ในยุคสงครามเย็นซึ่งเป็นการแข่งขันกันด้านอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาและ สหภาพโซเวียตนั้น การสอดแนมซึ่งกันและกันของระหว่างสองขั้วอำนาจนี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกวันและทั้งสองฝ่ายต่างก็ทราบดีว่าฝ่ายตรงข้ามกำลังสอดแนมตนเองอยู่ จึงมีวิธีต่าง ๆ นานาในการป้องกันการสอดแนมหรือแม้แต่การหลอกให้ฝ่ายตรงข้ามได้ข้อสรุปที่ผิดไป (Counterintelligence)
หนึ่งในอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการสอดแนมของสหรัฐฯ คือการใช้เครื่องบินสอดแนมเพื่อถ่ายรูปทางอากาศของฝ่ายตรงข้ามเพื่อสอดแนมการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธ ซึ่งถือเป็นภัยอันตรายร้ายแรง หากมีการติดตั้งฐานยิงขีปนาวุธใกล้ตนเองเกิดขึ้น
เครื่องบิน Lockheed U-2 เป็นหนึ่งในเครื่องบินสอดแนมที่สำคัญที่สุดในด้านหน่วยข่าวกรองของสหรัฐฯ และยังมีการใช้มาจนถึงปัจจุบัน
การพัฒนาเครื่องบิน Lockheed U-2 เริ่มมาจากการที่หลังช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกาไม่มีความสามารถในการสอดแนมสหภาพโซเวียตในทางอากาศเลย เครื่องบินสอดแนมทั้งหมดที่สหรัฐฯ มีในตอนนั้นหากบินเข้าใกล้น่านฟ้าของสหภาพโซเวียต ก็จะถูกสหภาพโซเวียตส่งเครื่องบินรบขึ้นมาดักทันที นอกจากนี้ การบินเครื่องบินสอดแนมเหนือสหภาพโซเวียตนั้นเสี่ยงต่อการถูกยิงโดยขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานอีกด้วย
ในตอนนั้น สหภาพโซเวียตได้พัฒนาเทคโนโลยีเรดาร์ของตนให้สามารถตรวจจับเครื่องบินได้ที่ความสูงมากกว่า 65,000 ฟุต ดังนั้นเครื่องบินสอดแนมที่จะหลบหลีกการตรวจจับของสหภาพโซเวียตได้จะต้องบินได้สูงกว่านั้น จึงมีการเสนอเครื่องบินสอดแนมที่สามารถบินได้ที่ความสูง 70,000 ฟุต ซึ่งต่อมาถูกพัฒนามาเป็น Lockheed U-2
การออกแบบ พัฒนา และสร้าง U-2 นั้นเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานทางด้านวิศวกรรมที่ชาญฉลาดที่สุดในขณะนั้นเพื่อให้สามารถทำตามเป้าหมายเพดานบินสูงสุดที่ 70,000 ฟุตได้ ตัวเครื่องบิน U-2 ถูกออกแบบมาให้มีน้ำหนักเบาที่สุด มีนักบินเพียงคนเดียว มีล้อขนาดเล็ก และมีปีกที่ยาวเพื่อเพิ่มอัตราการสร้างแรงยกให้เทียบเท่ากับเครื่องร่อน ระบบบังคับเครื่องบินที่ถูกออกแบบมาสำหรับการบินสูงโดยเฉพาะ แต่นั่นก็หมายความว่าการบินต่ำจะทำได้ยากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ด้วยการออกแบบเช่นนี้ เครื่องบิน U-2 สามารถบินที่ความสูง 70,000 ฟุตได้ ภายใต้เงื่อนไขหลาย ๆ อย่างที่นักบินจะต้องเติมเต็ม เช่น การบินที่ความเร็วเกือบสูงสุดที่โครงสร้างเครื่องบินจะรับไหว โดยที่ความเร็วที่ปีกจะสูญเสียแรงยกนั้น ห่างจากความเร็วสูงสุดนี้เพียง 10 knots (19 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) เท่านั้น หมายความว่าหากนักบินไม่ระวังและสูญเสียความเร็วเพียงเล็กน้อย เครื่องบินอาจสูญเสียแรงยกได้ทันที
การลงจอดเครื่องบิน U-2 นั้นก็เรียกได้ว่ายากเป็นอย่างมาก เนื่องจาก แรงยกเมื่อเครื่องบินอยู่ใกล้พื้น หรือ Ground Effect มีอยู่สูงเครื่องบิน U-2 จะไม่มีทางแตะพื้นได้เลยเว้นแต่ปีกของเครื่องบินจะสูญเสียแรงยกโดยสมบูรณ์ (Stall)
นักบินเครื่องบิน U-2 จะต้องสวมใส่ชุดแรงดันคล้ายนักบินอวกาศและสูดออกซิเจนความเข้มข้น 100% เป็นเวลาอย่างน้อย 1 ชั่วโมงก่อนการขึ้นบิน เพื่อป้องกันอาการที่เกิดจากภาวะความกดอากาศต่ำ หรือ Decompression Sickness เนื่องจากภายในของเครื่องบิน U-2 นั้นมีการอัดแรงดันไว้ที่ระดับความสูง 28,000 ฟุตเท่านั้น
นักบิน U-2 มีสิทธิ์เลือกว่าจะนำ “ยาฆ่าตัวตาย” หรือโพแทสเซียมไซยาไนด์ไปกับตัวเองด้วยหรือไม่ เมื่อกลืนกินเข้าไปแล้วจะเสียชีวิตภายในเวลาไม่ถึงนาที สำหรับไว้ใช้ในกรณีที่นักบิน U-2 ถูกจับโดยฝั่งตรงข้าม
หนึ่งในผลงานของ U-2 คือการถ่ายรูปการติดตั้งขีปนาวุธระยะกลาง (MRBM) ของสหภาพโซเวียตในประเทศคิวบา ซึ่งในขณะนั้นเป็นพันธมิตรกับสหภาพโซเวียต ซึ่งนี่นำไปสู่วิกฤตการณ์ขีปนาวุธคิวบา (Cuban Missile Crisis) อันถือเป็นจุดที่ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศมหาอำนาจอยู่จุดสูงสุด และมีการข่มขู่การใช้งานอาวุธนิวเคลียร์ต่อกันและกัน
เรียบเรียงโดย โชติทิวัตถ์ จิตต์ประสงค์
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech