JAXA หั่นราคาจรวด H3 ครึ่งหนึ่ง รับศึกสงครามการขนส่งอวกาศ


Logo Thai PBS
แชร์

JAXA หั่นราคาจรวด H3 ครึ่งหนึ่ง รับศึกสงครามการขนส่งอวกาศ

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1588

JAXA หั่นราคาจรวด H3 ครึ่งหนึ่ง รับศึกสงครามการขนส่งอวกาศ
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

ภายหลังจากการที่การทดสอบจรวด H3 ของ JAXA ประสบความสำเร็จไปเรียบร้อย JAXA ไม่ได้นิ่งนอนใจกับราคาค่าบริการของจรวด H3 ที่ต้องต่อสู้กับสงครามราคาการขนส่งจากทั่วทุกมุมโลก เตรียมหั่นราคาการขนส่งลดครึ่งหนึ่ง เร่งศักยภาพอุตสาหกรรมจรวดญี่ปุ่น

จรวด H3 เป็นจรวดที่ผลิตขึ้นโดยบริษัท Mitsubishi Heavy Industry และ JAXA ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งศักยภาพของจรวด H3 นั้นอยู่ในกลุ่ม Medium-lift Launch Vehicle กลุ่มเดียวกับจรวด Falcon 9 ของ SpaceX, จรวด Ariane 6 ของ ArianeGroup และจรวด Vulcan Centaur ของ ULA ที่มีศักยภาพบรรทุกขนส่งไปยังวงโคจรต่ำรอบโลกที่ช่วงน้ำหนักประมาณ 20 ตัน

ภาพวาดกราฟิกจรวด H3 ภาพโดย JAXA

จากการปลดระวางการใช้งานจรวดตระกูล HII ภายในปี 2024 นี้ ทำให้ทาง JAXA และ Mitsubishi Heavy Industry ต้องเร่งมือพัฒนาและเพิ่มขีดความสามารถของจรวด H3 ให้ได้เร็วที่สุด อีกทั้งต้องหาวิธีการลดต้นทุนการผลิตเพื่อให้แข่งขันกับสงครามการขนส่งอวกาศที่กำลังเกิดขึ้นในตอนนี้ ซึ่งในตลอด 3 ภารกิจที่ผ่านมา ตัวจรวด H3 ใช้รูปแบบของจรวดหลักท่อนแรกเป็นเครื่องยนต์ LE-9 ทั้งหมด 2 ตัว และมีการติดตั้งจรวดเชื้อเพลิงแข็งขนาบสองข้างในการใช้งาน แต่เพื่อให้สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ ทางญี่ปุ่นได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการติดตั้งเครื่องยนต์ LE-9 เป็น 3 ตัวเพื่อลดการพึ่งพาจรวดเชื้อเพลิงแข็งที่มีราคาสูงและเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมาย และคาดว่าในการพัฒนาครั้งนี้จะลดต้นทุนของจรวดลงได้ครึ่งหนึ่ง JAXA คาดว่าราคาการปล่อย H3 ได้แบบ 3 เครื่องยนต์จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 5 พันล้านเยน หรือ 35 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 1,200 ล้านบาท ถูกกว่าค่าใช้จ่ายของการปล่อยกับจรวด Falcon 9 ประมาณครึ่งหนึ่ง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2,400 ล้านบาท

ภาพถ่ายเครื่องยนต์จรวด LE-9 ซึ่งเป็นเครื่องยนต์จรวดหลักของจรวด H3 ภาพโดย JAXA

แต่ความท้าทายในการลดราคาต้นทุนการปล่อยของจรวด H3 นี้คือการที่ทาง Mitsubishi Heavy Industry ต้องติดตั้งให้จรวดท่อนแรกมีเครื่องยนต์จรวดทั้ง 3 เครื่อง ซึ่งองค์ความรู้นี้ไม่เคยเกิดขึ้นกับจรวดจากทางญี่ปุ่น

ภาพถ่ายจรวด H3 บนฐานเคลื่อนย้ายจรวด ณ ฐานปล่อยจรวดศูนย์อวกาศทาเนงาชิมะ ภาพโดย JAXA

การเพิ่มประสิทธิภาพของจรวดและลดต้นทุนการปล่อยในระดับนี้จะทำให้ญี่ปุ่นเข้ามาเป็นผู้เล่นรายสำคัญอีกรายหนึ่งของตลาดการขนส่งอวกาศหลังจากที่ SpaceX ได้ผูกขาดตลาดการขนส่งอวกาศจากการบริการจรวด Falcon 9 ซึ่งลดต้นทุนการปล่อยด้วยการนำจรวดกลับมาใช้งานซ้ำได้หลาย ๆ ครั้ง

ภาพวาดจรวด H3 ขนาดต่าง ๆ ภาพโดย JAXA

ในอนาคตทาง JAXA ได้กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการจรวดรุ่นนี้ให้ดีขึ้น มีประสิทธิภาพที่สูงขึ้น และจะรองรับการปล่อยดาวเทียมแบบ Rideshare หรือการปล่อยดาวเทียมพร้อมกันหลาย ๆ ดวงจากหลาย ๆ บริษัทพร้อมกันด้วยจรวดเพียงเที่ยวบินเดียว ซึ่งการพัฒนาเครื่องยนต์และตัวจรวดให้มีความซับซ้อนที่น้อยลง จะช่วยลดต้นทุนการผลิตเครื่องยนต์จรวดพร้อมมอบศักยภาพเครื่องยนต์จรวดที่เพิ่มมากขึ้นได้

หากทางญี่ปุ่นสามารถลดต้นทุนจรวด H3 ได้จริง จรวดลำนี้จะเป็นจรวดในกลุ่ม Medium-lift Launch Vehicle ที่มีราคาถูกที่สุดและเป็นผู้เล่นรายสำคัญที่จะเข้ามาในอุตสาหกรรมการขนส่งอวกาศ


🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS  

ที่มาข้อมูล : spaceth

“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

จรวด H3JAXAองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่นขนส่งอวกาศการขนส่งอวกาศอวกาศThai PBS Sci And Tech Thai PBS Sci & Tech Space - Astronomy
Thai PBS Sci & Tech
ผู้เขียน: Thai PBS Sci & Tech

🌎 "รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก" ไปกับ Thai PBS Sci & Tech • วิทยาศาสตร์ • เทคโนโลยี นวัตกรรม • ดาราศาสตร์ • Media Literacy • Cyber Security • Tips & Tricks • Trends

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด