How to จัดการ “บ้าน” หลังเจอน้ำท่วม


How to

19 ก.ย. 67

จิราภพ ทวีสูงส่ง

Logo Thai PBS
แชร์

How to จัดการ “บ้าน” หลังเจอน้ำท่วม

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1618

How to จัดการ “บ้าน” หลังเจอน้ำท่วม
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย เมื่อ “น้ำลด” สภาพบ้านเรือนก็เต็มไปด้วยความเสียหาย จึงต้องมีการทำความสะอาด - จัดการบ้านขนานใหญ่ Thai PBS จึงขอนำความรู้จาก “คู่มือจัดการบ้านหลังน้ำลด” ซึ่งจัดทำโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มาเป็นความรู้จัดการบ้านหลังจากเจออุทกภัยให้กลับสู่ภาวะปกติ

น้ำลด


หลังจากน้ำท่วม ควรเข้าบ้านเวลาไหน ?

การเข้าไปในบ้านที่น้ำเพิ่งจะลดนั้นแนะนำว่าควรไปแต่เช้า เนื่องจากในช่วงแรกเราอาจจะไม่สามารถเปิดระบบไฟฟ้าแสงสว่างได้ ต้องใช้เวลากู้ระบบช่วงหนึ่ง ถ้าเข้าไปในเวลาช่วงเย็นหรือค่ำการดำเนินการอาจไม่สะดวกและปลอดภัย

สำหรับท่านที่ยังไม่ได้ถ่ายรูปความเสียหายของบ้านให้ถ่ายรูปก่อนดำเนินการแก้ไข เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการร้องขอค่าชดเชยต่าง ๆ ในภายหลัง โดยควรถ่ายให้เห็นบ้านเลขที่และหนังสือพิมพ์ที่มีวันที่ปัจจุบัน ถ้ามี ร่องรอยงัดแงะจากการโจรกรรมให้ถ่ายรูปไว้เป็นหลักฐานด้วย โดยเฉพาะท่านที่ทำประกันโจรกรรมไว้จะเป็นประโยชน์ในการไปเรียกร้องสินไหมทดแทนต่อไป

ให้ท่านเปิดประตูและหน้าต่าง ๆ ทุกบานเท่าที่ทำได้เพื่อให้ความชื้นภายใ บ้านระบายออกไปให้เร็วที่สุด เรื่องแรกที่ต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุดและต้องดำเนินการเป็นอย่างแรกคือการตรวจสอบระบบไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัยให้ท่านใส่รองเท้ายางจะได้ปลอดภัยจากการถูกไฟฟ้าดูดที่อาจมีในบริเวณบ้านและในตัวบ้าน การสัมผัสส่วนต่าง ๆ ของบ้านที่เป็นโลหะต้องใช้ความระมัดระวังให้มาก

เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากไฟฟ้าดูด ไม่ควรเข้าไปในบ้านที่ยังมีน้ำท่วมพื้นบ้านอยู่ ถ้าสามารถทำได้ควรรอจนน้ำลดระดับและพื้นบ้านแห้งเสียก่อน หากยืนอยู่ในน้ำหรือเท้าเปียกน้ำ ต้องไม่สัมผัสอุปกรณ์ไฟฟ้า เปิด - ปิดสะพานไฟ หรือเสียบปลั๊ก หรือเปิดปิดสวิตช์ใด ๆ ทั้งสิ้น ให้ท่านใช้ไขควงตรวจสอบไฟฟ้าแตะบริเวณที่เป็นโลหะต่าง ๆ เพื่อทดสอบว่ายังมีไฟฟ้าไหลอยู่หรือไม่ จากนั้นให้ไปที่สะพานไฟฟ้าหลักหรือคัตเอาต์หลักเพื่อตรวจสอบว่าได้ปิดสวิตช์สะพานไฟฟ้าหลักออกแล้วอย่างแน่นอน

เมื่อแน่ใจแล้วว่าระบบไฟฟ้าทั้งหมดปิดไปหมดแล้วจึงเริ่มดำเนินการแก้ไขระบบอื่น ๆ และทำความสะอาดบ้านต่อไป แต่ให้ระวังถ้าต้องเดินบนพื้นกระเบื้องหรือแผ่นหินขัดมันที่เปียกน้ำเพราะอาจหกล้มได้ ในระหว่างทำความสะอาดถ้าต้องรื้อของตามซอกต่าง ๆ ให้ระวังสัตว์อันตรายที่อาจจะซ่อนตัวในตามหลืบเหล่านั้นพุ่งออกมาทำร้ายเราได้ ดังนั้น ทุกครั้งที่จะรื้อค้นของตามซอกหรือมุมให้หาไม้ยาวๆ เขี่ยหรือเคาะก่อน และใช้ไฟฉายส่องดูสภาพด้านในก่อนเสมอ เรื่องนี้ให้ปฏิบัติทั้งบริเวณบ้านที่ถูกน้ำท่วมและส่วนของบ้านที่ไม่ถูกน้ำท่วมด้วย

electrical-panel-electric-meter-circuit-breakers


การจัดการ “ระบบไฟฟ้า” หลังบ้านน้ำท่วม

สะพานไฟฟ้าหลัก

สะพานไฟฟ้าหลักหรือคัตเอาต์หลักของบ้านนั้น ถ้าน้ำท่วมสูงถึงจุดนี้ถือว่าอันตรายมาก แนะนำว่าให้ติดต่อไปที่การไฟฟ้านครหลวงหรือการไฟฟ้าภูมิภาคหรือช่างไฟฟ้าที่มีความสามารถเข้ามาตรวจสอบระบบ เพราะมีโอกาสมากที่ต้องเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าของสะพานไฟฟ้าหลักทั้งหมด ทั้งนี้อาจถือโอกาสนี้เปลี่ยนตำแหน่งสะพานไฟฟ้าหลักไปไว้ที่ชั้นบนของบ้านหรือยกขึ้นให้สูงที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งแยกวงจรไฟฟ้าของบ้านชั้นล่างและชั้นบนออกจากกันในคราวเดียวกัน เพื่อความปลอดภัยจากไฟดูดมากยิ่งขึ้น แนะนำให้ติดตั้งเบรกเกอร์ตัดไฟรั่วลงดิน หรือ Earth Leak Circuit Breaker (ELCB) ทดแทนเซอร์กิตเบรกเกอร์แบบธรรมดา โดยอาจแยกเป็นวงจรย่อย ๆ หรือติดที่สวิตช์ประธาน (Main Switch)

อุปกรณ์ตัดไฟป้องกันไฟดูด 

อุปกรณ์ตัวนี้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้มีโอกาสเสียหายได้มากจากน้ำท่วม ดังนั้นอาจจะไม่สามารถใช้อุปกรณ์นี้ได้หลังจากที่น้ำลดแล้ว เมื่อได้ตรวจสอบระบบไฟฟ้าอื่น ๆ จนแน่ใจว่าปลอดภัยแล้ว จึงติดต่อที่ผู้ขายอุปกรณ์เหล่านี้ให้ส่งพนักงานมาตรวจสอบแก้ไขและซ่อมแซมต่อไป

สวิตช์และเต้ารับไฟฟ้า 

เมื่อแน่ใจว่าไม่มีกระแสไฟฟ้าในบริเวณนั้นแล้ว ให้ถอดหน้ากากของสวิตช์และเต้ารับไฟฟ้าทั้งหมดที่ถูกน้ำท่วมและในบริเวณใกล้กับที่ระดับน้ำเคยท่วมถึงออกให้หมด ถ้าเป็นสายไฟฟ้าแบบฝังท่อซ่อนในผนังให้เอาท่อพลาสติกเป่าดันให้น้ำด้านในท่อไหลออกจากท่อให้หมด จากนั้นใช้เครื่องเป่าลมเป่าส่วนต่าง ๆ ด้านในให้แห้ง ใช้สเปรย์สารไล่ความชื้น ฉีดตามข้อต่อไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นลำดับ สุดท้ายทิ้งให้แห้งก่อนปิดฝากลับเข้าที่เดิม

ไฟฟ้าแสงสว่าง 

ถ้าน้ำท่วมถึงหลอดไฟฟ้าที่ผนังหรือที่ฝ้าเพดานให้เปิดโคมไฟฟ้า ถอดหลอดไฟฟ้าออก และขันขั้วต่าง ๆ ออกจากผนังและฝ้าเพดานออกให้หมด ดำเนินขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อให้อุปกรณ์แห้งเหมือนที่ดำเนินการกับสวิตช์ ไฟฟ้าและเต้ารับไฟฟ้า

ก่อนการจ่ายไฟฟ้าไปตามวงจรต่าง ๆ ต้องแน่ใจว่าทุกส่วนของระบบแห้งสนิทแล้ว มิฉะนั้นจะเกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรขึ้นได้ หากไม่มั่นใจให้ตามช่างไฟฟ้ามาทำการตรวจวัดค่าความเป็นฉนวนของสายไฟฟ้า โดยควรมีค่าความเป็นฉนวนไม่น้อยกว่า 1 เมกะโอห์ม ที่ 500 โวลต์ (ไฟฟ้ากระแสตรง)

เมื่อเริ่มจ่ายไฟใหม่ ๆ ให้เฝ้าสังเกตว่ามีความร้อน ควัน กลิ่นผิดปกติหรือไม่ หากมีให้ตัดการจ่ายไฟฟ้าทันทีแสดงว่ามีกระแสไฟฟ้าลัดวงจรเกิดขึ้น ไฟฟ้าลัดวงจรนี้จะสะสมความร้อนและกลายเป็นสาเหตุการเกิดไฟไหม้บ้านได้ การมีไฟลัดวงจรน้อย ๆ เซอร์กิตเบรกเกอร์จะไม่ตัดไฟโดยอัตโนมัติ เมื่อเปิดสะพานไฟฟ้าหลักแล้วพบว่าสะพานไฟฟ้าตัดเองอีก หรือมีเสียงผิดปกติ หรือถ้าเปิดระบบแล้วปรากฏว่ามิเตอร์ไฟฟ้าหน้าบ้านยังหมุนอยู่ แสดงว่าในระบบยังมีไฟฟ้ารั่วอยู่ ให้ปิดระบบย่อย ๆ ทีละจุด เพื่อหาว่าวงจรไฟฟ้าจุดใดที่เป็นปัญหา เมื่อพบจุดที่มีปัญหาให้ดำเนินการตรวจสอบซ้ำอีกครั้ง แต่ถึงที่สุดอาจจะต้องใช้ช่างไฟฟ้าที่มีความรู้ความชำนาญหรือติดต่อการไฟฟ้าฯ ให้มาช่วยตรวจสอบอีกครั้ง

บ้านหลังถูกน้ำท่วม


ตรวจสอบ “โครงสร้างบ้าน” หลังน้ำท่วม

การตรวจสอบโครงสร้างของบ้าน นั้นจุดแรกให้ดูบริเวณใต้อาคารว่าดินที่อยู่บริเวณใต้บ้านทรุดตัวหรือไม่ ถ้าดินทรุดตัวจนมองเห็นเสาเข็ม ถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงมากควรปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อหาวิธีแก้ไขต่อไป

จากนั้นให้พิจารณาว่าระดับของพื้นบ้านมีการทรุดตัวเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ นอกจากนั้นพื้นบ้านเกิดการเอียงเพิ่มเติมจากเดิมหรือไม่ ให้สังเกตว่าโครงสร้างในตัวบ้านนั้น มีรอยร้าวในบริเวณใดเพิ่มเติมจากเดิมจากที่เคยเกิดมาก่อนแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะรอยร้าวบริเวณหัวเสาต่อกับคานของอาคาร ถ้าพบรอยร้าวแบบนี้ให้ปรึกษา วิศวกรโครงสร้างเพื่อหาทางแก้ไขต่อไปเช่นเดียวกัน

นอกจากนั้นควรเฝ้าระวังและตรวจสอบหลังจากน้ำท่วมเป็นระยะ ๆ ว่าเหล็กเสริมที่อยู่ภายในโครงสร้าง คอนกรีตเสริมเหล็กนั้นได้รับผลกระทบจากการแช่น้ำหรือไม่ เช่น มีอาการของเหล็กที่ชื้นจนเป็นสนิมระเบิดดันจนคอนกรีตแตกออกมา หรือเกิดคราบสนิมแดงไหลออกมาที่ผิวคอนกรีตหรือไม่ ถ้าเกิดอาการเหล่านี้ต้องรีบปรึกษาวิศวกรโครงสร้างโดยทันที

รั้วพังหลังถูกน้ำท่วม


การตรวจสอบ “โครงสร้างรั้วบ้าน” หลังถูกน้ำท่วม

ให้ตรวจสอบว่ารั้วยังตั้งฉากเหมือนเดิมหรือไม่โดยใช้สายตาเล็ง ถ้าพบว่ามีอาการเอียงเล็กน้อยให้หาไม้ค้ำไว้ ก่อนแล้วหาโอกาสซ่อมแซมต่อไปเมื่อมีโอกาส แต่ถ้าเอียงมากต้องรีบซ่อมแซมทันทีก่อนที่รั้วจะล้มทำให้เกิดความเสียหาย หากยังไม่มีเวลาทำใช้ไม้ค้ำยันไว้โดยต้องแน่ใจว่าที่ค้ำแข็งแรงเพียงพอ

ถ้าบริเวณใต้รั้วหรือที่เรียกว่าคานคอดินนั้นมีโพรงดินให้ปรึกษาวิศวกรโครงสร้างเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาต่อไป ประตูรั้วที่มักทำด้วยเหล็กนั้นต้องเป่าลมให้แห้งที่สุดเท่าที่ทำได้ โดยเฉพาะรั้วที่เป็นเหล็กกล่องและท่อเหล็ก ต้องแน่ใจว่าไม่มีน้ำขังอยู่ด้านในของท่อหรือกล่องเหล็กนั้น ให้ใช้ไขควงเหล็กเคาะที่ท่อนเหล็กเหล่านั้นเพื่อฟัง เสียงว่าภายในนั้นยังมีน้ำอยู่หรือไม่ ถ้าพบว่ามีเสียงน้ำให้เจาะรูที่บริเวณด้านล่างที่ต่ำสุดให้น้ำภายในท่อหรือ กล่องเหล่านั้นไหลออกมาให้หมด

ตรวจดูอาการผุกร่อนและจุดที่เป็นสนิมต่าง ๆ จากนั้นให้ขัดจุดต่าง ๆ ที่เป็นสนิม ทาสีกันสนิมและทาสีทับชั้น สุดท้าย ถ้าบานพับประตูหรือรางล้อเลื่อนเสียหายให้ทำการเปลี่ยน ในระหว่างการเปลี่ยนอุปกรณ์ประตูรั้ว ต้องระวังการล้มของประตู

ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม


การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม

การทำความสะอาดบ้านหลังน้ำลดนั้นต้องใช้เวลาและความอดทนมากเพราะเราต้องทำความสะอาดบ้านทั้งหลังไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ที่น้ำไม่ท่วม เรื่องสำคัญที่สุดในการทำความสะอาดคือต้องฆ่าเชื้อโรคและเชื้อราที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เชื้อโรคเหล่านี้ถ้าสัมผัสหรือหายใจเข้าไปจะเป็นอันตรายกับสุขภาพของท่านและครอบครัวในระยะยาว ซึ่งการทำความสะอาดนั้นให้คำนึงถึงการป้องกันตนเองก่อน ให้ใส่ถุงมือยาง ใส่รองเท้าบูท ใส่ผ้าปิดปากปิด จมูกในระหว่างการทำงาน ระหว่างทำความสะอาดให้เปิดประตูหน้าต่างให้อากาศระบายและถ่ายเทมากที่สุด

ถ้าตรวจสอบระบบไฟฟ้าต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้วให้เปิดพัดลมเพื่อช่วยให้อากาศหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ห้าม เปิดเครื่องปรับอากาศ เพราะการปรับอากาศเป็นระบบปิดทำให้เชื้อโรคต่าง ๆ ยังคงหมุนเวียนอยู่ภายในห้อง ทำให้ห้องนั้นเป็นที่สะสมเชื้อโรค ก่อนทำความสะอาดให้ขนสิ่งของต่าง ๆ ภายในบ้านออกนอกบ้านให้มากที่สุด ให้เริ่มทำความสะอาดจากชั้นบน ไล่ลงมาชั้นล่าง จากด้านในออกมาด้านนอก โคลนที่มากับน้ำให้ใช้พลั่วตักดินตักออก อย่าใช้น้ำฉีดเพราะเปลืองน้ำ จากนั้นจึงราดด้วยน้ำแล้วใช้ไม้กวาดทางมะพร้าวกวาดสิ่งสกปรกออกไป แล้วจึงใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงหรือสายยางฉีดน้ำล้างเศษโคลนที่เหลืออยู่ออกจากพื้นและผนังแล้วจึงกวาดน้ำออกไปให้หมด ถ้ามีสิ่งของที่มีเชื้อราเกิดขึ้นแล้วให้นำของนั้นออกไปนอกบ้านไปทำความสะอาดในที่โล่ง เพื่อไม่ให้สปอร์ขอ เชื้อรากระจายตัวอยู่ในบ้าน ส่วนเชื้อราบนพื้น ผนัง ฝ้าเพดาน หรือเฟอร์นิเจอร์ ให้ขัดพร้อม ๆ กับใช้เครื่องดูดฝุ่นดูดฝุ่นที่มาจากการขัด อย่าให้เชื้อฟุ้งกระจาย

จากนั้นล้างหรือเช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ ในระหว่างการทำความสะอาดอย่าลืมใส่เครื่องป้องกัน เช่น ถุงมือยาง หน้ากาก ผ้าปิดปากปิดจมูก รองเท้าบูท และเมื่อทำความสะอาดเสร็จในแต่ละครั้งให้อาบน้ำเปลี่ยนชุดก่อนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ การทำความสะอาดพื้นถ้าวัสดุบุผิวหลุดล่อนและต้องปูพื้นใหม่อยู่แล้ว ให้รื้อวัสดุเหล่านั้นออกให้หมดก่อน เพื่อให้พื้นคอนกรีตด้านล่างแห้งง่ายขึ้น ซึ่งคงต้องใช้เวลากว่าจะแห้งสนิทนานกว่าหนึ่งเดือน เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศถ่ายเท หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วให้เปิดพัดลมเป่าเพื่อให้พื้นแห้งได้เร็วยิ่งขึ้น

ทำความสะอาดบ้านหลังน้ำท่วม

ขัดถูพื้นด้วยน้ำยาทำความสะอาดหรือผงซักฟอกให้ทั่วบริเวณแล้วจึงราดด้วยน้ำร้อนเดือด ๆ ถ้าทำได้ จากนั้นใช้คลอรีนผสมน้ำในอัตราส่วน ร้อยละ 0.1 หรือคลอรีน 1 ซีซีต่อน้ำหนึ่งลิตร หรือใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคที่มีจำหน่ายทั่วไปฉีดพ่นให้ทั่วบริเวณ โดยต้องอ่านฉลากวิธีใช้ให้ละเอียดและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด

สำหรับเครื่องใช้ในครัว เช่น เครื่องแก้ว เครื่องกระเบื้อง พลาสติก เมลามีน ให้แช่ในน้ำยาล้างจานผสมกับน้ำเดือดไว้อย่างน้อย 10 นาที เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่าง ๆ แล้วผึ่งแดดให้แห้งจากนั้นจึงล้างด้วยน้ำยาล้างจานอีกครั้งหนึ่ง ตากให้แห้งก่อนเก็บใส่ตู้ต่อไป

เครื่องเงิน เครื่องโลหะต่าง ๆ เช่น ช้อน ส้อม มีด หม้อ กระทะ ห้ามใช้น้ำยาที่มีฤทธิ์เป็นกรดมาล้างทำความสะอาดเพราะจะทำให้สีเปลี่ยน ให้นำไปต้มในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาทีเพื่อฆ่าเชื้อโรค แล้วไปแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อโรค ชนิดที่ไม่เป็นอันตรายกับสุขภาพอีกหนึ่งชั่วโมงก่อนที่จะนำไปล้างด้วย น้ำยาล้างจานต่อไป ทั้งนี้ห้ามใช้โซดาไฟในการทำความสะอาด เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ส่วนวัสดุที่เป็นผ้า เช่น เสื้อผ้าให้ซักด้วยน้ำร้อนแล้วตากแดดให้แห้ง

ช่างกำลังซ่อมท่อ


จัดการระบบสุขาภิบาลบ้าน หลังเกิดน้ำท่วม

ท่อระบายน้ำในบ้าน 

ดำเนินการเหมือนระบบท่อส้วม โดยเริ่มจากเปิดฝาปิดช่องระบายน้ำที่พื้นออกก่อน แล้วลองราดน้ำลงไปตามจุดระบายน้ำทุกจุดดูว่าน้ำไหลหรือไม่ ถ้าน้ำไม่ไหลใช้ที่ปั๊ม ถ้าไม่ไหลอีกตามช่างมาแก้ไขต่อไป

ระบบประปา 

เริ่มต้นจากสูบหรือระบายน้ำในถังเก็บน้ำใช้ออกให้หมดอย่าเสียดายน้ำ ล้างบ่อน้ำใช้หรือถังน้ำใช้ให้สะอาด แล้วรองน้ำใหม่ลงในถังเพื่อให้พร้อมใช้งาน จากนั้นเปิดจุดน้ำประปาทุกจุดเพื่อให้น้ำระบายออกจากท่อให้หมดเพื่อให้ท่อสะอาด

รางระบายน้ำรอบบ้าน 

ให้เริ่มจากทำความสะอาดระบบระบายน้ำภายนอกก่อน โดยไล่จากจุดต่อระหว่างท่อระบายน้ำทิ้งของบ้านที่ ต่อกับท่อน้ำทิ้งภายนอก ให้โกยสิ่งสกปรกต่าง ๆ ออกเพื่อให้น้ำไหลได้ จากนั้นให้เปิดฝาท่อระบายน้ำบริเวณ บ้านทุกจุดที่มี แล้วตักดินโคลนและเศษขยะออกให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้โดยใส่ในถุงขยะนำไปทิ้งต่อไป อย่า พยายามดันขยะออกทางน้ำสาธารณะเพราะจะทำให้ท่อระบายน้ำสาธารณะตันและทำให้น้ำไม่มีทางระบาย ก่อปัญหาให้กับสิ่งแวดล้อมและเพื่อนบ้าน

ถ้าท่อระบายน้ำบริเวณบ้านตัน ให้ใช้ไม้ไผ่ยาว ๆ ทะลวงท่อ ไม่แนะนำให้ใช้น้ำฉีดเพราะเปลืองน้ำและมักไม่ค่อยได้ผล เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้วให้ตรวจดูว่าน้ำไหลได้ดีหรือไม่

ส้วม 

ให้ตรวจสอบว่าท่อส้วมตันหรือไม่ โดยกดน้ำที่โถส้วมหลาย ๆ ครั้ง ถ้ากดน้ำไม่ลงให้ลองใช้ที่ปั๊มส้วมลองกดอีกหลาย ๆ ครั้ง ถ้าน้ำยังไม่ไหลลงไปอีก ให้ลองใช้ที่ฉีดน้ำแรงดันสูงดันสิ่งสกปรกออก แต่ถ้ายังไม่ไหลอีกตามช่างมาช่วยทะลวงท่อด้วยงูเหล็กต่อไป

old-abandoned-house-with-rotted-door


ทริกจัดการ ประตู – หน้าต่าง หลังบ้านน้ำท่วม

ปัญหาที่เจอบ่อยคือ บานประตู - หน้าต่างตกและบวมเนื่องจากแช่น้ำเป็นเวลานาน ให้รอจนกว่าความชื้นระเหยออกให้หมดถ้าอาการยังไม่หาย เปลี่ยนประตูหน้าต่างที่ชำรุดเหล่านั้น อุปกรณ์ของประตูหน้าต่างเช่น บานพับ ลูกบิด กุญแจ ที่ทำด้วยโลหะให้เช็ดให้แห้งสนิท จากนั้นพ่นด้วยสเปรย์ไล่ความชื้นเพื่อหล่อลื่นและกำจัดสนิม ให้ลองเสียบและไขกุญแจทุกดอกเพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ เคลื่อนไหว เป็นการทำให้น้ำยาหล่อลื่นเข้าได้อย่างทั่วถึง ชิ้นส่วนใดเป็นสนิมให้ขัดออกและทาสีกันสนิมทับ ส่วนเหล็กดัดนั้นให้ดูว่าส่วนใดมีสนิมให้ขัดออกให้เรียบร้อย เช็ดให้แห้ง แล้วทาสีทับกันสนิมทับ ส่วนประตูหน้าต่างไม้นั้นต้องดูว่าเมื่อแห้งแล้ว บิดตัวมากเพียงใด ถ้าบิดตัวมากจนปิดเปิดไม่ได้อาจต้องเปลี่ยนประตู – หน้าต่างใหม่

ทำความสะอาดพื้นบ้านหลังน้ำท่วม


การดูแล “พื้นบ้าน” หลังน้ำท่วม

พื้นหินธรรมชาติ 

ถ้าเป็นพื้นหินธรรมชาติอาจจะมีปัญหามากที่สุด เพราะน้ำท่วมจะทำให้พื้นเป็นรอยคราบน้ำที่กำจัดไม่ได้ คงต้องปล่อยเลยตามเลย หากทำใจไม่ได้คงต้องรื้อหินแผ่นที่เสียหายแล้วปูหินแผ่นใหม่แทน แต่ก่อนปูต้องแน่ใจว่าพื้นคอนกรีตด้านล่างสนิทแล้วจริง ๆ ก่อนเสมอ

พื้นไม้ปาร์เก (Parquet), พื้นไม้จริง 

สำหรับพื้นไม้ปาร์เก ที่หลุดออกให้นำไปผึ่งลมอย่าตากแดด เมื่อไม้แห้งแล้วจึงนำมาประกอบกลับด้วยกาวปูไม้อีกครั้ง ส่วนไม้ปาร์เกที่ติดอยู่แต่มีอาการปูดบวมให้เลาะไม้นั้น ๆ ออกให้หมดโดยเฉพาะเศษกาวของเดิมโดย ต้องขูดจนถึงเนื้อพื้นปูน ถ้าจะปูไม้กลับเข้าไปใหม่ต้องรอให้พื้นแห้งสนิทจริง ๆ ก่อนซึ่งน่าจะกินเวลามากกว่าหนึ่งเดือนเลยทีเดียว

สำหรับพื้นไม้จริง ตรวจสอบว่าไม้แผ่นใดโก่งงอให้ถอดไม้นั้นออก เพื่อเปิดโอกาสให้ใต้พื้นนั้นมีช่องระบายความชื้นออกได้ง่ายขึ้น เมื่อพื้นข้างใต้นั้นแห้งสนิทแล้วจึงติดตั้งพื้นไม้ใหม่ใกล้เข้าไปแทนพื้นไม้ที่เสียหายนั้น ก่อนที่จะทาด้วยน้ำยาย้อมไม้หรือน้ำยาเคลือบไม้ตามแบบเดิมให้ขัดผิวไม้นั้นออกให้หมดก่อนเพื่อให้สีของไม้สม่ำเสมอหลังจากทำผิวไม้แล้ว

พื้นไม้เทียม 

สำหรับพื้นที่ปูด้วยไม้เทียมที่ถูกน้ำท่วมนั้นโอกาสที่จะเสียหายจนซ่อมแซมไม่ได้ นั้นมีมากกว่าวัสดุปูพื้นชนิดอื่น ๆ เพราะตัวไม้ด้านหลังเป็นแผ่นไม้อัด ซึ่งไม่ทนน้ำมักจะบวมเมื่อถูกความชื้น ให้รื้อแผ่นพื้นทั้งหมดออกไปก่อนเพื่อให้ความชื้นที่พื้นคอนกรีตด้านล่างระเหยออกไปได้หมด จากนั้นจึงปูพื้นลงไปใหม่ แต่ถ้าแผ่นพื้นเดิมเสียหายอาจจะต้องสั่งแผ่นพื้นใหม่มาทดแทนของเดิม หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุปูพื้นชนิดอื่น ๆ แทน

พื้นกระเบื้อง 

พื้นกระเบื้องเซรามิกที่แช่น้ำนาน ๆ ถ้าเป็นเซรามิกที่มีคุณภาพดีมักไม่ค่อยพบปัญหามากนัก แต่ปัญหาส่วน ใหญ่นั้นจะเกิดที่ร่องยาแนวกระเบื้องทั้งบริเวณพื้นและผนังที่สกปรกเนื่องจากเศษดินโคลนที่มากับน้ำท่วม แนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเองในเบื้องต้นคือ ควรทำความสะอาดทันทีหลังน้ำลด ถ้าปล่อยให้พื้นแห้งจะทำความสะอาดยาก ให้เริ่มจากกวาดขยะและทำความสะอาดด้วยไม้กวาดทางมะพร้าวและขัดด้วยแปรงจากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วตรวจสอบบริเวณยาแนวที่มีคราบสกปรกฝังแน่น รวมทั้งความเสียหายของกระเบื้องและยาแนวที่หลุดล่อน

การจัดการคราบสกปรกที่ยาแนวกระเบื้องให้ลาดด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อน ๆ บริเวณ คราบดำ โดยแบ่งการทำความสะอาดเป็นห้อง ๆ ควรสวมถุงมือยางและใส่หน้ากากหรือผ้าปิดจมูกเพื่อป้องกัน การสัมผัสและสูดดมน้ำยาทำความสะอาดโดยตรงและระวังน้ำยากระเด็นเข้าตาหรือปาก

ทิ้งให้น้ำยาทำปฏิกิริยากับคราบสกปรกประมาณ 5 นาที จากนั้นใช้แปรงพลาสติกขัดทำความสะอาดที่บริเวณนั้น โดยให้ออกแรงกดตอนขัดเพื่อให้คราบสกปรกหลุดออก ราดด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ใช้พัดลมเป่าบริเวณทำความสะอาดให้แห้ง ถ้าคราบสกปรกไม่ออกจะต้องขูดยาแนวนั้นทิ้งและลงยาแนวใหม่

การซ่อมยาแนวที่มีคราบดำหรือหลุดล่อน ให้ขูดร่องยาแนวเก่าด้วยเหล็กขูดร่องยาแนวหรือไขควง ล้างทำ ความสะอาดยาแนวเดิมให้สะอาดแล้วเช็ดด้วยผ้าแห้ง ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง ผสมปูนยาแนวโดยดูจากคำแนะนำ ของผู้ผลิตที่แสดงไว้ที่หีบห่อ ผสมปูนยาแนวสำเร็จรูปในแก้วหรือถ้วยพลาสติกที่ใช้แล้วโดยทำตามคำแนะนำ ของผู้ผลิตที่แสดงอยู่ข้างถุง

ยาแนวด้วยนิ้วโดยกดให้ปูนยาแนวเต็มร่อง จากนั้นใช้นิ้วปาดยาแนวให้เรียบ เช็ดทำความสะอาดด้วยฟองน้ำ ทิ้งไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ใช้ฟองน้ำชุบน้ำให้หมาด ๆ แล้วเช็ดร่องยาแนวให้เรียบ ทำความสะอาดคราบปูนยาแนวที่เลอะบริเวณผิวกระเบื้องด้วยผ้าแห้งเช็ดอีกครั้ง ต้องทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงก่อนใช้งานพื้นที่นั้น

การซ่อนกระเบื้องแตกร้าวและหลุดล่อน ให้รื้อกระเบื้องที่แตกหรือร้าวออก จากนั้นสกัดพื้นผิวซีเมนต์ที่เรารื้อ กระเบื้องนั้นออก สกัดปูนออกให้เท่ากับความหนาของกระเบื้องรวมกับความหนาของกาวซีเมนต์ซึ่งจะหนา ประมาณ 1.5 เซนติเมตร และทำความสะอาดเศษซีเมนต์ออกให้หมด ผสมกาวซีเมนต์สำเร็จรูปที่ใช้ปูกระเบื้องโดยเฉพาะ ใช้เกรียงตักกาวซีเมนต์ทาลงบริเวณผิวซีเมนต์ที่สกัดไว้ นำกระเบื้องที่ลวดลายและสีเดียวกันหรือใกล้เคียงกับกระเบื้องที่เสียหายมาติดบนกาวซีเมนต์ เคาะให้แน่นด้วยด้ามเกรียงจนระดับกระเบื้องเรียบเท่ากันกับกระเบื้องเดิม โดยต้องจัดให้ร่องยาแนวกระเบื้องเท่ากันทุกด้าน อาจใช้เศษกระดาษแข็งคั่นเป็นแนวไว้

ปาดกาวซีเมนต์ที่ล้นจากร่องยาแนวโดยใช้เกรียงไม้หรือไม้ชิ้นเล็ก ๆ ทิ้งให้ปูนแห้ง 12 ชั่วโมง ก่อนใช้งาน จากนั้นทำการยาแนวกระเบื้องตามวิธีที่แสดงไว้ก่อนหน้านี้ การซ่อมแซมกระเบื้องและร่องยาแนวให้ระวังขอบกระเบื้องบาดมือ เมื่อใช้ปูนกาวซีเมนต์และปูนยาแนวเสร็จ ให้ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งอย่าปล่อยทิ้งไว้ ส่วนน้ำยาทำความสะอาดถ้าถูกผิวหนังอาจเกิดการระคายเคือง ต้องล้างออกทุกครั้งที่สัมผัสโดยตรง

พื้นพรม 

พื้นพรมต้องลอกออกให้หมดเพื่อส่งไปซักตากแดดให้แห้ง ก่อนนำกลับมาปูใหม่โดยต้องตรวจสอบว่าพื้นคอนกรีตแห้งสนิทก่อน แต่ถ้าพื้นที่ปูพรมจมอยู่ใต้น้ำท่วมที่เป็นน้ำเสีย แนะนำว่าควรทิ้งไปไม่ควรเสียดายเพราะพรมที่ชื้นนั้นเป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี น่าจะถือโอกาสนี้เปลี่ยนวัสดุปูพื้นเป็นอย่างอื่น ๆ เช่น กระเบื้องเคลือบ หรือวัสดุที่ทนความชื้นได้ดี จะส่งผลดีในระยะยาว

สิ่งของโดนน้ำท่วม


การดูแล “ผนังบ้าน” หลังเกิดน้ำท่วม

ผนังก่ออิฐ 

ผนังอาคารส่วนที่เป็นผนังก่ออิฐหรือคอนกรีตบล็อกฉาบปูนทาสี แนะนำว่าให้ทำความสะอาดขัดด้วยแปรงพลาสติกไม่ใช้แปรงลวดแล้วทิ้งไว้โดยยังไม่ต้องทาสี เป็นระยะเวลาอย่างน้อยหนึ่งถึงสองเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าผนังนั้นแห้งสนิทจริง ๆ การทาสีก่อนเวลาความชื้นในผนังไม่สามารถระเหยออกทำให้ความชื้นค้างอยู่ภายในและจะก่อปัญหาได้มากในภายหลัง

ผนังเบา 

ผนังเบาพวกยิปซัมบอร์ด ให้กรีดส่วนที่แช่น้ำและบวมน้ำออกให้หมด ซ่อมแซมด้วยแผ่นยิปซัมบอร์ดแผ่นใหม่ แต่ก่อนซ่อมต้องแน่ใจว่าโครงเคร่าภายในแห้งสนิทดีแล้ว สำหรับผนังเบาอื่น ๆ เช่น แผ่นซีเมนต์บอร์ด หรือกระเบื้องแผ่นเรียบ ควรเจาะรูให้น้ำที่ขังอยู่ภายในไหลออกจากช่องด้านในให้หมด ถ้าสามารถเปิดผนังออกเพื่อให้โครงภายในระบายน้ำออกได้จะทำให้โครงภายในผนังแห้งเร็วยิ่งขึ้น

Wallpaper 

สำหรับผนังบุวอลล์เปเปอร์ (Wallpaper) ลอกส่วนที่โดนน้ำท่วมออก เพื่อให้ความชื้นในผนังระเหยออกได้สะดวก เมื่อแห้งแล้วจึงนำวอลล์เปเปอร์แผ่นใหม่มาปิดทับให้สวยงามต่อไป ถ้าผนังโดนความชื้นมาก ๆ ต้องลอกวอลล์เปเปอร์ออกให้หมดเพื่อให้ผนังที่ชื้นสามารถระเหยออกได้ดี โดยต้องรอให้ผนังแห้งจริง ๆ อย่างน้อย 1 อาทิตย์ แล้วจึงจะปิดวอลล์เปเปอร์ใหม่ลงไป

ผ้าม่าน 

สำหรับผ้าม่านต้องส่งซักทำความสะอาดให้เรียบร้อย แต่ผ้าม่านส่วนใหญ่หลังจากซักแล้วมักจะไม่ได้รูปทรง ของเดิม คุณต้องตัดสินใจว่าจะส่งซักหรือซื้อใหม่อย่างไหนจะคุ้มค่ากว่ากัน

ฝ้าเพดาน 

ฝ้าเพดานที่ถูกน้ำท่วมถึง ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซัมบอร์ด ต้องรื้อส่วนที่ชื้นออกทั้งหมดแล้วทำใหม่ เพราะซ่อมแซมไม่ได้ แต่ถ้าเป็นฝ้าเพดานท้องพื้นคอนกรีตให้ทำความสะอาดและปล่อยให้แห้งจึงค่อยทาสีในภายหลังต่อไป ส่วนฝ้าแผ่นโลหะและโครงโลหะให้เช็ดทำความสะอาดให้แห้ง ขัดสนิมออกด้วยกระดาษทรายแล้วจึงทาสีทับ สำหรับโครงฝ้าเพดานที่เป็นไม้ ต้องตรวจสอบว่าน้ำทำให้โครงแอ่นหรือไม่ ต้องปรับระดับแก้ไขก่อนจึงจะติดตั้งแผ่นฝ้าแผ่นใหม่

เครื่องใช้ไฟฟ้า


การตรวจสอบ “เครื่องใช้ไฟฟ้า” หลังถูกน้ำท่วม

เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ที่จมน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำท่วมที่ความชื้นอาจจะซึมเข้าไปในอุปกรณ์ต่าง ๆ ต้องตรวจสอบก่อน นำไปใช้งานเพราะอาจเกิดอันตรายจากไฟฟ้าลัดวงจร การทำความสะอาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายนอกตัวเครื่อง นั้นทำได้เองไม่ว่าจะเป็นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น เครื่องเสียง วิทยุ โทรทัศน์ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นระบบภายในจำเป็นต้องให้ช่างมาตรวจเช็กดูข้างในก่อนใช้งาน มิฉะนั้นอาจเป็นอันตรายร้ายแรงได้

กองเฟอร์นิเจอร์


ทริกดูแล “เฟอร์นิเจอร์” หลังจากน้ำท่วม

เฟอร์นิเจอร์ติดตายที่เรียกว่าบิลต์อิน (Built-in) ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น ตู้ หรือเคาน์เตอร์ ให้ตรวจสอบว่าโครงด้านในยังมีสภาพดีหรือไม่ ที่สำคัญคือเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้มักมีซอกมุมภายในที่มองไม่เห็นจากภายนอก ให้ลองใช้ด้ามไขควงเคาะตามฐานของตู้และเคาน์เตอร์ฟังว่ามีเสียงสะท้อนที่แสดงว่ามีน้ำอยู่ภายในหรือไม่ อาจจะต้องเจาะรูที่บริเวณใต้ฐานตู้หรือเคาน์เตอร์เหล่านี้เป็นระยะ ๆ เพื่อให้น้ำและความชื้นที่ขังอยู่ไหลหรือระเหยออก ตู้และเคาน์เตอร์ครัวบิลต์อิน (Built-in) สำเร็จรูปจะสามารถถอดแผ่นที่บริเวณฐานตู้หรือฐานเคาน์เตอร์ด้านล่างออกได้ เพราะส่วนใหญ่ยึดด้วยระบบตัวหนีบ ให้ถอดแผ่นฐานเหล่านี้ออกเพื่อตรวจสอบและทำความสะอาด ด้านใน รวมทั้งเพื่อให้น้ำและความชื้นที่อยู่ด้านในไหลและระเหยออกได้สะดวก

จากนั้นให้ทำความสะอาดโดยขัดล้างสิ่งสกปรกด้วยน้ำยาล้างจาน ปล่อยให้แห้งแล้วเช็ดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เริ่มจากผิวบนของเคาน์เตอร์ก่อนส่วนอื่น การทำความสะอาดเฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน (Built-in) นี้ต้องทำไปพร้อม ๆ กับการทำความสะอาดพื้น ผนัง กำแพงภายในตัวบ้าน จากนั้นต้องเปิดบานตู้ทั้งหมดไว้จนกว่าเฟอร์นิเจอร์นั้นจะแห้งทั้งด้านในและด้านนอกจึงนำสิ่งของเครื่องใช้เข้าไปเก็บในตู้เหล่านั้น

ส่วนเฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวให้นำออกมาทำความสะอาดในที่โล่ง โดยทำความสะอาดแบบเดียวกันกับ เฟอร์นิเจอร์บิลต์อิน โดยให้ตากและผึ่งลมให้แห้งสนิทก่อนนำกลับมาใช้งานต่อไป เฟอร์นิเจอร์แบบลอยตัวเช่น โต๊ะ ตู้ เตียง ที่ทำจากไม้ประดิษฐ์ เช่น ปาร์ติเกิลบอร์ด (Particle Board) ไม้เนื้ออ่อน ไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไม่คุ้มถ้าจะซ่อมแซม เฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้จริง เช่น ไม้เนื้อแข็ง หรือไม้สัก พอจะซ่อมแซมได้ไม่ยากนัก โดยให้นำเฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นออกมาตากลมและเช็ดทำความสะอาดที่ด้านนอกบ้าน เพื่อให้ความชื้นที่สะสมอยู่ออกไปโดยเร็ว

ห้ามนำเฟอร์นิเจอร์ที่ทำด้วยไม้ไปตากแดดเพราะจะทำให้ไม้บิดงอ เมื่อไม้แห้งสนิทแล้วลงสีหรือน้ำยาย้อมไม้ ต่อไปตามรูปแบบเดิม เฟอร์นิเจอร์ไม้บางชิ้นอาจขึ้นเชื้อราในภายหลังต้องคอยดูแลโดยอาจจะต้องทำความ สะอาดต่อไปอีกระยะหนึ่ง ส่วนเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากเหล็กหรือโลหะให้ตากลมจนกว่าจะแห้งสนิทแล้วขัดส่วนที่เป็นสนิมหรือสีเสียหาย แล้วทาสีในบริเวณ แต่ถ้าเป็นเฟอร์นิเจอร์ประเภทหุ้มด้วยหนังหรือหุ้มด้วยผ้าที่บุฟองน้ำหรือนุ่นด้านใน ให้ตรวจดูว่าโครงภายใน ยังมีสภาพที่ดีอยู่หรือไม่ ถ้าโครงต่าง ๆ ยังดีอยู่ให้นำไปหุ้มผ้าหรือหนังและใส่ฟองน้ำหรือนุ่นใหม่จึงนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนสิ่งของประเภทผ้ายัดนุ่นต่าง ๆ เช่น ที่นอน ฟูก หมอน หรือของเล่นเด็กยัดนุ่น ตุ๊กตายัดนุ่น ฯลฯ เมื่อแช่อยู่ในน้ำท่วมแล้ว แนะนำให้ทิ้งไปไม่คุ้มค่าความเสี่ยงในการนำกลับมาใช้งาน

old-abandoned-house-plants


การดูแล “ต้นไม้” หลังน้ำท่วม

เพื่อให้สวนและต้นไม้ที่ถูกแช่น้ำเป็นเวลานานฟื้นตัวได้เร็วขึ้น แนะนำให้ขุดหลุมขนาดประมาณ 1 x 1 เมตร ลึกอย่างน้อยครึ่งเมตร ที่บริเวณต่ำที่สุดของสวน แล้วสูบน้ำหรือตักน้ำออกจนกว่าจะหมด เพื่อให้ระดับน้ำใต้ดินลดลงให้เร็วที่สุด ทำให้ดินโดยรอบแห้งเร็วยิ่งขึ้น ต้นไม้ที่เอียงให้นำไม้มาค้ำเพื่อไม่ให้ต้นไม้ล้ม อย่าอัดดินบริเวณรอบต้นไม้ ต้องปล่อยให้น้ำระเหยออกจากดินให้เร็วที่สุด

ตัดแต่งต้นไม้ให้เล็กลงเท่าที่ทำได้ เพื่อให้ต้นไม้ฟื้นตัวให้เร็วขึ้น ลดภาระของรากในการรับน้ำหนักลำต้น ห้ามให้ปุ๋ยต้นไม้ในช่วงนี้ รอจนกว่าต้นไม้นั้นจะฟื้นตัวได้จริง ถ้ารอจนแน่ใจว่าต้นไม้ไม่ฟื้นแล้วควรขุดต้นไม้นั้น ทิ้งไปเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุต้นไม้ล้มในภายหลัง


แหล่งข้อมูลอ้างอิง : “คู่มือจัดการบ้านหลังน้ำลด” จัดทำโดย สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ สมาคมนักออกแบบเรขศิลป์ไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

แท็กที่เกี่ยวข้อง

น้ำท่วมน้ำลดน้ำท่วมเชียงรายน้ำท่วมบ้านThai PBS
จิราภพ ทวีสูงส่ง
ผู้เขียน: จิราภพ ทวีสูงส่ง

เจ้าหน้าที่เนื้อหาดิจิทัล สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส / Specialist Contents / Journalist / Writer / Creative Copywriter / Proofreader Lover : (jiraphob.thawisoonsong@gmail.com)

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด