียงแม่เหล็กและกล้ามเนื้อในการควบคุมการเคลื่อนไหวของนิ้วเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้งานสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น เปิดขวด ใช้ไขควง และหยิบเหรียญ เป็นต้น
เรียบเรียงโดย ขนิษฐา จันทร์ทร
ที่มาข้อมูล: interestingengineering, santannapisa, studyfinds, newatlas
ที่มาภาพ: santannapisa
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech