พาไปรู้จัก Baikonur Cosmodrome ท่าอวกาศยานแห่งแรกของโลก


วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

13 ก.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

พาไปรู้จัก Baikonur Cosmodrome ท่าอวกาศยานแห่งแรกของโลก

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1592

พาไปรู้จัก Baikonur Cosmodrome ท่าอวกาศยานแห่งแรกของโลก
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

รู้จักประตูสู่อวกาศของรัสเซีย Baikonur Cosmodrome (ไบโคนอร์ คอสโมโดรม) ซึ่งเป็นท่าอวกาศยาน (Spaceport) แห่งแรกของโลก และยังคงเป็นฐานปล่อยจรวดที่นำส่งดาวเทียม นักบินอวกาศ รวมถึงภารกิจต่าง ๆ ของรัสเซีย สหรัฐอเมริกา และหน่วยงานพันธมิตรในปัจจุบัน

ท่าอวกาศยานแห่งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของภารกิจสปุตนิก 1 ดาวเทียมดวงแรกที่ขึ้นไปโคจรรอบโลกได้สำเร็จเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ค.ศ. 1957 เช่นเดียวกับวอสตอก 1 ที่นำส่ง ยูริ กาการิน เป็นนักบินอวกาศคนแรกในวันที่ 12 เมษายน ค.ศ. 1961

Baikonur Cosmodrome ภาพจาก NASA

โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ให้ความรู้ว่า Baikonur Cosmodrome ถูกสร้างขึ้นในปี 1955 ณ บริเวณเขตทะเลทรายทุ่งหญ้าสเตปป์ของประเทศคาซัคสถาน เพื่อเป็นฐานทดสอบและปล่อยขีปนาวุธข้ามทวีปลับของโซเวียต ภายใต้ชื่อว่า NIIP-5 ก่อนมีการต่อเติมเพื่อสร้างฐานปล่อยจรวดและโครงสร้างที่เกี่ยวข้องในภายหลัง

การเลือกพื้นที่ในประเทศคาซัคสถาน (ส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตเดิม) มาจากตำแหน่งที่อยู่ใกล้กับเส้นศูนย์สูตร ซึ่งอาศัยความเร็วในการหมุนรอบตัวเองของโลกที่มากกว่าในบริเวณดังกล่าว ช่วยให้สิ้นเปลืองพลังงานในการนำส่งน้อยลง เช่นเดียวกับเป็นจุดที่ห่างไกลจากบริเวณที่มีผู้คนอยู่อาศัยอย่างหนาแน่น และเป็นพื้นที่ราบเรียบที่ช่วยให้ศูนย์ควบคุมสามารถรับส่งสัญญาณวิทยุได้อย่างต่อเนื่อง (ด้วยข้อจำกัดเทคโนโลยีในช่วงเวลาดังกล่าว)

นับตั้งแต่เริ่มนำส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่อวกาศในปี 1957 ท่าอวกาศยาน Baikonur Cosmodrome ได้มีส่วนนำส่งจรวดและยานอวกาศรุ่นต่าง ๆ ของรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Soyuz ที่นำส่งมนุษย์ไปอวกาศมาจนถึงปัจจุบัน โครงการ Luna ที่มุ่งหน้าไปดวงจันทร์ โครงการ Venera ไปดาวศุกร์ และโครงการ Mars ออกสำรวจดาวอังคาร

ปัจจุบัน Baikonur Cosmodrome มีฐานปล่อยทั้งสิ้น 15 แห่ง พร้อมกับอาคารประกอบจรวดและดาวเทียม 11 แห่ง ในพื้นที่กว้างกว่า 6,717 ตารางกิโลเมตร พร้อมกับเครือข่ายรางรถไฟยาวกว่า 470 กิโลเมตร ที่ใช้ในการขนส่งจรวดและยานอวกาศเดินทางจากศูนย์ประกอบไปยังฐานปล่อย

Baikonur Cosmodrome ภาพจาก NASA, Bill Ingalls

หนึ่งในฐานปล่อยที่สำคัญและโด่งดังที่สุด คือฐานปล่อย 1/5 หรืออีกชื่อว่า ‘Gagarin’s Start’ เป็นฐานปล่อยที่นำส่งดาวเทียมสปุตนิก 1 ภารกิจวอสตอก 1 ของ ยูริ กาการิน (ตามชื่อฐานปล่อยที่ถูกตั้งเป็นเกียรติ) รวมถึงภารกิจนำส่งนักบินอวกาศไปสถานีอวกาศเมียร์ และสถานีอวกาศนานาชาติ โดยภารกิจสุดท้ายจากฐานปล่อยประวัติศาสตร์แห่งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 กันยายน ค.ศ. 2019 ในเที่ยวบินโซยูส MS-15 ไปสถานีอวกาศนานาชาติ ซึ่งปัจจุบัน ฐานปล่อย 1/5 ได้ถูกอนุรักษ์ไว้เป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์ และไม่มีการปล่อยจรวดจากฐานนี้อีกแล้ว

หน่วยงานอวกาศรัสเซีย หรือ ROSCOSMOS ยังคงปฏิบัติการจากท่าอวกาศยาน Baikonur Cosmodrome จนถึงปัจจุบัน โดยรัสเซียได้ทำสัญญาเช่าสถานที่จากรัฐบาลคาซัคสถานจนถึง ค.ศ. 2050 ด้วยมูลค่า 3,800 ล้านบาทต่อปี และมีภารกิจนำส่งยานอวกาศไปสถานีอวกาศนานาชาติจนถึงปัจจุบัน

ในเวลาเดียวกัน รัสเซียได้ก่อสร้างท่าอวกาศยาน Vostochny Cosmodrome (วอสตอชนีย์ คอสโมโดรม) ณ ฟากตะวันออกของประเทศ เพื่อลดความจำเป็นที่ต้องใช้งานฐานปล่อยในท่าอวกาศยาน Baikonur Cosmodrome ซึ่งอยู่ในเขตแดนของประเทศคาซัคสถาน และมีส่วนในการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของบริเวณโดยรอบท่าอวกาศยานแห่งใหม่ โดยปัจจุบันมีการปล่อยจรวดจากฐานปล่อยใน Vostochny ทั้งสิ้น 12 ครั้ง ซึ่งรวมถึงภารกิจ Luna-25 ที่พุ่งชนดวงจันทร์เมื่อเดือนสิงหาคม 2023

 

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS

แหล่งข้อมูลอ้างอิง : russianspaceweb, esa, russianspaceweb, GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Baikonur Cosmodromeท่าอวกาศยานSpaceportองค์การอวกาศรัสเซียRoscosmosอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด