นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ประเทศสิงคโปร์ ได้พัฒนา RoboFabric วัสดุที่สามารถเปลี่ยนระหว่างความนุ่มและความแข็งได้ เลียนแบบเกล็ดป้องกันของอาร์มาดิลโล (Armadillos) และตัวนิ่ม หรือตัวลิ่ม (Pangolin)
วัสดุแข็งและวัสดุอ่อนต่างก็มีประโยชน์ทั้งคู่ ซึ่งมักจะเป็นคุณสมบัติของวัสดุต่างชนิดกัน แต่ RoboFabic กลับมีคุณสมบัติทั้งแข็งและอ่อนสลับกันไปมาได้ ด้วยการใช้กระเบื้องพอลิเมอร์ 3D ที่เชื่อมกันด้วยสายโลหะบาง ๆ เมื่อสายถูกดึงให้ตึง วัสดุจะกลายเป็นแข็ง และกลับมานุ่มอีกครั้งเมื่อสายถูกปล่อย
นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ออกแบบวัสดุนี้ขึ้น โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเกล็ดป้องกันของอาร์มาดิลโล และตัวนิ่ม หรือตัวลิ่ม ที่สร้างมาจากเคราติน ซึ่งวัสดุนี้ใช้กระเบื้องพอลิเมอร์เป็นวัสดุหลักแทน เทคโนโลยีนี้อาจนำใช้ในการทำเป็นเฝือกดามแขนที่ยังคงนิ่มในการใช้ประคองแขนที่ได้รับบาดเจ็บในช่วงแรก และปรับให้แข็งขึ้นเมื่ออยู่ในตำแหน่งที่ต้องการ เมื่อต้องการถอดเฝือกออกก็สามารถเลื่อนออกได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือในการตัดเฝือกออกเหมือนเฝือกปูนปลาสเตอร์
เนื้อผ้าคุณสมบัติพิเศษนี้ เมื่อดึงสายไฟให้ตึงกระเบื้องพอลิเมอร์จะถูกดึงเข้าหากันทำให้เนื้อผ้าแข็งแรงขึ้นกว่า 350 เท่าในทันที ซึ่งนอกจากการทำเป็นเฝือกแล้วนั้นยังสามารถใช้เป็นอุปกรณ์พยุงข้อต่อที่ช่วยให้ผู้สวมใส่สามารถยกของหรือทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ต้องออกแรงน้อยลงได้ และสามารถปล่อยสายออกเพื่อให้ผ้าอ่อนตัวลงเพื่อการเคลื่อนไหวอย่างอิสระ
นักวิทยาศาสตร์สามารถสร้างเครื่องพยุงที่พอดีกับร่างกายมนุษย์ได้โดยใช้การสแกน 3 มิติของแขนและขาของอาสาสมัคร และพิมพ์แผ่นกระเบื้องตามที่ต้องการจำนวนหลายสิบแผ่นได้ในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง แต่การร้อยลวดผ่านแผ่นกระเบื้องด้วยมือต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวอาจสามารถดำเนินการอัตโนมัติได้เมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพิ่มเติม
ที่มาข้อมูล: newatlas, ntu
ที่มาภาพ: ntu
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech