รู้จัก “Gulfstream IV” เครื่องบินวิจัยขนาดเล็กลำใหม่ของ NASA


Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก “Gulfstream IV” เครื่องบินวิจัยขนาดเล็กลำใหม่ของ NASA

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1591

รู้จัก “Gulfstream IV” เครื่องบินวิจัยขนาดเล็กลำใหม่ของ NASA
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

เมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2024 เครื่องบินวิจัยขนาดเล็ก Gulfstream IV (G-IV) ลำใหม่ของศูนย์การวิจัยด้านการบิน Armstrong ได้ขึ้นบินเป็นครั้งแรกจากฐานบินในเมือง Edwards มลรัฐ California โดยภารกิจในครั้งนี้เป็นการทดสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพการบินและให้นักบินที่เกี่ยวข้องได้ทำความคุ้นเคยกับการควบคุมเครื่องบิน G-IV ลำใหม่ เครื่องบินลำนี้ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการติดตั้งอุปกรณ์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ในอนาคต ซึ่งในช่วงแรกของการทดสอบ เครื่องบิน G-IV ยังไม่ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์วิจัยหรือเซ็นเซอร์ภายนอก เช่น เรดาร์ ที่จะใช้ในการเก็บข้อมูล อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ G-IV ผ่านการทดสอบและติดตั้งอุปกรณ์เสร็จสิ้น เครื่องบินจะถูกนำไปใช้งานในโครงการ Airborne Science ของ NASA ซึ่งเป็นโครงการสำคัญในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการสำรวจทางอากาศ

เครื่องบิน G-IV ของ NASA ลำนี้จะถูกติดตั้งระบบเรดาร์ที่เรียกว่า AIRSAR-NG (Next Generation Airborne Synthetic Aperture Radar) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเรดาร์ขั้นสูงที่ออกแบบมาเพื่อเก็บข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่มีความละเอียดสูง ระบบ AIRSAR-NG นี้จะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงของลักษณะภูมิประเทศตามช่วงเวลาที่ต่างกันได้อย่างแม่นยำ โดยเครื่องบิน G-IV จะติดตั้งจานเรดาร์ AIRSAR-NG ทั้งหมด 3 จาน เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ที่กว้างและเก็บข้อมูลได้หลากหลายมิติ

นอกจากการติดตั้งเรดาร์แล้ว เครื่องบิน G-IV ยังมีความสามารถในการปรับแต่งและติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์อื่น ๆ ได้เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งทำให้เครื่องบินลำนี้เป็นเครื่องบินอเนกประสงค์ที่สามารถรองรับอุปกรณ์วิจัยที่หลากหลายได้ตามความต้องการในภารกิจต่าง ๆ ที่ NASA วางแผนไว้ ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อตรวจวัดสภาพอากาศ การตรวจจับรังสี หรือการวัดสัญญาณแม่เหล็กโลก G-IV จะเป็นแพลตฟอร์มที่สำคัญสำหรับการวิจัยทางอากาศในหลากหลายด้าน

AFRC2024-0101-12

Synthetic Aperture Radar (SAR) เป็นเทคโนโลยีเรดาร์ที่ใช้ในการยิงคลื่นสัญญาณเรดาร์ลงไปยังพื้นผิวโลก จากนั้นรับสัญญาณสะท้อนกลับมาเพื่อสร้างข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะภูมิประเทศอย่างละเอียด ข้อดีของ SAR คือสามารถเก็บข้อมูลได้ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมถึงสามารถทำงานได้ในทุกสภาพอากาศ โดยไม่ถูกขัดขวางจากเมฆหรือหมอก นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้รับจาก SAR ยังสามารถนำมาเปรียบเทียบกันเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของภูมิประเทศในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลก เช่น การกัดเซาะชายฝั่ง การเกิดดินถล่ม หรือการละลายของธารน้ำแข็ง

การใช้งาน SAR นั้นมีความสำคัญอย่างมากในหลากหลายภารกิจของ NASA โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการติดตามการเคลื่อนไหวของแผ่นเปลือกโลกและการตรวจวัดการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในพื้นผิวโลก ข้อมูลที่ได้จาก SAR สามารถนำมาใช้ในการคาดการณ์เหตุการณ์ธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรือการเคลื่อนที่ของแผ่นดิน ข้อมูลที่ SAR เก็บได้นั้นมีความละเอียดสูงถึงระดับเซนติเมตร ซึ่งหมายความว่าการเคลื่อนไหวที่เล็กที่สุดของพื้นผิวโลกก็สามารถถูกตรวจจับได้ ทำให้เทคโนโลยีนี้เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการศึกษาภูมิประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม

ในกรณีของการใช้งาน SAR บนเครื่องบิน เช่น G-IV ของ NASA จะช่วยให้การสำรวจทางอากาศสามารถเข้าถึงพื้นที่ที่ดาวเทียมไม่สามารถครอบคลุมได้ เช่น พื้นที่ห่างไกลหรือพื้นที่ที่มีความซับซ้อนทางภูมิศาสตร์ เครื่องบิน SAR ยังสามารถบินในระดับความสูงที่ต่ำกว่าเพื่อเก็บข้อมูลที่มีความละเอียดสูงมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบในการสำรวจพื้นที่เฉพาะเจาะจงที่ต้องการความแม่นยำ

เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์

🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

Gulfstream IVเครื่องบินวิจัยเครื่องบินวิจัยขนาดเล็กเครื่องบินองค์การนาซานาซาฺNASAThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech เทคโนโลยีTechnologyInnovationนวัตกรรมInnovation Tech World
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด