“โรคฝีดาษลิง” (Monkeypox : Mpox) ซึ่งกำลังระบาดในทวีปแอฟริกา ที่หลายคนอาจมองว่า “เป็นปัญหาของคนอื่น” เนื่องจากเกิดขึ้นในพื้นที่ห่างไกลประเทศตัวเอง รู้หรือไม่ว่าโรคนี้อาจกลายเป็นโรคระบาดภัยคุกคามระดับโลกที่ไม่คาดคิดก็เป็นได้หากไม่รีบหยุดยั้งก่อนลุกลามบานปลาย
“โรคฝีดาษลิง” (Mpox) จุดเริ่มต้น
“Mpox” หรือโรคฝีดาษลิง (โรคฝีดาษวานร) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ก่ออาการในคนคล้ายกับ “ไข้ทรพิษ” แต่มีความรุนแรงน้อยกว่า ถูกค้นพบครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1958 (พ.ศ. 2501) จากลิงที่ป่วย จึงถูกเรียกว่า “โรคฝีดาษลิง” และพบการติดเชื้อในคนเป็นครั้งแรกในปี 1970 (พ.ศ. 2513) ที่ประเทศคองโก โดยมักพบการติดเชื้อในประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก ทั้งนี้ “โรคฝีดาษลิง” สามารถพบได้ในสัตว์หลายชนิด โดยเฉพาะสัตว์ตระกูลลิงและสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย เป็นต้น ที่สำคัญโรคนี้สามารถติดต่อได้จากสัตว์สู่คน และติดต่อจากคนสู่คน โดยการสัมผัสสารคัดหลั่ง ผิวหนัง หรือ ละอองฝอยจากการหายใจ
จากนั้นหลายทศวรรษต่อมา โรคนี้ก็ยังคงอยู่แต่เป็นการติดเชื้อจำนวนไม่มากในพื้นที่ชนบทห่างไกลในแอฟริกาเขตร้อนเท่านั้น ไม่แพร่ไปยังทวีปอื่น ๆ จนเมื่อเกิดการระบาดของโรค “Mpox” ครั้งใหญ่หลายประเทศในปี 2022 ทำให้วงการวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต้องหันมาสนใจ “โรคฝีดาษลิง” นี้อีกครั้ง
ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศว่าการระบาดของ “Mpox” ในแอฟริกากลางเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่มีความน่ากังวลระดับนานาชาติ ถือเป็นระดับการเตือนภัยสูงสุดสำหรับเหตุการณ์ที่เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ “Mpox” จึงเป็นการเตือนครั้งใหญ่อีกครั้งว่า โรคติดเชื้อซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งในโลกไม่ควรถือเป็นปัญหาของคนอื่นหรือประเทศนั้น ๆ เนื่องจากโรคดังกล่าวอาจแพร่กระจายรวดเร็ว-เป็นวงกว้างอย่างกะทันหันได้
นอกจากนี้ ยังเป็นเน้นย้ำถึงความไม่เท่าเทียมกันในระดับโลก ในการจัดสรรทรัพยากรและการเข้าถึงวัคซีน รวมถึงการวินิจฉัยโรค และการรักษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีให้ในหลายประเทศซึ่งช่วยควบคุมการระบาดได้ แต่ยังคงขาดแคลนในแอฟริกาส่วนใหญ่
“Mpox” (โรคฝีดาษลิง) กับการระบาดครั้งใหญ่ปี 2022
ในปัจจุบันโรคนี้ได้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “Mpox” แต่ชื่อของไวรัสยังคงเดิมว่า “Monkeypox” (MPXV) ซึ่งมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับไวรัสไข้ทรพิษ
MPXV ถือเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คนซึ่งพบได้เฉพาะในบางส่วนของแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกโดยส่วนใหญ่ติดต่อได้จากการสัมผัสใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในป่า โดยเฉพาะการจับเนื้อสัตว์ป่า แต่ไม่มีการแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง โดยพบกรณีดังกล่าวเพียงบางครั้งเท่านั้นนอกพื้นที่ระบาด เนื่องจาก “ผู้เดินทาง” ที่ติดเชื้อหรือการนำเข้าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่ติดเชื้อมา
แต่สถานการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันในปี 2022 โดยการระบาดทั่วโลกครั้งใหญ่ที่พัฒนาอย่างรวดเร็วส่งผลให้มีผู้ป่วยยืนยันจากห้องปฏิบัติการมากกว่า 99,000 รายใน 116 ประเทศ ซึ่งในช่วงพีคในเดือนสิงหาคม 2022 มีรายงานผู้ป่วยแต่ละสัปดาห์มากกว่า 6,000 รายเลยทีเดียว
ซึ่งการระบาดครั้งนี้เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจมาก เนื่องจากส่วนใหญ่มีรายงานผู้ป่วยจากประเทศที่ไม่ได้เป็นโรคประจำถิ่น แต่ส่วนใหญ่เป็นชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายซึ่งติดเชื้อระหว่างมีเพศสัมพันธ์
แม้ว่ากรณีส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงมากนักและมีผู้เสียชีวิต 200 กว่าราย แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้การระบาดทั่วโลกเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2022
โชคดีที่จำนวนผู้ป่วยลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและการฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง โดยที่วัคซีนสมัยใหม่และยาต้านไวรัสที่มีฤทธิ์ต้าน Mpox มีจำหน่ายในหลายประเทศรายได้สูงซึ่งได้รับผลกระทบจากการระบาด
ทั้งนี้ การระบาดทั่วโลกในปี 2022 เกิดจาก MPXV กลุ่มที่ 2 ซึ่งเป็นโรคประจำถิ่นในแอฟริกาตะวันตก และไม่รุนแรงเท่า MPXV กลุ่มที่ 1 ซึ่งจนถึงขณะนี้พบเฉพาะในลุ่มน้ำคองโกเท่านั้น ทำให้ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขครั้งแรกของ Mpox ที่น่ากังวลระดับนานาชาติได้รับการประกาศสิ้นสุดลงในเดือนพฤษภาคม 2023 ก่อนที่การระบาดของเชื้อ Mpox จะกลับมาอีกครั้งและเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน
สาเหตุที่ “โรคฝีดาษลิง” (Mpox) เติบโตอย่างรวดเร็วในแอฟริกา
ทั้งนี้ ทวีปแอฟริกาได้ประสบกับการเพิ่มขึ้นของกรณี Mpox ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี 2023 สาเหตุเนื่องจากเป็นทวีปที่รวมพื้นที่ของโรค Mpox และโรคนี้ยังเป็นโรคประจำถิ่นมาเป็นเวลานาน ทำให้สถานการณ์ปัจจุบันแอฟริกามีความซับซ้อน ดังนี้
- กรณีที่เกิดจากรูปแบบโรคประจำถิ่นซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเคยเกิดขึ้นบ่อยครั้งในอดีต
- กรณีที่เกี่ยวข้องกับการระบาดทั่วโลกในปี 2022 เช่นในแอฟริกาใต้
- สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือจำนวนผู้ติดเชื้อ MPXV กลุ่ม Ib ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
“Mpox” (โรคฝีดาษลิง) สายพันธุ์ใหม่อันตรายกว่าเดิม
“ฝีดาษลิง” สายพันธุ์ MPXV ในกลุ่ม I ในปัจจุบัน มีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์ในกลุ่ม II ส่งผลให้มีอัตราการเสียชีวิตจากโรคที่สูงกว่า โดยการระบาดที่กำลังดำเนินอยู่นี้มีศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัด “South Kivu” ทางตะวันออกของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และมีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้คือ
- มีรูปแบบการระบาดวิทยาที่ชัดเจนโดยมีห่วงโซ่การแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง มักผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์
- ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้คือสายพันธุ์ Ib ที่เพิ่งได้รับการกำหนดขึ้นใหม่ ไวรัสนี้แสดงการกลายพันธุ์ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการแพร่ระบาดจากคนสู่คน ซึ่งคาดว่าเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายน 2023
- จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าผู้ป่วยต้องสงสัยหลายรายอาจไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อและไม่นับว่าได้รับการยืนยันแล้วก็ตาม เนื่องจากการทดสอบที่ใช้กันทั่วไปสามารถตรวจการติดเชื้อจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์นี้ได้
- ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบกับผู้ใหญ่
- อัตราการเสียชีวิตจากโรคนี้สูงขึ้นกว่าการระบาดทั่วโลกในปี 2022
การระบาดครั้งนี้ส่งผลให้เกิดกรณี Mpox ในประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศ รวมถึงบางประเทศ เช่น เคนยา ที่ไม่เคยมีประวัติพบ Mpox มาก่อนด้วย
การสยบ “Mpox” (โรคฝีดาษลิง) ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เนื่องจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาต่าง ๆ มากมาย ซึ่งรวมถึงภัยธรรมชาติ ความรุนแรง และโรคติดต่อ เช่น โรคหัด โรคอหิวาตกโรค และโรคโปลิโอ นอกจากนี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้เกิดการระบาดของโรคอีโบลาครั้งใหญ่อีกด้วย
“Mpox” (โรคฝีดาษลิง) และสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น
สำหรับแนวทางแก้ปัญหานี้ ได้มีผู้เชี่ยวชาญเสนอแนวทางซึ่งเผยแพร่ใน The Lancet Global Health ว่า สิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อควบคุมการระบาดครั้งนี้และป้องกันไม่ให้กลายเป็นโรคระบาด หรืออาจถึงขั้นเป็นโรคระบาดทั่วโลก คือการทำให้ “แอฟริกา” เข้าถึงการทดสอบการวินิจฉัย วัคซีน องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างเท่าเทียม ซึ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นทางการเมืองและการลงทุนทางการเงิน
นอกจากนี้ยังเสนอให้มีการจัดตั้ง “Mpox Research Consortium” (MpoxReC) สำหรับการดำเนินการวิจัยอย่างจริงจังเพื่อจัดการ “Mpox” ในฐานะปัญหาสาธารณสุขระดับประเทศ ป้องกันไม่ให้โรคนี้กลายเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพในระดับโลก
📌อ่าน : รายแรกปี 2024 ! ฟิลิปปินส์พบผู้ป่วยโรค “เอ็มพอกซ์”
📌อ่าน : เช็กอาการฝีดาษลิงสายพันธุ์ "Clade 1" ใครกลุ่มเสี่ยง
🎧 อัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลฯ ในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของไทยพีบีเอส ได้ที่ Thai PBS
แหล่งข้อมูลอ้างอิง : theconversation, The Lancet Global Health, โรงพยาบาลพระราม 9
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech