ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

รู้จัก "เจ็ตสกี" จากกีฬาสู่พาหนะช่วยประชาชน


Lifestyle

11 ก.ย. 67

สันทัด โพธิสา

Logo Thai PBS
แชร์

รู้จัก "เจ็ตสกี" จากกีฬาสู่พาหนะช่วยประชาชน

https://www.thaipbs.or.th/now/content/1583

รู้จัก "เจ็ตสกี" จากกีฬาสู่พาหนะช่วยประชาชน
บริการเสริมจาก Thai PBS AI

 

เหตุการณ์น้ำท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังอยู่ในความสนใจของผู้คนทั้งประเศ โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่ประชาชนติดอยู่ในบ้านที่ถูกน้ำป่าไหลเข้าท่วมสูง 

และหนึ่งในการช่วยเหลือที่ได้เห็นจากภาพข่าว นั่นคือ การใช้เจ็ตสกี ขี่เข้าไปนำประชาชนที่เดือดร้อน ออกจากพื้นที่น้ำท่วมโดยไว 

Thai PBS ชวนไปทำความรู้จัก คุณสมบัติของพาหนะลำนี้ และที่มาที่ไป จากกีฬาสู่การช่วยเหลือประชาชนนั้น เป็นมาอย่างไร 

รู้จักพาหนะที่ชื่อ “เจ็ตสกี”

เจ็ตสกี (Jet Ski) คือยานพาหนะที่ขับเคลื่อนบนผิวน้ำ เดิมเรียกว่า สกู๊ตเตอร์น้ำ (Water Scooter) ได้รับการพัฒนาขึ้นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรและยุโรปช่วงกลางยุค 1950 ก่อนที่ในปี 1972 บริษัทผลิตเรือส่วนบุคคลสัญชาติญี่ปุ่น นามว่า คาวาซากิ จะเปิดตัวเรือที่สามารถวิ่งบนผิวน้ำด้วยเครื่องยนต์ และใช้ชื่อเรียกเฉพาะว่า “คาวาซากิ เจ็ตสกี” และประสบความสำเร็จในยอดขายอย่างมาก โดยเฉพาะในอเมริกา จนต่อมา กลายเป็นชื่อเรียกติดปากว่า “เจ็ตสกี” 

แรกเริ่มเดิมที “เจ็ตสกี” ไว้ใช้แข่งขัน

จากการผลิตขึ้นเพื่อการขับขี่สันทนาการ ต่อมาในช่วงปี 1980–1990 เจ็ตสกีถูกนำไปใช้เป็นเกมกีฬา และได้รับความนิยมอย่างมาก มีการพัฒนาเครื่องยนต์ให้มีความเร็ว และพัฒนาโครงสร้างให้มีการควบคุมที่ง่ายขึ้น 

ด้วยความนิยมที่แพร่หลายขึ้นนี่เอง ในปี 1982 ได้เกิดองค์กรที่ชื่อ International Jet Sports Boating Association (IJSBA) โดยก่อตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมและจัดการแข่งขันเจ็ตสกีในระดับสากล

การแข่งขันระดับ World Champion Jet Ski เกิดขึ้นราวปี 1982 ก่อนจะมีรายการการแข่งขันอีกมากมาย หันมาทางแวดวงนักกีฬาไทย ที่ผ่านมา มีนักกีฬาเจ็ตสกีไทยเคยไปสร้างชื่อคว้ารางวัลมาเช่นกัน โดยเฉพาะศิลปิน-นักแสดงที่ผันตัวมาเล่นกีฬาชนิดนี้ เช่น เจตริน วรรธนะสิน, นาคร ศิลาชัย ต่างก็ทำผลานได้ดี 

รวมถึงนักกีฬารุ่นปัจจุบันอย่าง กษิดิศ ธีระประทีป แชมป์โลกรุ่น EXPERT Runabout 1100 Limited, นราธิป ทองอยู่ แชมป์โลก รุ่นเรือยืนอาชีพ ห้ามแต่งเครื่องยนต์, สุภทัต ฟูตระกูล แชมป์โลกรุ่นเรือนั่งอาชีพ 1,100 ซีซี โอเพ่น และแชมป์ประเทศไทย 4 สมัย

จาก “เรือแข่ง” สู่ “เรือช่วยผู้ประสบภัย”

นอกจากจะเป็นพาหะนะที่ขับเคลื่อนบนผิวน้ำได้ดีแล้ว คุณสมบัติที่ทำให้ “เจ็ตสกี” กลายเป็นที่นิยมก็คือ ความเร็ว เครื่องยนต์ของเจ็ตสกีในอดีตเริ่มต้นตั้งแต่ 700 ซีซี จนปัจจุบันที่นิยมใช้มี 2 ขนาดคือ เครื่องยนต์ 800 ซีซี และ 1,200 ซีซี มีเพิ่มเติมรุ่น 1,600 ซีซี แต่นิยมใช้ในการแข่งขันเป็นส่วนใหญ่ 

นอกจากนี้ เจ็ตสกียังมีน้ำหนักเบา เฉลี่ยน้ำหนักอยู่ที่ 200 – 400 กิโลกรัม ยาวไม่เกิน 4 เมตร กว้างไม่เกิน 1.5 เมตร ด้วยปัจจัยด้านโครงสร้างของเรือ จึงทำให้สามารถนำไปใช้งานในน้ำได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งคลอง แม่น้ำ หรือทะเล 

ด้วยเหตุที่มีขนาดอันเหมาะสม รวมทั้งมีความคล่องตัว จึงได้รับการนำมาใช้ลงพื้นที่ในเหตุการณ์น้ำท่วม เหตุการณ์ที่น่าจะเรียกว่าเป็นช่วงแรก ๆ ของการนำเจ็ตสกีเข้าช่วยเหลือประชาชนคือ เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 

เหล่าจิตอาสาใช้เจ็ตสกีลงพื้นที่น้ำท่วมที่กินพื้นที่หลายแห่งของประเทศ โดยนำผู้ประสบภัยออกจากครัวเรือน รวมทั้งนำข้าวของไปบริจาคแก่ผู้ที่ติดอยู่ในบ้าน 

ผ่านมากว่า 10 ปี ประเทศไทยยังเกิดอุทกภัยขึ้นอีกหลายต่อหลายครั้ง และ “เจ็ตสกี” ได้กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการให้ความช่วยเหลือ ดังเช่นล่าสุด เหตุการณ์น้ำป่าท่วม อ.แม่สาย จ.เชียงราย เหล่าบรรดากู้ภัยอาสา ต่างใช้เจ็ตสกีลงพื้นที่ จนกลายเป็นข่าวดัง เมื่ออดีตแชมป์โลกเจ็ตสกีอย่าง กษิดิศ ธีระประทีป หรือ แชมป์ จอมพลัง ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือคุณลุงเขียงหมู และชาวบ้านอีกมากมายให้พ้นจากอันตรายมาได้

ข้อดีของการใช้ “เจ็ตสกี” ช่วยเหตุอุทกภัย

  • มีกำลังเครื่องยนต์สูง
  • วิ่งได้ในระดับน้ำที่ตื้นตั้งแต่หัวเข่าจนไปถึงน้ำลึก
  • กำลังดีกว่าเรือยนต์ติดเครื่อง วิ่งฝ่าน้ำเชี่ยว น้ำหลาก น้ำพัดได้ดีกว่า
  • ขนาดไม่ใหญ่ เข้าพื้นที่เล็ก ๆ ได้สะดวก

มีข้อดี ก็ต้องมี “ข้อควรระวัง” ของเจ็ตสกี

  • เป็นเรือที่มีความเร็วสูง ต้องเรียนรู้วิธีขับขี่และการใช้เครื่องยนต์ที่ถูกต้อง
  • ต้องใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งที่ขับขี่
  • สุขภาพของผู้ขับขี่ต้องค่อนข้างแข็งแรง เพราะต้องใช้กำลังบังคับเรือค่อนข้างมาก
  • ลักษณะของเจ็ตสกีจะมีคลื่นค่อนข้างแรงในช่วงออกตัว กับตอนจอด ดังนั้น การขับขี่ในภาวะน้ำท่วมช่วยเหลือผู้ประสบภัย เมื่อต้องผ่านคน บ้าน หรือสิ่งของ ต้องเบาเครื่องยนต์ลง

เงื่อนไขสำคัญหากต้องขับขี่ “เจ็ตสกี”

ถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยในยามวิกฤต สำหรับ “เจ็ตสกี” แม้ที่ผ่านมาจะเคยเกิดกรณีดรามาในการขับขี่อยู่บ้าง แต่ถึงที่สุดแล้ว อุปกรณ์จะดีหรือมีประสิทธิภาพสูงสุด ขึ้นอยู่ที่ผู้ใช้งาน เลือกที่จะนำไปใช้ให้เกิด “คุณค่า” อย่างไรนั่นเอง 

ขอเป็นกำลังใจ และขอให้เหตุการณ์น้ำท่วมหนักในหลายจังหวัดประเทศไทย ผ่านพ้นวิกฤตไปให้โดยไวที่สุด

-ดูคลิป ช่วย "ลุงเต็นท์แดง" ได้แล้ว หลังติดน้ำท่วมกว่า 20 ชม.

 

แท็กที่เกี่ยวข้อง

เจ็ตสกีน้ำท่วมเชียงรายแชมป์ กษิดิศแชมป์โลกเจ็ตสกี
สันทัด โพธิสา
ผู้เขียน: สันทัด โพธิสา

เจ้าหน้าที่เนื้อหาออนไลน์อาวุโส Thai PBS สนใจความเคลื่อนไหวของสังคม ผู้คน และเทรนด์ใหม่ ๆ ที่น่าสนใจ และรวมถึงเป็นสมาชิกทาสแมวมายาวนาน

บทความ NOW แนะนำ

ข่าวล่าสุด